ตำรวจจับมือชาวประมงอินโดฯออกลาดตระเวนทั้งบนบกและในทะเล สกัดเรือโรฮีนจา

ตำรวจและชาวประมงอินโดนีเซียประกาศลาดตระเวนร่วมกันในบางพื้นที่ทางตะวันตก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาอพยพขึ้นมาบนชายฝั่งของประเทศ หลังยอดผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าวทะลุ 1,100 คนในเดือนเดียว

บรรดาผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาล่องเรือมาถึงชายหาดบนเกาะซาบังของจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน และถูกตำรวจสกัดไว้ได้ ก่อนผลักดันกลับสู่ทะเล (Photo by Chaideer MAHYUDDIN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า ตำรวจผนึกกำลังร่วมกับชาวประมงอินโดนีเซียในปฏิบัติการลาดตระเวนสกัดกั้นเรือผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่งหรือพยายามขึ้นบกเพื่อเข้ามายังดินแดนของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงทางตะวันตก

ในเดือนนี้ มีตัวเลขชาวโรฮีนจาล่องเรือมายังดินแดนฝั่งตะวันตกสุดของอินโดนีเซียรวมแล้วกว่า 1,100 คน และบางส่วนได้ขึ้นฝั่ง ก่อนถูกผลักดันกลับลงสู่ทะเลในท้ายที่สุด เพราะเจ้าของประเทศไม่มีทรัพยากรมากพอมาดูแลกลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้

ในแต่ละปี มีผู้คนหลายพันคนจากชนกลุ่มน้อยมุสลิมยอมเสี่ยงชีวิตโดยการเดินทางทางทะเลจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศด้วยเรือที่บอบบาง เพื่อพยายามไปให้ถึงมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย

ล่าสุดในอินโดนีเซีย มีเรือมากกว่าครึ่งโหลที่บรรทุกชาวโรฮีนจาหลายร้อยคนจากบังกลาเทศเดินทางมาถึงจังหวัดอาเจะห์ซึ่งเป็นเขตการปกครองที่มีประชาชนมากกว่า 350,000 คน โดยผู้ลี้ภัยเกือบทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นและถูกผลักดันกลับสู่ทะเล

ตำรวจในพื้นที่จึงได้กำหนดให้มีการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง และเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังทั้งตามแนวชายฝั่งและในน่านน้ำของช่องแคบมะละกา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อพยพชาวโรฮีนจาเข้ามา ด้วยความร่วมมือในการสอดส่องจากชาวบ้านในพื้นที่

นาฮารุดดิน หัวหน้าชุมชนประมงในเขตเดวันทารา ทางตอนเหนือของจังหวัดอาเจะห์ ได้ยืนยันการร่วมมือลาดตระเวนดังกล่าวกับเอเอฟพี

“เราดำเนินการเฝ้าระวังตามแนวชายฝั่งทันที และขอให้พวกชาวประมงคอยสอดส่องขณะออกทะเล” เขากล่าว และเสริมว่า ชาวประมง, ตำรวจท้องที่ และหน่วยทหารต่างออกลาดตระเวนจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเรือผู้อพยพลำใดเข้าใกล้แนวชายฝั่ง

หน่วยงานสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า อินโดนีเซียอาจเป็นประเทศต่อไปที่ปิดกั้นพรมแดนเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวโรฮีนจาขึ้นฝั่ง เฉกเช่นที่มาเลเซีย, ไทย และอินเดียต่างปฎิบัติมาก่อนหน้านี้ ขณะที่อินโดนีเซียเองก็ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ จึงมีสิทธิ์ปฏิเสธการรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้จากเมียนมา

ถึงแม้ชาวอาเจะห์จำนวนมากจะเห็นใจต่อชะตากรรมของเพื่อนผู้ลี้ภัยชาวมุสลิม แต่บางคนกล่าวว่าผู้คนในพื้นที่ต่างเอือมระอากับปัญหาที่ตามมาจากกลุ่มคนเหล่านี้ที่เคยได้ขึ้นฝั่งและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ไปมากจนขาดแคลน และบ่อยครั้งก็กลายเป็นความขัดแย้งกับคนในท้องถิ่น

ชาวโรฮีนจามากกว่า 1 ล้านคนต้องหลบหนีออกจากเมียนมานับตั้งแต่ 30 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง อันเป็นผลพวงจากการปราบปรามของทหารในปี 2560 ที่ทำให้หลายคนต้องตั้งถิ่นฐานและอยู่อย่างแร้นแค้นในค่ายกักกันในบังกลาเทศ.

เพิ่มเพื่อน