สภายุโรปวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ และอังกฤษ ที่จำคุก ‘จูเลียน อัสซานจ์’

 
(จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้ง WikiLeaks ชูกำปั้นหลังการอภิปรายมุ่งเน้นไปที่การควบคุมตัวและการพิพากษาลงโทษของเขา รวมถึงผลกระทบที่น่าหวาดกลัวต่อสิทธิมนุษยชน ที่สภายุโรปในเมืองสตราสบูร์ก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นับเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกหลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัว – Photo by Frederick Florin / AFP)

ตามที่สภายุโรประบุ จูเลียน อัสซานจ์ เป็นนักโทษการเมือง ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในมติ ก่อนหน้านี้ผู้ก่อตั้ง WikiLeaks ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เขาได้รับการปล่อยตัว

สภายุโรปจัดประเภทจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้ง WikiLeaks ให้เป็นนักโทษการเมืองในการลงมติ สมัชชารัฐสภาในเมืองสตราสบูร์กกล่าวถึงข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สหรัฐฯ กระทำต่ออัสซานจ์ โดยอาจมีโทษจำคุกตลอดชีวิต “สำหรับการรวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ข่าว”

มติในที่ประชุมเรียกร้องให้สหรัฐฯ สอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จูเลียน อัสซานจ์และ WikiLeaks นำมาเปิดเผย การจัดการกับอัสซานจ์ทำให้เกิด “ผลกระทบที่น่าหวาดกลัว” และเป็นการบ่อนทำลายการคุ้มครองของผู้สื่อข่าวและผู้แจ้งเบาะแสทั่วโลก

สมัชชาของสภายุโรปยังกล่าวหาทางการอังกฤษด้วยว่า ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิของอัสซานจ์ ที่จะมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก แม้ว่าข้อกล่าวหาต่ออัสซานจ์จะมีลักษณะทางการเมือง แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ทำให้เขาต้องถูกจำคุกเป็นเวลานานอย่างไม่อาจยอมรับได้

สภายุโรป ซึ่งประกอบด้วย 46 ประเทศ และเป็นอิสระจากสหภาพยุโรป ได้จัดการกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของจูเลียน อัสซานจ์หลายครั้งในอดีต เมื่อวันอังคารอัสซานจ์ได้พูดคุยกับสภายุโรป ซึ่งถือเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เขาได้รับการปล่อยตัวอย่างน่าประหลาดใจเมื่อปลายเดือนมิถุนายน การลงมติของสภายุโรปเป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันทางกฎหมาย

ตั้งแต่ปี 2010 WikiLeaks ได้เผยแพร่เอกสารลับจากเชลซี แมนนิง ผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในอิรักและอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ กล่าวหาว่าการกระทำของอัสซานจ์ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้ให้ข้อมูลแก่สหรัฐฯ อย่างไรก็ตามผู้สนับสนุนของอัสซานจ์มองว่า เขาเป็นนักข่าวผู้กล้าหาญที่กล้าเปิดเผยอาชญากรรมสงครามให้ชาวโลกได้รับรู้

จูเลียน อัสซานจ์ต้องซ่อนตัวอยู่ภายในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนเป็นเวลา 7 ปี ก่อนถูกควบคุมตัวเพื่อรอการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019 หลังจากได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เขาก็กลับไปยังบ้านเกิดของเขาในออสเตรเลีย ที่ซึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กอ้วน' ฮึ่ม! เมียนมาทำเกินเหตุ รอบัวแก้วคุยกับทูต เร่งส่งคืนคนไทย

'บิ๊กอ้วน' บอกรอบัวแก้วคุยทูตเมียนมา ปมยิงเรือประมงไทย อย่าเพิ่งคาดการณ์ไปก่อน ยันต้องปล่อยตัว 4 คนไทย ชี้ทำเกินกว่าเหตุ ปัญหาเส้นแบ่งทางทะเลมีมานานแล้ว

นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา