ผบ.ทอ.อาเซียนหลายรายบอยคอตการประชุมที่เมียนมา

ผู้บัญชาการกองทัพอากาศจากหลายประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในเมียนมาสัปดาห์นี้ เป็นการประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารตามมติของสมาคมประชาชาติอาเซียน

ตุน อ่อง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเมียนมา (ที่ 3 จากขวา) ถ่ายภาพร่วมกับผู้บัญชาการกองทัพอากาศจากชาติอาเซียน ในการประชุมผู้นำกองทัพอากาศประจำปีครั้งที่ 20 ณ กรุงเนปยีดอ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 13 กันยายน (Photo by Handout / MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566 กล่าวว่า เมียนมาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียนในปีนี้ ซึ่งจะดำเนินไปจนถึงวันศุกร์

ปกติการประชุมประจำปีฯเป็นการรวมตัวของผู้นำกองทัพอากาศจากสมาชิกประชาคมอาเซียน 10 ประเทศเพื่อหารือเรื่องความร่วมมือด้านกลาโหม, การป้องกันเหตุและการรับมือกับกลุ่มหัวรุนแรง รวมไปถึงการบรรเทาภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการกองทัพอากาศของอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ไม่ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม มีเพียงผู้บัญชาการกองทัพอากาศจากบรูไน, กัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนามเท่านั้น ที่เดินทางมายังกรุงเนปยีดอ ตามการระบุของทีมข้อมูลของรัฐบาลทหารเมียนมา

การบอยคอตดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวหารัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเพิกเฉยต่อแผนสันติภาพที่ตกลงร่วมกันในสมาคม เพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดจากการรัฐประหาร และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารหยุดใช้ความรุนแรงในการปราบปรามพลเรือนที่เห็นต่าง

ทั้งนี้ เมียนมายังคงเป็นสมาชิกของอาเซียน แต่รัฐบาลทหารถูกกีดกันออกจากการประชุมระดับสูงนับตั้งแต่ทำรัฐประหารรัฐบาลของพลเรือน

ตุน อ่อง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเมียนมา ซึ่งได้รับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และอังกฤษ ได้เข้าพบกับตัวแทนร่วมประชุมจากแต่ละประเทศที่มาเยือน และหารือเกี่ยวกับ "ประเด็นความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศอาเซียน" ตามรายงานของทีมข้อมูลฯ

ขณะที่ผู้บัญชาการกองทัพอากาศฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ได้ส่งข้อความวิดีโอมาเพื่อร่วมหารือในประเด็นเกี่ยวกับ "ความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" เพียงเท่านั้น

จนถึงขณะนี้ สมาคมอาเซียนยังไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้วิกฤตความรุนแรงนองเลือดในเมียนมาด้วยวิธีทางการทูต อีกทั้งความคิดเห็นและการเลือกวิธีปฏิบัติต่อวิกฤตดังกล่าวของแต่ละประเทศสมาชิกยังก่อให้เกิดการแบ่งแยกในสมาคมไปอีก

ความรุนแรงในเมียนมาจนถึงปัจจุบันทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 1.5 ล้านคน ตามการระบุขององค์การสหประชาชาติ.

เพิ่มเพื่อน