เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแด่ 'อังเกลา แมร์เคล'

AFP

วันจันทร์นี้ อังเกลา แมร์เคล-อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี จะเข้าร่วมพิธีรับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีชั้นสูงสุด ท่ามกลางเสียงชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์

ไม่ใช่ทุกวันที่ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐจะมอบเหรียญตราซึ่งมีเครื่องหมายอินทรีกลางจุดตัดของกางเขนให้กับใคร เหรียญชั้นสูงสุดเคยมอบให้กับ คอนราด อาเดเนาแอร์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 1954, เฮลมูท โคห์ล เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1998 และวันที่ 17 เมษายน 2023 นี้ถึงคิวของอังเกลา แมร์เคล หลังจากปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีให้กับชาติเยอรมนีมานาน 16 ปี โดยจะได้รับมอบจากประธานาธิบดีฟรังค์-วอลเตอร์ ชไตน์ไมแอร์ นับเป็นผู้หญิงและชาวเยอรมนีตะวันออกคนแรกที่ได้รับเกียรติสูงสุดนี้

แต่ท่ามกลางความยินดีปรีดาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม นักวิจารณ์ฝ่ายเห็นต่างมองว่าแมร์เคลล้มเหลวในหน้าที่หลายเรื่อง ไม่ว่าวิกฤตผู้ลี้ภัย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือการผนวกคาบสมุทรไครเมียของรัสเซีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย หลายคนมองว่าเป็นนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหพันธ์สาธารณรัฐ

มันเป็นเรื่องถูกต้องที่มีการเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย หลังจากการผนวกไครเมีย ภายใต้กรอบข้อตกลงมินสค์ แต่ “ความผิดพลาดแท้จริงอยู่ที่การไว้วางใจปูตินสืบต่อ แม้ว่าสัญญาณภายนอกทั้งหมดบ่งชี้ว่าไม่ควรทำเช่นนั้นอีกแล้ว” นักวิจารณ์การเมืองให้ความเห็น

นอกจากนั้นยังมีเรื่องนโยบายพลังงานของแมร์เคล รวมถึงการเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างเร่งรีบก็ผิดพลาดเช่นกัน และนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ประโยคซึ่งเป็นที่จดจำได้ของเธอว่า “เราทำได้” นั้นได้นำไปสู่ความวุ่นวายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองของเยอรมนี บรรดานักวิจารณ์คิดว่าการมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดให้แก่อังเกลา แมร์เคลหลังจากพ้นตำแหน่งไปเพียงปีครึ่งนั้นเป็นเรื่องผิดพลาด

ทว่า อาร์มิน ลาเชต-อดีตประธานพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี (CDU) กลับมีความเห็นว่าแมร์เคลสมควรได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศนี้ จากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานถึง 16 ปี ท่ามกลางพรรคร่วมรัฐบาลที่แตกต่างทางความคิด และวิกฤตต่างๆ ของโลก อีกทั้งเธอยังเป็นแกนสำคัญในการยึดโยงประเทศและยุโรปไว้ด้วยกัน และดำเนินนโยบายของเธออย่างมีหลักการเสมอมา

ส่วนนโยบายต่างประเทศกับรัสเซียนั้น หลังจากการผนวกไครเมียแล้ว แมร์เคลพยายามที่จะลดระดับความขัดแย้งมาโดยตลอด อาร์มิน ลาเชตกล่าวว่า การเจรจาดีกว่าการทำสงครามเสมอ และข้อเท็จจริงที่ว่าปูตินใช้นโยบายในทางที่ผิดนั้น มันไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2014-2020 สนธิสัญญามินสค์ป้องกันไม่ให้สงครามปะทุขึ้น แต่เยอรมนีจะทำอะไรได้ ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศตะวันตกทั้งหมดก็ต้องตอบโต้ในปี 2014 ด้วยการคว่ำบาตรปูติน แต่ในเวลานั้นไม่มีใครเรียกร้องให้ทำ แม้กระทั่งยูเครนเอง

งานพิธีมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ อังเกลา แมร์เคลได้รับอนุญาตให้เชิญอาคันตุกะส่วนตัวของเธอจำนวน 20 คนเข้าร่วมรับประทานอาหารมื้อค่ำ ในจำนวนนั้นมีคนดังอย่าง เยือร์เกน คลินสมันน์-อดีตนักฟุตบอลทีมชาติ, อูลริช มัตเทส-นักแสดง, อดีตเพื่อนร่วมงานคนสนิท รวมถึงเพื่อนนักการเมือง และโอลาฟ ชอลซ์-นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ด้วย.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้บริหาร'เลสเตอร์' รับพระราชทานเครื่องราชฯ แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ชั้น OBE

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ชั้น OBE จากพระราชินีอังกฤษเนื่องในวันพระราชสมภพในปี 2022

โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ จำนวน 236,955 ราย

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยชั้นต่ำกว่าสายสะพายประจําปี ๒๕๖๔

เยอรมนีอำลา 'แมร์เคิล' เลือก 'ชอลซ์' นายกฯคนใหม่

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 16 ปี อำลาเก้าอี้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันพุธ โดยส่งไม้ต่อให้โอลาฟ ชอลซ์ ที่ได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากในสภาวันเดียวกัน

เอสพีดีคว้าชัยเลือกตั้งเยอรมนี ไล่พรรคแมร์เคิลเป็นฝ่ายค้าน

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีดี) ชนะอย่างฉิวเฉียด "โอลาฟ ชอลซ์" ชี้พรรคอนุรักษนิยมของนายกฯ อังเกลา แมร์เคิล สมควรเป็นฝ่ายค้านหลังพ่ายแพ้