เดี๋ยวรักเดี๋ยวชังในสัมพันธภาพระหว่าง 'รัสเซีย' และ 'จีน'

AFP

ในช่วงสงครามเย็น ทั้งสองประเทศเคยยืนหยัดต่อสู้ที่เส้นพรมแดนเดียวกัน ก่อนจะหมางเมินกัน จนมาถึงตอนนี้รัสเซียและจีนได้กลายเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการเมืองโลกไปแล้ว แม้จะเป็นเรื่องไม่ถูกตาต้องใจชาติตะวันตกก็ตาม เรามาย้อนดูอดีตความสัมพันธ์ที่ทั้งหวานและขมของทั้งสองประเทศนี้กัน

1950 : เปิดฉากสัมพันธไมตรี

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จีนและสหภาพโซเวียตลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและพันธมิตรร่วมกันในปี 1950 ในช่วงสงครามเกาหลีระหว่างปี 1950-1953 กองกำลังของจีนร่วมรบเคียงข้างฝ่ายเหนือที่โซเวียตหนุนหลัง เพื่อต่อสู้กับฝ่ายใต้ที่สหรัฐฯ หนุนหลัง

1956 : ความไม่ลงรอยกัน

ภายหลังการเสียชีวิตของโจเฟซ สตาลิน-ผู้นำโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ-ผู้สืบทอดตำแหน่งไม่ได้เดินตามรอยผู้นำคนเก่า จึงนำมาซึ่งความไม่ลงรอยกันระหว่างสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐจีน ภายใต้การปกครองของ เหมาเจ๋อตุง ความแตกแยกทางอุดมการณ์และยุทธศาสตร์เริ่มส่อความรุนแรงขึ้นในเดือนเมษายน 1960 เมื่อครุสชอฟถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ระดับทวิภาคี หลังจากเหตุการณ์ที่ชายแดนและวิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบา พรรคคอมมิวนิสต์ (KP) ของทั้งสองประเทศก็ยุติการติดต่อทั้งหมดในปี 1963

1969 : ความขัดแย้งที่พรมแดน

ในเดือนพฤศจิกายนปี 1965 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มรณรงค์ภายในขบวนการคอมมิวนิสต์สากลเพื่อต่อต้าน “ลัทธิใหม่” ของครุสชอฟ ในปี 1969 ข้อพิพาทเกี่ยวกับพรมแดนจีน-รัสเซียตะวันออกตามแนวแม่น้ำอามูร์เริ่มลุกลามบานปลายไปสู่การปะทะด้วยอาวุธที่คร่าชีวิตทั้งสองฝ่ายไปหลายร้อยคน ปี 1979 รัฐบาลปักกิ่งประกาศยกเลิกสัญญามิตรภาพ หลังจากการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต การเจรจาเพื่อปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติถูกระงับไปในปี 1980

1989 : ลมรักหวน

หลังจากไม่ลงรอยกันมานาน 30 ปี การประชุมสุดยอดระหว่างประมุขแห่งรัฐในกรุงปักกิ่งเดือนพฤษภาคม 1989 เติ้งเสี่ยวผิง และมิคาอิล กอร์บาชอฟได้ผนึกความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่ระดับปกติอีกครั้ง ทั้งสองประเทศให้คำมั่นในปี 1992 ว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางการเมือง-การทหารที่มุ่งร้ายหรือต่อต้านอีกฝ่าย ในเดือนกันยายน 1994 ทั้งสองประเทศยุติการเผชิญหน้าทางนิวเคลียร์และตกลงที่จะถอนขีปนาวุธ

1996 : พันธมิตรร่วมต้านสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดี เจียงเจ๋อหมิน ของจีน และประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ของรัสเซีย ร่วมข้อตกลงเรื่อง “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สำหรับศตวรรษที่ 21” เพื่อต่อต้านการครอบงำระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

2001 : สนธิสัญญามิตรภาพครั้งใหม่

ปี 2001 หลังจากผ่านพ้นไป 5 ทศวรรษ ทั้งสองประเทศได้ตกลงทำสนธิสัญญามิตรภาพอีกครั้ง โดยมีประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และเจียงเจ๋อหมิน ประมุขแห่งรัฐและพรรคของจีน ร่วมลงนามและสวมกอดกันอย่างอบอุ่น ปี 2005 มีการตกลงระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับพรมแดนด้านตะวันออกของรัสเซีย สีจิ้นผิง-ประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน เดินทางไปเยือนต่างประเทศครั้งแรกที่กรุงมอสโกในปี 2013 พร้อมปิดดีลข้อตกลงเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซประมาณ 30 ฉบับ

2011 : เคียงคู่ยืนหยัดเพื่อซีเรีย

หลังจากสงครามกลางเมืองในซีเรียเริ่มขึ้นในปี 2011 รัสเซียและจีนได้ขัดขวางร่างมติหลายฉบับในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ประณาม บาสชาร์ อัล-อัสซาด-ผู้นำซีเรีย และเมื่อรัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียในดินแดนของยูเครนในปี 2014 จีนประกาศตัวเป็นกลาง

2014 : ความร่วมมือในภาคพลังงาน

ผ่านการเจรจากันมานาน 10 ปี ในที่สุดจีนและรัสเซียได้ลงนามในข้อตกลงการจัดหาก๊าซมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 30 ปี มีการร่วมลงทุนสร้างท่อส่งก๊าซจากไซบีเรียตะวันออกไปยังจีนซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2019

2022 : สงครามในยูเครน

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ผู้นำรัสเซียและจีนยืนยันอีกครั้งถึง “มิตรภาพอันไร้พรมแดน” ไม่กี่วันถัดจากนั้นรัสเซียก็เคลื่อนกองกำลังเข้ายูเครน การโจมตีของรัสเซียไม่ได้ถูกประณามหรือให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยจากรัฐบาลปักกิ่ง แต่ผู้นำจีนกำลังผลักดันให้มีการเจรจาหาทางออก ในเดือนกันยายน 2022 เพื่อนบ้านทั้งสองประกาศว่าต้องการขยายความสัมพันธ์ ล่าสุดจึงมีภาพของสีจิ้นผิงเดินทางไปพบวลาดิมีร์ ปูตินที่กรุงมอสโกปรากฏออกมา.

AFP

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง