พ่อค้าโค-กระบือชายแดนแม่สอด เดือดร้อนหนัก นัดชุมนุมประท้วงกรมปศุสัตว์

ผู้ประกอบการนำเข้าสัตว์และเกี่ยวเนื่องจากการนำเข้าสัตว์จากประเทศพม่าสู่ไทย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มพ่อค้าโค กระบือ แพะ แกะ, กลุ่มรถขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ,กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ และกลุ่มเกษตรกรผู้อัดฟางก้อน ออกแถลงการณ์เชิญชวนสมาชิกกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งโค กระบือ แพะ แกะ จากประเทศเมียนมาร์ 5 ฉบับ รวมระยะเวลากว่า 13 เดือน เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 11 มีนาคม 2567 หน้าด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ในเวลา 10.00 น. เป็นต้นไปเพื่อเรียกร้องให้กรมปศุสัตว์พิจารณาหาทางแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้นโดยจะชุมนุมกันอย่างสงบ แต่ถ้ายังไม่ได้รับคำตอบจะยกระดับการชุมนุมต่อไป

4 มี.ค.2567 - นายอานัส แสนพรม กลุ่มผู้ประกอบการค้าขายโคกระบือ เปิดเผยว่า ประกาศชะลอการนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ ฉบับที่ 4 ของกรมปศุสัตว์ ครบกำหนดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะไม่มีประกาศยกเลิกการนำเข้าแล้วยังมี ประกาศฉบับที่ 5 ให้ชะลอต่อไปอีก 3 เดือน ทำให้ผู้ค้าหลายคนเดือดร้อนไม่มีรายได้ ต้องขายบ้าน จำนำรถ กู้หนี้ยืมสินกันจนไม่มีเงินส่งแล้ว

“ปัญหาคือรัฐบาลสั่งปิดชายแดน ทำให้พ่อค้าโค กระบือ เกี่ยวกับรถบรรทุกการขนส่ง หลายกลุ่มได้รับผลกระทบ การชุมนุมในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ข้อเรียกร้องของกลุ่มยังเหมือนเดิมคือให้ยกเลิกการชะลอนำเข้า และขอวันที่จะเปิดด่านชายแดนแน่นอนเพื่อให้วัวนำเข้ามา” นายอานัส กล่าว

โดยก่อนหน้านี้เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทางผู้ค้าผู้ประกอบการชายแดนแม่สอด เคยชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏ จ.ตาก ซึ่งครั้งนั้นผู้ว่าราชการ จ.ตาก ขอให้กลุ่มผู้ค้าเลิกชุมนุมก่อน แล้วภายใน 2 สัปดาห์จะหาทางพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่เป็นผล

ส่วนเหตุผลที่กรมปศุสัตว์ประกาศชะลอการนำเข้าเนื่องจากวัวฝั่งพม่ามีโรคระบาดนั้น กลุ่มผู้ประกอบการค้าขายโค กระบือ ตั้งคำถามว่า ตลอดเวลากว่า 1 ปี ที่ไม่มีการนำเข้าวัวมาเลย ตอนนี้จะยังมีโรคระบาดอยู่ได้อย่างไร

“กรมปศุสัตว์อ้างว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) เข้าไปตรวจการระบาดในวัวที่ฝั่งพม่ามีหลักฐานในการไปตรวจหรือเปล่า เพราะเขายิงกันไม่มีใครกล้าเข้าไปสำรวจแน่นอน แล้ววัวที่ประเทศพม่าไม่มีโรค มาเกิดโรคที่ประเทศไทย ต้องมีการฉีดวัคซีนและกักกันโรคอีก 28 วัน จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ผมเป็นพ่อค้าคนกลาง ซื้อมาขายไป พอไม่มีวัวเราก็ไม่สามารถทำการซื้อขายได้ ตอนนี้ติดลบหมด ปิดด่านแม่สอดไม่ให้นำโค กระบือ แพะ แกะ เข้ามาเราก็ไม่ได้ทำงานเลย ติดหนี้หลายเจ้า ที่รัฐบาลบอกว่าจะทำให้วัวในประเทศไทยราคาขึ้นมันก็ไม่ใช่ เพราะปิดมา 1 ปีแล้ว ราคาร่วงหนักกว่าเก่าอีกจากกิโลกรัมละ 80 กว่าบาท ตอนนี้เหลือ 70 กว่าบาทเอง”นายอานัส กล่าว

นายอานัสกล่าวว่า เมื่อวัวชายแดนพม่าปิดคนซื้อต่างประเทศก็ไม่เข้ามาไทย การซื้อขายก็น้อยลง คนต่างประเทศก็ไม่อยากจะซื้อ ขายได้น้อยลง คนเลี้ยงก็ขาดทุนกันเยอะ ต้องขายกับพวกพ่อค้าเขียง เขียงก็กดราคาเพราะทำได้น้อยลง คนกินในประเทศไทยก็น้อยลง แต่ถ้าวัวพม่าเข้า พ่อค้าต่างประเทศเข้า วัวพม่าไม่พอกับความต้องการของพ่อค้าต่างประเทศก็เอาวัวผสมบราห์มันติดไป พอได้กระจายออกไปราคาก็จะดีขึ้นเป็นวงจรตลาด กรณีการนำวัวไปสวมโสร่ง ในอดีตเคยมีการนำวัวพม่ามาสวมหูประเทศไทยแล้วส่งออก แต่ตอนนี้จะมีแค่บางกลุ่มที่ลักลอบเข้ามา ไม่รู้จากชายแดนไหนบ้างทั้งแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง แม่สลิด มีหลากหลายพอเข้ามาก็มาขอแปลงเป็นไทย บางทีก็มาสวมเบอร์หูแล้วย้ายออกไป ที่เขาทำเพราะแย่กันหมดแล้วเลยลักลอบเข้ามา

ด้านความเดือดร้อนของผู้ค้าผู้ประกอบการชายแดนแม่สอด นายอานัส กล่าวว่า มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งกิจการขนส่งขับรถบรรทุก ซึ่งทำให้ต้องขายรถกันไปหลายคันพ่วง ผู้ประกอบการฟางอัดก้อนก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีลูกค้า ในส่วนการชุมนุมของกลุ่มผู้ค้าและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งชะลอการนำเข้าของกรมปศุสัตว์ วันที่ 11 มีนาคมนี้ ผู้ประกอบการค้าขายโค กระบือ แพะ แกะ กล่าวว่าจะมีการปิดถนนเรียกร้องสิทธิเท่านั้น และจะปิดถนนจนกว่าจะเปิดด่าน

“ปิดถนนอย่างต่ำๆก็เป็นวัน ถ้าไม่ได้จริงๆก็จะไปตรงสะพาน 1 สะพาน 2 ผู้สัญจรทางถนนตรงนั้นจะได้ไม่ต้องรับผลกระทบ ถ้าปิดสะพานเราปิดตายเลย แบบไม่ต้องเข้าออกกันเลย ใครก็ได้ที่มีความสามารถสั่งเปิดปิดด่านได้ให้มาคุยกับเรา มันนาน 1 ปีแล้ว และยังต่อออกไปอีก ผมก็ไม่รู้ว่าสาเหตุหลักๆที่ต้องระงับการนำเข้าด่านแม่สอดมันเป็นเพราะอะไร ที่ในไทยบอกกันว่าราคาเนื้อตกต้องดูหลายสาเหตุ ไม่ใช่นำเข้าจากพม่าเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นเพราะเนื้อกล่องหรือการบริโภคในประเทศ” นายอานัส กล่าว

ด้านนายพิเชษฐ์ นิลนนท์ ผู้ประกอบการธุรกิจฟางอัดก้อน จ.สุโขทัย ,พิษณุโลก ,,อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร กล่าวถึงผลกระทบจากการปิดด่านแม่สอด ชะลอการนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ เนื่องจากทำธุรกิจฟางอัดก้อนใน 3-4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง รับซื้อฟางจากชาวนาที่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้วให้มีรายได้บ้าง ลดการเผาฟางตอซัง

“ในส่วนผู้ประกอบการฟางอัดก้อน ฟางส่วนใหญ่ใน 3-4 จังหวัดตรงนี้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปส่งที่แม่สอดหมด เพราะมีท่ากักกันสัตว์ วัวควายที่ข้ามมาจากฝั่งพม่าก็ต้องเอามากักกันโรคก่อน 28 วัน อาหารที่จะเลี้ยงก็คือฟางเป็นหลัก ท่ากักกันที่แม่สอดมีประมาณ 10 กว่าแห่ง ที่ผมส่งอยู่ท่าหนึ่งก็มีสัตว์ประมาณ 3,000-4,000 ตัว มันใช้จำนวนเยอะ เกษตรกรที่นี่มีอาชีพอัดฟางกันแล้วเอาขึ้นไปส่งแม่สอด พอชายแดนปิดเราได้รับผลกระทบเต็มๆ ไม่ใช่ปิดแค่ 1-2 เดือน ตอนนี้ 13 เดือนกว่าแล้ว เกษตรกรด้านล่างก็ไม่รู้จะทำยังไงกัน” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ในขณะที่กรมปศุสัตว์ระบุว่าต้องปิดด่านแม่สอดเพราะโรคระบาด นายพิเชษฐ์ ยอมรับว่ามีจริงแต่จะมีเป็นช่วงๆ

