นายกฯ กัมพูชาลั่น จะไม่สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

ผู้นำกัมพูชากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า รัฐบาลของเขาจะไม่สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง หลังล้มเลิกโครงการถ่านหินมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ในเขตอนุรักษ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

พื้นที่ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงของกัมพูชา (Photo by Sarah LAI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า กัมพูชาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการอนุญาตให้บริษัทต่างๆ เข้าใช้พื้นที่ป่าหลายแสนเฮกตาร์ รวมถึงในพื้นที่คุ้มครอง สำหรับกิจการทุกสิ่งตั้งแต่สวนยางพาราและอ้อย ไปจนถึงเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา กล่าวว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาในแม่น้ำและทะเลสาบโตนเลสาบ ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นแหล่งปลาที่สำคัญสำหรับชาวกัมพูชา ดังนั้นจะไม่มีการดำเนินการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

"รัฐบาลจะไม่สร้างเขื่อนใดๆ ตามแนวแม่น้ำโขง เพราะมันส่งผลกระทบอย่างมาก" เขากล่าวระหว่างพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในจังหวัดชายฝั่งทะเลของเกาะกง

นอกจากนี้ ทายาทฮุนเซนยังได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงการยกเลิกโรงงานถ่านหินขนาด 700 เมกะวัตต์มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ในอุทยานโบตัมสาครที่ได้รับการคุ้มครองในเกาะกง

ทั้งนี้ โรงงานโบตัมสาครซึ่งมี 2 ยูนิตมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการประมาณปี 2568 การล้มโครงการของนายกฯกัมพูชาจึงทำให้เจ้าหน้าที่พิจารณาเปลี่ยนโครงการจากเดิมเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แทน

ฮุน มาเน็ต ย้ำว่ากัมพูชาจะไม่พัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ เพราะต้องการแสดงความรับผิดชอบของประเทศต่อสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศโลกที่ใช้ร่วมกัน

เขากล่าวว่า ขอส่งความเคลื่อนไหวนี้เป็นข้อความถึงประเทศต่างๆ ในเวทีเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศของ COP28 ในดูไบ

เพื่อให้ประเทศกลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านพลังงานสะอาดสำหรับการท่องเที่ยวและการลงทุน รัฐบาลกัมพูชาจึงตั้งเป้านำพลังงานทดแทนมาใช้ให้ได้มากถึง 70% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่คิดเป็น 60% ของแหล่งพลังงานทั้งประเทศ

เมื่อเดือนธันวาคม 2564 กัมพูชาได้เผยแพร่แผนงานเพื่อให้บรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 พร้อมให้คำมั่นสัญญาที่จะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอันมีส่วนสำคัญในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ รวมถึงการลงทุนในการนำเข้า, การจัดเก็บ และโครงสร้างพื้นฐานของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

การไฟฟ้าของประเทศระบุว่า ในปี 2565 การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินมีสัดส่วนเพียง 35.5% ขณะที่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำมีสัดส่วนมากถึง 54%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

DAD ศึกษาปั้น “พลังงานสะอาด” เพิ่มทางเลือกป้อนศูนย์ราชการฯ

DAD เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ “ก๊าซไฮโดรเจน” ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ขยายผลจากพลังงานแสงอาทิตย์ หวังความคุ้มค่าในระยะยาว

'แพทองธาร' บอกดีมากๆ ไปเยือนกัมพูชา ใช้โมเดลการเมือง มาปรับใช้กับไทย

น.ส.แพทองธาร นางสาว แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนกัมพูชาว่า เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

รัฐบาลปลื้ม ‘ข้าวไทย’ กระแสตอบรับดีในงานแสดงสินค้า Gulfood 2024 ที่ดูไบ

โฆษกรัฐบาล เผย ข้าวไทยกระแสตอบรับดีในงานแสดงสินค้า Gulfood 2024 ที่ดูไบ เชื่อมั่นเพิ่มมูลค่าตลาดข้าวไทยในตะวันออกกลาง รัฐบาลวางแนวทางส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยตลอดปี

ตีปี๊บแต่ไก่โห่! เศรษฐาชูผลงานประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย

นายกฯ สรุปผลสำเร็จการเดินทางร่วมประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย ไทยผลักดันความเชื่อมโยง และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และสัญญาจะร่วมมือกับภูมิภาค