ทวิตเตอร์ได้ซีอีโอคนใหม่ หญิงแกร่งจากวงการโฆษณา

อีลอน มัสก์ได้เลือกผู้บริหารระดับสูงด้านโฆษณาอย่างลินดา ยัคคาริโน ให้มากุมบังเหียนทวิตเตอร์แทนตัวเขา เพื่อพลิกฟื้นผลประกอบการของแพลตฟอร์มที่ประสบปัญหาตั้งแต่ซีอีโอเทสลาเทคโอเวอร์มาเมื่อปีที่แล้ว

อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ (ซ้าย) แต่งตั้งให้ลินดา ยัคคาริโน (ขวา) เป็นซีอีโอคนใหม่ของแพลตฟอร์มนกสีฟ้า (Photo by Angela Weiss and D Dipasupil / various sources / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ ได้เปิดตัวซีอีโอคนใหม่ของแพลตฟอร์มนกสีฟ้า โดยได้ผู้บริหารโฆษณาคนเก่งจากเอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล (NBCUniversal) คือลินดา ยัคคาริโน มากุมบังเหียนธุรกิจออนไลน์ที่กำลังประสบปัญหาด้านผลประกอบการและภาระหนี้มหาศาล

ปัจจุบันทวิตเตอร์กำลังดิ้นรนอย่างหนัก หลังประสบแต่ความวุ่นวายนับตั้งแต่อีลอน มัสก์ซื้อธุรกิจมาบริหารเอง เขาสั่งปลดพนักงานออกไปหลายพันคน, ใช้นโยบายเก็บเงินค่าบริการ, สั่งแบนบัญชีใช้งานผู้เห็นต่าง รวมถึงการสูญเสียรายได้จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกหดตัวซึ่งส่งผลให้ผู้ซื้อโฆษณาขาดความเชื่อมั่นและยกเลิกการทำธุรกิจด้วย

ซีอีโอคนใหม่จะเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการในทันที และต้องเผชิญกับการต่อสู้ที่ยากเย็นแสนเข็ญในการพยายามจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อโฆษณา ท่ามกลางความหวาดกลัวแนวคิดของมัสก์ที่พร้อมต้อนรับนักทฤษฎีสมคบคิดและผู้สร้างเนื้อหาขวาจัดให้กลับมาที่แพลตฟอร์มดังเดิม

ลินดา ยัคคาริโน ลาออกจากบริษัทที่เป็นเจ้าของเอ็นบีซี (NBC), ยูนิเวอร์แซล (Universal) และเทเลมุนโด (Telemundo) ซึ่งเธอทำงานมานานกว่า 12 ปี ก่อนจะได้รับโอกาสสัมภาษณ์มัสก์ในการประชุมด้านมาร์เก็ตติ้งในไมอามี และนำมาซึ่งตำแหน่งผู้บริหารคนใหม่ในที่สุด

ถึงแม้จะก้าวลงจากตำแหน่งบริหาร แต่อีลอน มัสก์จะยังคงมีบทบาทด้านการออกแบบและเทคโนโลยีของทวิตเตอร์ โดยซีโอคนใหม่จะดูแลการดำเนินงานทางธุรกิจ ขณะที่ตัวเขาจะดูแลงานออกแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยตั้งเป้าให้ทวิตเตอร์แปลงตัวเองเป็น 'แอพสำหรับทุกสรรพสิ่ง' ที่จะมีชื่อเรียกว่าเอ็กซ์ (X)

มัสก์มีความหลังกับอักษรเอ็กซ์ มาตั้งแต่ปี 2542 เมื่อเขาร่วมพัฒนาเอ็กซ์ดอทคอม (X.com) ซึ่งเป็นธนาคารออนไลน์ที่ซื้อมาและต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเพย์พาล (PayPal) ในปัจจุบัน

มัสก์ต้องการปรับปลี่ยนทวิตเตอร์ให้เป็น 'แอพสำหรับทุกสรรพสิ่ง' ในรูปแบบธุรกิจเดียวกันกับวีแชท (WeChat) ของจีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คล้ายกับทวิตเตอร์ แต่มีบริการรับส่งข้อความและชำระเงินผ่านมือถือด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมปีที่แล้ว มัสก์ควักเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อกิจการของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เขาชื่นชอบ และดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์กรในแบบฉบับของตัวเอง จนเกิดปัญหาและความวุ่นวายทั้งต่อตัวพนักงาน, ผลิตภัณฑ์, รายได้ และผู้ใช้บริการ มีการเลิกจ้างจำนวนมาก, การกลับมาของบัญชีที่ถูกแบนหลายพันบัญชี และผู้ลงโฆษณารายใหญ่ที่ถอนตัวไป อีกทั้งความโกลาหลดังกล่าวยังสร้างผลกระทบด้านลบไปยังกิจการอื่นๆของเขาด้วย โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ได้เคยเกริ่นไว้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารทวิตเตอร์ และจะจำกัดหน้าที่ของตัวเองไว้ที่การบริหารงานวิศวกรรมซอฟต์แวร์และเซิร์ฟเวอร์เพียงเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ปลื้มหารือ 'อีลอน มัสก์' ชวน 'Tesla' ลงทุนในไทย

นายกฯ หารือ 'อีลอน มัสก์' ผู้บริหารบริษัท Tesla ผ่านระบบการประชุมทางไกล ไทยพร้อมร่วมมือพัฒนาความร่วมมือ เชื่อมั่นเพิ่มโอกาสการลงทุนในไทย

'บอสชาตรี' อาสาจัดไฟต์พิเศษ 'มาร์ก' ปะทะ 'อีลอน' ในมวยวัน

“ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ผู้ก่อตั้ง ประธาน และซีอีโอ วัน แชมเปียนชิพ (ONE) อาสาจัดไฟต์พิเศษให้กับสองผู้บริหารระดับโลก “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” และ “อีลอน มัสก์” หลังจากที่ทั้งคู่โต้ตอบกันสนั่นโซเชียลถึงการประลองฝีมือการต่อสู้กันในสังเวียนกรง

'มาร์ก' นัดวันชก 'อีลอน' แต่คู่กรณีเงียบกริบ มวยคู่ประวัติศาสตร์หยุดโลก

ศึกมวยกรงที่คนทั่วทั้งโลกจับตามอง และให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในการดวลกันระหว่างสองเจ้าพ่อยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี อย่าง อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ กับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก ที่สาดคารมตอบโต้กันไปมาไม่หยุดหย่อน