“ถ้าปากเปื่อยเท้าเปื่อยจะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งด่านก็ปิดทุกปีอยู่แล้วประมาณ 1 เดือน เราก็ไม่ได้มีปัญหาเข้าใจได้ ในมุมมองของผมคิดว่าการอ้างแบบนี้มันไม่น่าใช่ เพราะวัวควายข้ามมาก็ต้องกักโรค 28 วัน ทำวัคซีน เท่าที่รู้มาถ้าวัวตัวไหนมีเชื้อเยอะๆ 1 สัปดาห์อาการก็ออกแล้ว แต่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร” นายพิเชษฐ์ กล่าว

เรื่องความเดือดร้อนจากการปิดด่านนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจฟางอัดก้อน กล่าวว่า คนอื่นมักคิดถึงผู้ประกอบการเดือดร้อน แต่จริงๆแล้วคนที่อยู่ข้างหลังตั้งแต่ผู้ค้าอาหารสัตว์ ทำฟางก้อน กลุ่มรับจ้างทั่วไป กลุ่มรถบรรทุก รวมถึงเกษตรกร

“มันเป็นวงกว้าง แต่ถ้าถามผมว่าสาเหตุก็ต้องพูดถึงที่เขาบอกในหนังสือคือปากเปื่อยเท้าเปื่อย วัวพม่าไม่ได้รับรองจากองค์การอนามัยโลก ผมก็ไม่เข้าใจระบบราชการของเขา คราวที่แล้วเราก็ชุมนุมกันไปรอบหนึ่งแล้ว เขาก็ขอเวลา 2 สัปดาห์จะจัดการให้ สลายการชุมนุมก่อนได้ไหม ตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน 2566 จนถึงตอนนี้” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากกรมปศุสัตว์ยังคงให้มีการชะลอนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ ด่านแม่สอดต่อไป นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า คงต้องหมดเนื้อหมดตัว

“คนที่สายป่านยาวก็อาจจะเปลี่ยนอาชีพได้ แต่ธุรกิจอัดฟางของผมมันก็ต้องลงทุน เครื่องอัดฟางถ้าซื้อใหม่ๆราคา 4 แสนกว่าบาท รถแทรคเตอร์มือสองอีก 1 คัน เกือบ 2-3 แสนบาท เครื่องมือขนก้อนฟางจากบริเวณนาขึ้นมาอีก บางคนไปซื้อรถบรรทุก 6 ล้อ หรือ 10 ล้อมารับจ้างขนฟางขึ้นไปส่ง กลุ่มพวกผมรถถูกยึดไปจะ 10 คันแล้ว ถามว่าจะเอาฟางไปขายที่อื่นในประเทศไทยได้ไหม ก็ได้ แต่มันโซนใครโซนมัน เราจะไปแย่งตลาดเขา มันก็เกิดการแข่งขัน ทำให้ค่าการตลาดเสียไป แล้วผมคุ้มกับการขนไปส่งหรือเปล่า” นายพิเชษฐ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' เชื่อชนกลุ่มน้อยไม่มีวันลืมเหตุการณ์ ผู้นำไทยส่งซิกทหารเมียนมาบุกเข้าตี

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

'นพดล' ป้อง 'ทักษิณ' คุยชนกลุ่มน้อยเมียนมา หากทำให้เกิดสันติภาพเป็นสิทธิแต่ละคน

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข่าวระบุว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าไปพูดคุยช่วยเจรจากับชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ว่า ตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล

'กสม.' เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบ ต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

'กสม.' เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว -​การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย

ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา กำชับให้รอบคอบ ไม่ประมาท อย่ายุ่งเกี่ยวผลประโยชน์ในพื้นที่

พลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เดินทางไปติดตามสถานการณ์ชายแดนไทยและเมียนมา ในพื้นที่หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร โดยคณะได้รับฟังบรรยายสรุปการปฏิบัติภารกิจของหน่วย

'บ้านแม่ปอคี' จ.ตาก เตรียมจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองชุมชนกะเหรี่ยง

นายประหยัด เสือชูชีพ กลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยว่าในวันที่ 26 เมษายน 2567 ชุมชนบ้านแม่ปอคีจะจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเก็บข้อมูลศึกษาวิจัย

'ปานปรีย์' นำคณะเฉพาะกิจฯมาถึงแม่สอด ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และประธานกรรมการเฉพาะกิจเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (มท.)