วันประกาศอำนาจแห่งธรรม .. เหนือพื้นที่ชายแดนใต้ (ณ จังหวัดยะลา) ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา “ปักธงธรรม” ฉบับนี้ ยังคงเขียนเล่าเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจต่อเนื่องใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพระภิกษุในโครงการจิตอาสา กำลังใจ พัชรธรรม .. อันสืบเนื่องมาจากคอลัมน์ที่แล้วที่เขียนเล่าเรื่อง “เหตุเกิดที่.. เบตง” ซึ่งยังคงประทับใจในเรื่องราวต่างๆ อันเนื่องมาจากการจัดงานประกอบศาสนกิจ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในภาคค่ำ ณ วัดพุทธาธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา... ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา

..โดยในช่วงเช้าของวันดังกล่าว ซึ่งตรงกับวันพระใหญ่ นอกจากการเดินบิณฑบาตของพระสงฆ์ ๒๙ รูปในกลางเมืองเบตงแล้ว

ยังได้มีการประชุมสงฆ์เพื่อกระทำอุโบสถ ในการฟังสวดพระปาฏิโมกข์ศีล ๒๒๗ สิกขาบท บนภูเขาสวนสาธารณะใต้สุดสยาม ใจกลางเมืองเบตง ในยามเช้าที่บรรยากาศเป็นใจ ดุจหน้าหนาวตามฤดูกาล ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิศาสตร์แห่งเมืองเบตง ที่ตั้งอยู่ในความสลับซับซ้อนด้วยขุนเขามีระดับสูงเหนือน้ำทะเล จึงทำให้การประกอบสังฆกรรมเป็นครั้งแรกบนยอดภูเขาสวนสาธารณะกลางเมืองเบตงแห่งนี้เต็มไปด้วยสัปปายธรรม.. ยังให้เกิดความรื่นเริงในการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนทั้งหลาย โดยมี ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นำคณะข้าราชการผู้ใหญ่ของกรมราชทัณฑ์ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมงานการกุศลในครั้งนี้จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ดังภาพหมู่ชนจำนวนมากได้มายืนใส่บาตรในยามเช้ารับอรุณใกล้วงเวียนหอนาฬิกา อันเป็นภาพที่สวยงามมาก.. ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนับเป็น landmark ของเมืองเบตง อีกแห่งหนึ่ง.. ที่ทุกคนเมื่อมาเยือนเบตงจะต้องแวะมาถ่ายรูปบันทึกภาพบริเวณสถานที่ดังกล่าวนั้น

การประกอบสังฆกรรมของคณะสงฆ์ เนื่องในวันพระใหญ่ เพื่อประชุมฟังสวดศีลปาฏิโมกข์ นับเป็นมงคลกับบ้านเมืองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความสงบสุขใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้.. ที่มีวิกฤตการณ์ก่อการร้ายมายาวนาน

หากจะกล่าวถึงอานิสงส์ของการลงอุโบสถฟังสวดพระปาฏิโมกข์ศีล ๒๒๗ สิกขาบทนั้น คงจะเกินกว่าที่พรรณนาได้จบทุกมิติ แต่หากจะให้สรุปเพื่อความเข้าใจแบบจับต้องมองเห็นได้ตามวิสัยพระปฏิบัติ ก็คงพอจะสรุปได้ว่า...

การที่คณะสงฆ์จะเลือกสถานที่ใดอันเหมาะควรต่อการสวดประกาศเป็นเขตอุโบสถ เพื่อการกระทำสังฆกรรมที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย อันเป็นไปตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น คงจะต้องพิจารณาถึงความเป็น สัปปายสถาน อันสมบูรณ์ด้วย สัปปายธรรม ของสถานที่นั้นๆ ที่ควรต่อการจะสวดประกาศสมมติเขตอุโบสถ...

สถานที่ดังกล่าว.. จึงต้องมีความเป็น ภูมิสถานธรรม.. เป็น มงคลธรรม อย่างแน่นอนที่ควรแก่การกระทำ สังฆอุโบสถ.. เป็น ปาริสุทธิอุโบสถ.. ถูกต้องตามพระธรรมวินัย...

ภูมิสถานธรรมดังกล่าวย่อมเป็นที่น่ายินดีสืบตลอดไป ด้วยได้รองรับการกระทำสังฆกรรมของคณะสงฆ์ ที่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการเลือกสถานที่ดังกล่าวเป็นภูมิมงคลสถานในการกระทำสังฆกรรม.. เพื่อ ลงอุโบสถ

เมื่อคณะสงฆ์.. ได้กระทำการชำระอาบัติต่างๆ ตามวิถีอริยประเพณี เพื่อให้เป็น สังฆปาริสุทธิอุโบสถ บนพื้นที่ใด.. พื้นที่นั้น.. แผ่นดินนั้นย่อมมีคุณอันไม่มีประมาณ ในการรองรับกำลังของคณะสงฆ์ที่พร้อมเพรียงร่วมกันกระทำสังฆอุโบสถ ฟังสวดปาฏิโมกข์ศีล ๒๒๗ สิกขาบท เพื่อตรวจสอบตนเองว่า.. ประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามพระวินัยนิยม พระบรมพุทธานุญาตหรือไม่..

