เผยจีนแอบทดสอบมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกเพิ่มเขี้ยวเล็บอาวุธอวกาศ

แฟ้มภาพ จรวดลองมาร์ช-2เอฟ ถูกปล่อยจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจี้กวนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 เพื่อนำส่งยานเสินโจว-13 สู่สถานีอวกาศเทียนกงของจีน (Photo by Yan Zehua/VCG via Getty Images)

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า จีนทดสอบขีดความสามารถด้านอวกาศชนิดใหม่ด้วยขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ แต่มิสไซล์ยังพลาดเป้าหมาย เผยความก้าวหน้าของจีนสร้างเซอร์ไพรส์แก่หน่วยข่าวกรองสหรัฐ

รายงานของเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2564 อ้างข่าวของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์เมื่อวันเสาร์ กล่าวว่า จีนทำการทดสอบมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์เมื่อเดือนสิงหาคม แหล่งข่าวหลายรายบอกต่อไฟแนนเชียลไทมส์ว่า มิสไซล์ลูกนี้วนรอบโลกที่ระดับวงโคจรต่ำ ก่อนจะพุ่งลงโจมตีเป้าหมาย แต่แหล่งข่าว 3 คนกล่าวว่า มิสไซล์พลาดเป้าหมายไกลกว่า 20 ไมล์ (32 กิโลเมตร)

แหล่งข่าวกล่าวกันว่า มิสไซล์นำวิถีไฮเปอร์โซนิกลูกนี้ถูกนำส่งโดยจรวดลองมาร์ช การปล่อยจรวดแบบนี้ปกติแล้วจะประกาศให้ทราบ แต่การปล่อยจรวดของจีนเมื่อเดือนสิงหาคมถูกปิดเป็นความลับ

รายงานข่าวเสริมด้วยว่า ความคืบหน้าด้านอาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีน "สร้างความประหลาดใจแก่หน่วยข่าวกรองสหรัฐ"

จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวว่า เขาจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานเฉพาะเจาะจง แต่เขาเสริมว่า สหรัฐได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกังวลเกี่ยวกับขีดความสามารถทางทหารที่จีนยังคงเดินหน้าแสวงหาต่อไป ขีดความสามารถเหล่านี้รังแต่จะเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคหรือเกินกว่านั้น นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่สหรัฐถือว่าจีนเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งของเรา

ปัจจุบัน นอกจีน, สหรัฐ และรัสเซียแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 5 ประเทศที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิก

มิสไซล์ไฮเปอร์โซนิก ซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้เหมือนขีปนาวุธตามแบบทั่วไป สามารถบินได้เร็วกว่าความเร็วเสียงมากกว่า 5 เท่า หากเปรียบเทียบกันแล้ว ขีปนาวุธจะพุ่งวิถีโค้งสู่อวกาศก่อนจะพุ่งกลับลงมาโจมตีเป้าหมาย แต่อาวุธไฮเปอร์โซนิกจะบินในวิถีต่ำที่ระดับชั้นบรรยากาศ ซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายได้เร็วขึ้น ทั้งยังสามารถหลบหลีกทำให้การตรวจจับและป้องกันทำได้ยากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

GISTDA คำนวณความเสี่ยงไทยจะได้รับผลกระทบ จากชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลก 31 ก.ค.นี้

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center แจ้งเตือน ชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 และอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทย

เกาหลีเหนือโวทดสอบ 'มิสไซล์ไฮเปอร์โซนิก' โดนเป้าหมายแม่นยำ

สื่อทางการเปียงยางประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มิสไซล์ที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกที่สามารถหลบหลีกและโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำที่ระยะ 700 กม.