'นิวแคลิโดเนีย' ลงมติรอบสาม ไม่แยกเอกราชจากฝรั่งเศส

นิวแคลิโดเนีย ดินแดนของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก ลงประชามติเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันอาทิตย์ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ไม่เห็นด้วยกับการแยกเอกราชจากฝรั่งเศส แต่ฝ่ายหนุนเอกราชบอยคอต ขู่ฟ้องยูเอ็นขอให้ยกเลิก

แฟ้มภาพ ธงชาตินิวแคลิโดเนีย (Getty Images)

รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า การลงประชามติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2564 มีผู้มีสิทธิลงคะแนนประมาณ 185,000 คน โดยผลการลงคะแนนที่เสร็จสิ้นแล้วปรากฏว่า 96.49% ลงมติ "ไม่เห็นด้วย" กับการแยกเอกราช มีเพียง 3.51% เห็นด้วย โดยมีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนแค่ 43.90%

การลงประชามติเกี่ยวกับการแยกเอกราชจากฝรั่งเศสของดินแดนไกลโพ้นแห่งนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้ายแล้ว โดยเป็นไปตามข้อตกลงปี 2531 ที่จัดทำขึ้นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในนิวแคลิโดเนีย ซึ่งเคยเกิดความรุนแรงระหว่างชนพื้นเมืองชาวคานัคที่สนับสนุนการแยกเอกราช กับชาวฝรั่งเศสผิวขาวที่ค้านการแยกเอกราช ผลประชามติที่ออกมาเพิ่มความหวั่นเกรงว่าอาจเกิดความไม่สงบขึ้นอีก รวมถึงความชอบธรรมของกระบวนการนี้

นิวแคลิโดเนียเคยลงประชามติปฏิเสธการแยกเอกราชจากฝรั่งเศสมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ คือเมื่อปี 2561 และ 2563 ครั้งก่อนประชากรที่นี่ถูกตั้งคำถามว่า "คุณต้องการให้นิวแคลิโดเนียได้มีอำนาจอธิปไตยเต็มที่และเป็นเอกราชหรือไม่"

ฝ่ายรณรงค์แยกเอกราชคว่ำบาตรการลงประชามติครั้งนี้ โดยกล่าวว่าพวกเขาต้องการให้เลื่อนออกไปเป็นเดือนกันยายน เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในดินแดนนี้ทำให้ "การรณรงค์อย่างยุติธรรม" เป็นไปไม่ได้ พวกเขาขู่ด้วยว่าจะไม่ยอมรับผลการลงคะแนนในครั้งนี้ และจะยื่นร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติให้ยกเลิก

ด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวผ่านวิดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้า ว่าคืนนี้ฝรั่งเศสงดงามมากขึ้น เพราะนิวแคลิโดเนียตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสต่อไป แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงการคว่ำบาตรการลงมติ

หมู่เกาะแปซิฟิกที่อยู่ห่างจากออสเตรเลียทางทิศตะวันออก 2,000 กม.แห่งนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อฝรั่งเศส และเป็นส่วนหนึ่งของการชิงอิทธิพลในแปซิฟิกระหว่างชาติตะวันตกกับจีน

ผู้เชี่ยวชาญสงสัยกันว่า หากดินแดนที่รุ่มรวยแร่โลหะนิกเกิลแห่งนี้เป็นเอกราช ก็จะยิ่งขยับไปใกล้ชิดกับจีน ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นและมีอิทธิพลทางการเมืองกับหมู่เกาะอื่นๆ ในแปซิฟิก

บาสเตียน แวนเดนดิค นักวิเคราะห์ด้านวิเทศสัมพันธ์ชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า หากฝรั่งเศสสูญเสียดินแดนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะพร้อมให้จีนเข้ามาสถาปนาตนเองอย่างถาวรในนิวแคลิโดเนีย ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ทั้งฟิจิ, วานูอาตู, หมู่เกาะโซโลมอน และปาปัวนิวกินี ล้วนเป็น "บริวารของจีน" แล้ว ทั้งหมดที่จีนต้องการในตอนนี้เพื่อเติมสร้อยไข่มุกที่หน้าประตูบ้านของออสเตรเลียให้สมบูรณ์ ก็คือนิวแคลิโดเนีย.

(Getty Images)

เพิ่มเพื่อน