กองทัพโจมตีค่ายผู้พลัดถิ่นในเมียนมา เสียชีวิต 29 ราย

มีผู้เสียชีวิต 29 รายและบาดเจ็บหลายสิบคนในการโจมตีทางทหารในค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นทางตอนเหนือของเมียนมา

ผู้ประท้วงถือป้ายสนับสนุนกองทัพกะฉิ่นอิสระ (เคไอเอ) และองค์กรอิสระกะฉิ่น (เคไอโอ) ในระหว่างการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารในเมืองผากัน รัฐกะฉิ่น ประเทศเมียนมา (Photo by Handout / KACHINWAVES / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 กล่าวว่า เกิดเหตุโจมตีในค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นทางตอนเหนือของเมียนมา มีผู้เสียชีวิต 29 รายและบาดเจ็บหลายสิบคน ตามรายงานของกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่ดังกล่าว

รัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาถูกกล่าวหาว่ากระทำการนองเลือดโจมตีเป้าหมายพลเรือนหลายครั้ง ในขณะที่กองทัพพยายามดิ้นรนปราบปรามการต่อต้านรัฐประหารตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การโจมตีครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์ (เที่ยงคืนตามเวลาประเทศไทย)

พันเอกนอว์ บู แห่งกองทัพกะฉิ่นอิสระ (เคไอเอ) กล่าวกับเอเอฟพีว่า "เราพบศพ 29 ศพ รวมทั้งเด็กและคนชรา มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 56 คน" และเสริมว่าพวกเขากำลังสืบสวนรายละเอียดการโจมตีที่เกิดขึ้นในค่ายดังกล่าว

"เราไม่ได้ยินเสียงเครื่องบินใดๆเลย ก่อนเกิดเหตุ" เขากล่าว โดยระบุว่า พวกเขากำลังตรวจสอบว่ากองทัพอาจใช้โดรนโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยใกล้เมืองไลซา บริเวณชายแดนติดกับจีน

มีรายงานการพบศพกลาดเกลื่อนค่ายดังกล่าวที่โดนโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัว

พันเอกนอว์ บู กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บถูกนำเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้เมืองไลซา ในรัฐกะฉิ่น

ขณะที่ ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวว่า กองทัพไม่ได้เป็นผู้ลงมือ และกำลังสอบสวนรายงานดังกล่าว

เขาแสดงความเห็นว่า อาจเป็นการระเบิดในคลังอาวุธของกลุ่มกบฏในพื้นที่เอง

นับตั้งแต่การโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจีในปี 2564 ผู้คนมากกว่า 10,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในรัฐกะฉิ่น

การรัฐประหารจุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่และการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือด ซึ่งส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมหลายหมื่นคน และเสียชีวิตมากกว่า 4,100 คน ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มติดตามตรวจสอบในท้องถิ่น

ปัจจุบัน กองทัพกะฉิ่นอิสระ (เคไอเอ) ควบคุมพื้นที่ของรัฐกะฉิ่นซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้ปะทะกับกองทัพมานานหลายทศวรรษ

ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับการต่อสู้อย่างหนักหลังการปราบปรามตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลเผด็จการกล่าวหาว่า เคไอเอติดอาวุธและฝึกอบรมกองกำลังป้องกันประชาชนรุ่นใหม่ให้ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เคไอเอให้ข่าวว่ากองกำลังของตนได้ยิงเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของทหารจนเสียหาย ในระหว่างการปะทะกันอย่างดุเดือดใกล้เมืองโมเมาะทางตอนเหนือสุดของประเทศ

นอกจากนี้ ทหารเมียนมายังเคยโจมตีใส่กลุ่มคนในงานรื่นเริงที่จัดขึ้นโดยเคไอเอเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ราย และบาดเจ็บ 70 คน

แต่รัฐบาลเผด็จการทหารกล่าวปฏิเสธ พร้อมชี้ว่ารายงานการโจมตีทางอากาศที่คร่าชีวิตพลเรือนนั้นเป็นเพียงแค่ 'ข่าวลือ'

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในรายงานล่าสุดว่า เมียนมายังเต็มไปด้วย "ความรุนแรงทางทหารที่ดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด" จากการหาข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 10 รายขึ้นไปที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วงหลัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ปานปรีย์’ ขีดเส้นชัดกองทัพทหารเมียนมาห้ามรุกล้ำอธิปไตยไทย

‘ปานปรีย์’ กำชับกองทัพทหารเมียนมา ห้ามรุกล้ำอธิปไตยและดินแดนไทย รวมทั้งห้ามมีลูกหลงการสู้รบมาฝั่งไทยด้วย เผย เตรียมประชุมวอร์รูมก่อนประชุม ครม. อังคารนี้ ก่อนนายกบินแม่สอด ติดตามสถานการณ์

'อองซาน ซูจี' ย้ายจากเรือนจำมากักบริเวณในบ้าน เหตุเสี่ยงเป็นโรคลมแดด

เมียนมาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารมาตั้งแต่ปี 2021 และอองซาน ซูจี-อดีตหัวหน้ารัฐบาล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสั