'เนินพระวิหาร' ศูนย์รวมของความศรัทธาและความขัดแย้งระหว่างสองศาสนา

AFP

เนินพระวิหาร (Temple Mount) ในเยรูซาเล็มมีความสำคัญอย่างลึกซึ้งสำหรับสองศาสนาของโลก การจลาจลครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า คงไม่มีที่ไหนในโลกที่ความศรัทธาและความรุนแรงจะอยู่ใกล้ชิดกันขนาดนี้

เนินพระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับชาวยิวและชาวมุสลิม ขณะเดียวกันก็เป็นชนวนเหตุความรุนแรงระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อเร็วๆ นี้ตำรวจอิสราเอลได้บุกเข้าไปในมัสยิดอัล-อักซอ เพื่อจับกุม “ผู้ก่อกวน” ชาวปาเลสไตน์ ที่มักปาประทัดและก้อนหินออกจากที่นั่นหลังเสร็จจากละหมาด ในวันต่อมาชาวปาเลสไตน์และเจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกันอีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วในช่วงเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม และวันหยุดเทศกาลปัสกาของชาวยิว

กว่า 2,000 ปีที่แล้ว เนินเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเก่าเยรูซาเล็มน่าจะเป็นที่ตั้งวิหารหลังแรกของกษัตริย์โซโลมอน และวิหารแห่งที่สองซึ่งขยายออกไปนั้นปรากฏขึ้นในช่วงการปกครองของพระเจ้าเฮโรดมหาราช มัสยิดอัล-อักซอและโดมศิลาของอิสลามตั้งตระหง่านอยู่บนที่ราบสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นเวลากว่า 1,300 ปี กล่าวกันว่าเป็นสถานที่จุติของศาสดาโมฮัมเหม็ด ชาวมุสลิมนับถือสถานที่นี้ในฐานะ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันสูงส่ง” เป็นอันดับสาม รองจากเมกกะซึ่งมีกะอ์บะห์ (ลูกบาศก์ ตั้งอยู่ในใจกลางมัสยิดฮะรอม) และเมดินาที่มีหลุมฝังศพของผู้เผยพระวจนะ

แม้หลังจากการยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออกโดยกองทัพอิสราเอลในปี 1967 ที่ราบสูงขนาด 14 เฮกตาร์ก็ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของจอร์แดน และสนธิสัญญาสันติภาพรระหว่างอิสราเอลและจอร์แดนในปี 1994 ก็ได้ยืนยันบทบาทพิเศษของราชวงศ์จอร์แดนในฐานะผู้พิทักษ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมในเยรูซาเล็ม

ศาสนายูดายเองก็นับถือเนินพระวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การเชื่อมต่อโดยตรงกับพระเจ้าเกิดขึ้นเมื่อวิหารที่สองซึ่งถูกทำลายโดยผู้ยึดครองของโรมันในปี ค.ศ.70 โดยมีกำแพงร่ำไห้ทางฝั่งตะวันตกของเนินสูงปัจจุบันทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสักการะสำหรับชาวยิวจากทั่วทุกมุมโลก ทางเข้าเนินพระวิหารถูกควบคุมโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิสราเอล แต่ชาวมุสลิมจะได้รับอนุญาตให้ผ่านได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการยั่วยุ ชาวยิวและผู้มาเยือนที่ไม่ใช่มุสลิมได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชม แต่ห้ามมีการสวดมนต์ที่นั่น นี่เป็นคำสั่งจากตำรวจอิสราเอลที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่

ในอดีตชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลเคยปะทะกันอย่างรุนแรงบนเนินพระวิหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งชาวมุสลิมถือศีลอด และมีคนนับหมื่นพากันไปเยี่ยมชมมัสยิดอัล-อักซอ เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2000 สะท้อนให้เห็นชัดเจน เมื่ออาเรียล ชารอน-ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคอนุรักษ์นิยม ‘ลิคุด’ ไปเยือนเนินพระวิหาร ชาวปาเลสไตน์มองว่าเป็นการยั่วยุ ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวปาเลสไตน์และตำรวจอิสราเอลในวันต่อมา มีการยิงและสังหารผู้ชุมนุมหลายคน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘อินติฟาดา’ (การลุกขึ้นต่อต้าน) รอบที่สอง

เดือนพฤษภาคม 2021 เกิดการปะทะกันอีกครั้งบนเนินพระวิหาร และบริเวณรอบมัสยิดอัล-อักซอ ซึ่งก็อยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนอีกเหมือนกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาส อิสลามหัวรุนแรงในฉนวนกาซา กับกองทัพอิสราเอล กว่าจะบรรลุข้อตกลงพักรบ-โดยมีอียิปต์เป็นตัวกลางเจรจา ปรากฏมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลไป 260 คน ส่วนฝ่ายอิสราเอลถูกโจมตีด้วยจรวดของกลุ่มฮามาสเสียชีวิตไป 13 คน

เดือนเมษายนปีที่แล้ว มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคนจากการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวปาเลสไตน์และกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอลบนเนินและบริเวณรอบพระวิหาร ต้นปีที่ผ่านมา อิตามาร์ เบน กวีร์-รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงของอิสราเอล ซึ่งเป็นฝ่ายขวาหัวรุนแรง ได้ไปเยือนเนินพระวิหาร ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงครั้งใหม่

เหตุการณ์ที่มัสยิดอัล-อักซอครั้งล่าสุดก็เช่นกัน สร้างความกังวลให้กับนานาชาติว่าอาจจะเพิ่มความขัดแย้งครั้งใหม่ขึ้นในตะวันออกกลาง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิสราเอลสีรุ้ง : ความภาคภูมิใจและความเท่าเทียมของทุกเพศ

ผู้คนหลายพันคนแห่ธงสีรุ้งไปตามถนนในกรุงเยรูซาเล็มและเมืองเทลอาวีฟ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในเดือน Pride Month หรือ เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ (แอลจีบีทีคิวพลัส) โดยมีการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่นเป็นฉากหลัง