น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มในบังกลาเทศเนื่องมาจากฝนที่ตกหนัก กลายเป็นความท้าทายลำดับแรกๆที่รัฐบาลรักษาการต้องแสดงฝีมือ หลังเผชิญความวุ่นวายทางการเมืองมาหลายสัปดาห์
ชาวบังกลาเทศถือร่มลุยน้ำที่ท่วมถนน ท่ามกลางสายฝนในเมืองเฟนี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ลุ่มของบังกลาเทศ มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 รายและผู้คนหลายแสนคนติดอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำในอย่างน้อย 8 เขตทางตอนใต้และตะวันออก
"ประชาชนราว 2.9 ล้านคนได้รับผลกระทบ และกว่า 70,000 คนต้องอพยพไปหลบภัยที่ศูนย์พักพิง" โมฮัมหมัด นาซมูล อาเบดิน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการจัดการและบรรเทาสาธารณภัยกล่าวกับเอเอฟพี
บังกลาเทศมีประชากรราว 170 ล้านคน และการที่มีแม่น้ำหลายร้อยสายไหลผ่านทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับน้ำท่วมบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
ราเซดุล อิสลาม เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของเขตรามู กล่าวว่า จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด มี 3 รายที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะค็อกซ์บาซาร์
ทั้งนี้ ฝนมรสุมประจำปีก่อให้เกิดการทำลายล้างเป็นวงกว้าง แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้รูปแบบสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มจำนวนเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอยู่บ่อยครั้ง
ล่าสุด กองทัพบกและกองทัพเรือได้ส่งกำลังพลไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดค้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่เอ่อล้น
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประกอบด้วยสามเหลี่ยมปากแม่น้ำระหว่างแม่น้ำหิมาลัย, แม่น้ำคงคา และแม่น้ำพรหมบุตร ที่ไหลลงสู่ทะเลหลังไหลผ่านมาจากอินเดีย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศของอินเดียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าอินเดียเป็นผู้รับผิดชอบต่อน้ำท่วม โดยปฏิเสธว่ากระทรวงฯไม่ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนที่อยู่เหนือน้ำโดยเจตนา
รายงานระบุว่า พื้นที่ลุ่มประสบกับฝนตกหนักที่สุดของปีนี้ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเป็นผลมาจาก "การจงใจปล่อยน้ำ"
อาซิฟ มาห์มูด ผู้นำหลักในการประท้วงของกลุ่มนักศึกษาที่ขับไล่นายกฯหญิงชีค ฮาซีนา และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาในคณะรัฐมนตรีรักษาการ ได้กล่าวหาว่าอินเดียไม่เพียงแต่เป็นเจ้าภาพต้อนรับการลี้ภัยของฮาซีนาเท่านั้น แต่ยัง "สร้างน้ำท่วม" โดยการเจตนาปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ขณะที่อินเดียก็ออกมาโต้ข้อกล่าวหาทันทีว่า "เรื่องนี้ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง"
กระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลนิวเดลีระบุในแถลงการณ์ว่า "น้ำท่วมในแม่น้ำสายหลักระหว่างอินเดียและบังกลาเทศเป็นปัญหาร่วมกันซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้คนทั้งสองฝ่าย และต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหานี้"
การปกครองของฮาซีนาเป็นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงการกักขังหมู่และทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเธอ
แม้รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของนเรนทรา โมดี ของอินเดียเลือกฮาซีนามากกว่าคู่แข่งจากพรรคชาตินิยมบังกลาเทศซึ่งมีความใกล้เคียงกับกลุ่มอิสลามหัวอนุรักษนิยม แต่ผู้นำอินเดียก็ออกตัวสนับสนุนมูฮัมหมัด ยูนุส ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลรักษาการ
เมื่อวันพฤหัสบดี คณะทำงานของสหประชาชาติเดินทางถึงกรุงธากาเพื่อประเมินว่าจะสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นระหว่างการประท้วงหรือไม่ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 450 ราย จากการถูกตำรวจยิง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุว่า มีหลักฐานชัดเจนที่สมควรได้รับการสอบสวนเพิ่มเติมอย่างเป็นอิสระว่ากองกำลังรักษาความปลอดภัยของบังกลาเทศใช้กำลังที่ไม่จำเป็นและไม่สมส่วน ระหว่างการชุมนุมประท้วง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรน้ำดีที่รอวันเติบโต
วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