ครั้งแรกของโลก แพทย์ปลูกถ่ายหัวใจหมูให้ชายอเมริกัน

ศัลยแพทย์อเมริกันประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจของหมูที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมใส่ร่างของชายชาวอเมริกันวัย 57 ปีที่ป่วยโรคหัวใจระยะสุดท้าย ถือเป็นข่าวดีทางการแพทย์ที่สร้างความหวังว่าจะแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะบริจาคได้

ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ทำการผ่าตัดเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2565 (UNIVERSITY OF MARYLAND SCHOOL OF MEDICINE / AFP)

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 11 มกราคม 2565 อ้างแถลงการณ์จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์เมื่อวันจันทร์ว่า กระบวนการผ่าตัด "ครั้งประวัติศาสตร์" นี้เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา แม้การพยากรณ์โรคของคนไข้รายนี้ยังไม่มีความแน่นอน แต่การผ่าตัดครั้งนี้ถือความสำเร็จครั้งสำคัญของการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์ให้มนุษย์

คนไข้รายนี้คือ เดวิด เบนเน็ตต์ ชายชาวแมริแลนด์ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และแพทย์วินิจฉัยว่าเขาไม่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะจากมนุษย์ได้เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอมาก เขานอนติดเตียงมานานหลายเดือนโดยต้องใช้เครื่องปอด-หัวใจเทียม คณะแพทย์ที่ผ่าตัดให้เขาเผยว่า ขณะนี้เขากำลังพักฟื้นและได้รับการเฝ้าสังเกตอาการอย่างระมัดระวัง เพื่อดูว่าอวัยวะที่ได้รับใหม่ทำงานเป็นอย่างไร

ดร.บาร์ตลีย์ กริฟฟิธ (ซ้าย) และเดวิด เบนเน็ตต์ ซีเนียร์ คนไข้ผู้ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 (UNIVERSITY OF MARYLAND SCHOOL OF MEDICINE / AFP)

เบนเน็ตต์กล่าวว่า เขามีทางเลือกแค่ตายหรือปลูกถ่ายอวัยวะ แต่เขาอยากมีชีวิตอยู่ แม้จะรู้ว่าคาดเดาอะไรไม่ได้ แต่นี่คือทางเลือกสุดท้าย ตอนนี้เขากำลังรอคอยที่จะลุกจากเตียงเมื่อหายดีแล้ว

ก่อนจะทำการผ่าตัดทดลองครั้งนี้ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ต้องขออนุญาตเป็นกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐในวันส่งท้ายปีเก่า ในความพยายามเฮือกสุดท้ายเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยรายนี้ซึ่งไม่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะแบบปกติได้

ดร.บาร์ตลีย์ กริฟฟิธ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูให้กับเบนเน็ตต์ กล่าวว่า การผ่าตัดครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใกล้การแก้ไขวิกฤติการขาดแคลนอวัยวะ ตอนนี้เรามีหัวใจมนุษย์บริจาคไม่เพียงพอต่อรายนามผู้รับที่มีอยู่ยาวเหยียด

"เราดำเนินการด้วยความระมัดระวัง แต่เราก็มองในแง่ดีว่า การผ่าตัดครั้งแรกของโลกนี้จะเป็นทางเลือกที่สำคัญต่อผู้ป่วยในอนาคต" เขากล่าว

มูฮัมหมัด โมฮุดดิน ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการการปลูกถ่ายหัวใจข้ามสปีชีส์ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวเสริมว่า การผ่าตัดครั้งนี้เป็นผลลัพธ์ของการวิจัยนานหลายปี ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายหัวใจหมูใส่ลิงบาบูน ซึ่งมีช่วงเวลาการรอดชีวิตเกิน 9 เดือน ความสำเร็จครั้งนี้ให้ข้อมูลที่มีค่ามากในการช่วยประชาคมทางการแพทย์ปรับปรุงวิธีการที่อาจสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ในอนาคต

(UNIVERSITY OF MARYLAND SCHOOL OF MEDICINE / AFP)

หัวใจหมูที่นำมาปลูกถ่ายให้เบนเนตต์ต้องผ่านกระบวนการตัดแต่งทางพันธุกรรมรวม 10 ตำแหน่ง กระทำโดยบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ รีวิวิคอร์ จากรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเคยจัดเตรียมอวัยวะจากหมูที่ใช้สำหรับการปลูกถ่ายไตให้คนไข้สมองตายคนหนึ่งในนิวยอร์กเมื่อเดือนตุลาคม บริษัทนี้ตัดแต่งยีน 3 หน่วยที่เป็นต้นเหตุทำให้ร่างกายมนุษย์ปฏิเสธและยีนอีกตัวที่จะทำให้เนื้อเยื่้อหัวใจหมูเติบโตมากเกินไปออก จากนั้นได้ใส่ยีน 6 หน่วยของมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับภูมิคุ้มกันเข้าไปในจีโนมของหมู

อวัยวะที่ได้รับบริจาคนี้ถูกเก็บในเครื่องรักษาอวัยวะก่อนหน้าการผ่าตัด โดยทีมแพทย์ได้ให้ยาชนิดใหม่ซึ่งอยู่ในขั้นทดลองโดยบริษัท คินิกซา ฟาร์มาซูติคอลส์ กับยาป้องกันการต้านอวัยวะแบบเดิม แก่คนไข้เพื่อกดระบบภูมิคุ้มกันไว้

ตัวเลขของทางการสหรัฐเผยว่า ปัจจุบันมีชาวอเมริกันประมาณ 110,000 คนรอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะ และแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 6,000 คนโดยไม่ทันได้เปลี่ยนอวัยวะ

ความต้องการอวัยวะที่มีมากกว่ายอดการบริจาค ทำให้แพทย์มองหาทางออกอื่นๆ รวมถึงการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์ ซึ่งมีการทดลองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว

งานวิจัยก่อนหน้านี้เน้นที่การใช้อวัยวะจากไพรเมต เช่น หัวใจลิงบาบูน ซึ่งเคยนำมาปลูกถ่ายให้ทารกแรกเกิด ซึ่งรู้จักในชื่อ "เบบี้เฟ" เมื่อปี 2526 แต่เด็กหญิงมีอายุรอดแค่ 20 วัน

ทุกวันนี้ ลิ้นหัวใจของหมูถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายกับมนุษย์ และผิวหนังของหมูก็ถูกนำมาปลูกถ่ายให้คนไข้แผลไฟไหม้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชายปลูกถ่ายหัวใจหมูรายแรกของโลกเสียชีวิตแล้ว

ชายอเมริกันที่เป็นมนุษย์คนแรกที่ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจโดยใช้หัวใจของสุกรที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม เสียชีวิตลงแล้ว หลังจากหัวใจใหม่ต่ออายุของเขามาได้เพียงแค่ 2 เดือน