โดยมีวิธีการสวดปาฏิโมกข์ศีล ๒๒๗ สิกขาบท ที่ต้องอาศัยความอุตสาหะและกำลังความเพียรอย่างมีสติปัญญา ในการท่องบ่นจดจำ จนคล่องปากขึ้นจิตและเข้าใจในพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยาวัตรที่ถูกต้อง จึงสวดสมมติตนขึ้นเป็น ภิกขุปาฏิโมกข์.. ทั้งนี้จะมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่งช่วยตรวจทาน เพื่อมิให้สวดผิดเพี้ยนไปจากพุทธบัญญัติเป็นมคธภาษาในสิกขาบทแต่ละข้อนั้นๆ

ผู้สวดปาฏิโมกข์ศีล ๒๒๗ สิกขาบทและผู้ช่วยตรวจทาน จึงต้องใส่ใจ ตั้งใจ ด้วยความนอบน้อมในการปฏิบัติศาสนกิจอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ที่ถือปฏิบัติอย่างมีระเบียบแบบแผนสืบเนื่องมายาวนานมากกว่าสองพันปี ที่คณะสงฆ์เถรวาทยังได้ถือประพฤติปฏิบัติกันมาอย่างไม่ขาดสาย

เมื่อผู้สวด..ผู้ช่วยตรวจทาน มีความตั้งใจแน่วแน่ในการสวด.. ผู้ฟังก็จะต้องตั้งใจนอบน้อมในการฟัง.. เป็นการฟังอย่างมีสติปัญญา.. เพื่อการตรวจตราให้ละเอียดแยบคายว่า.. เรามีความผิด.. มีอาบัติใดๆ ในข้อใด หมวดใดบ้าง.. หากไม่มีก็เปล่งวาจาหรือระลึกที่จิตว่า.. “..ปริสุทเธตถาหัง เราบริสุทธิ์แล้วในข้อหาเหล่านี้..”

แต่หากตรวจตราแล้วพบว่า.. ได้มีความผิดเป็นอาบัติอยู่.. ก็ให้ทำความอาลัยไว้ในใจ.. เมื่อเสร็จสิ้นการฟังสวดปาฏิโมกข์ศีล ๒๒๗ สิกขาบทแล้ว.. ก็ให้แสดง.. เปิดเผยในอาบัตินั้นๆ ตามธรรมวิธี.. ต่อเพื่อนสหธรรมิก.. พระภิกษุ หรือต่อคณะสงฆ์ แล้วแต่กรณี.. เพื่อทำการคืนกลับไป.. ชักคืนกลับเข้ามาในเส้นทางพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว...

เมื่อการสวดเสร็จสิ้น จึงมีการสวดบทท้ายพระปาฏิโมกข์ที่มีความหมายยิ่ง.. ตลอดจนพลีบุญอุทิศแด่ทวยเทพยดา สัตว์ทั้งหลายทุกภพภูมิ.. ด้วยอานิสงส์ของการปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยด้วยความเคารพมาโดยตลอด ซึ่งย่อมมีผลยิ่ง.. มีอานิสงส์ยิ่ง ในบุคคลผู้ตั้งใจปฏิบัตินั้นๆ และเมื่อยกเป็นกำลังของสงฆ์.. หมายถึง หมู่คณะตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปที่ร่วมสังฆกรรม จึงย่อมเป็นกำลังธรรมอันยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ ที่จะก่อให้เกิดคุณานุประโยชน์ต่อหมู่ชน สังคม และประเทศชาติ โดยจะสัมฤทธิผลอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะเมื่อคณะสงฆ์ได้พร้อมใจกัน ร่วมใจกัน กระทำสัตยาธิษฐาน.. เพื่อความสงบสุขของแผ่นดิน

ผลานิสงส์ดังกล่าวย่อมเผื่อแผ่ไปถึงทวยเทพยดา หมู่สัตว์ทั้งหลายน้อยใหญ่.. รวมถึงมนุษย์ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยจัดดูแลอำนวยความสะดวกให้เกิดสถานที่อันเหมาะควร.. เพื่อการประชุมของพระสงฆ์ในการทำสังฆกรรมนั้นๆ .. เพียงแค่เปล่งวาจา สาธุการ ต่อการประกอบศาสนกิจของคณะสงฆ์.. ด้วยใจชื่นชมอนุโมทนายินดีในความพร้อมเพรียงของสงฆ์.. ก็ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข อันพึงหวังได้จริงในบุคคลที่มีจิตศรัทธาที่กระทำการเปล่งวาจา “สาธุการ” นั้นๆ

การประชุมของคณะสงฆ์รวม ๒๙ รูป ณ ยอดภูเขาสวนสาธารณะใต้สุดสยาม กลางเมืองเบตง จึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอันควรมองผ่านไป.. ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวกว่าจะเกิดมีขึ้นได้นั้น ต้องถึงความพร้อมตามเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ดังเรื่องโดยทั่วไป.. จึงเป็นธรรมดาที่หมู่สัตว์ที่เกี่ยวข้องต้องเพียรเฝ้ารักษาพื้นที่เพื่อรอคอยต่อการมาประกอบศาสนกิจของคณะสงฆ์.. และรอคอยต่อการมาเยือนของคณะสงฆ์... จนกว่าจะถึงวันที่เป็นจริง.. ที่ตรงกับวันพระใหญ่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗.. วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ในครั้งนี้

จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการประกอบศาสนกิจทุกอย่างในวันนั้น ที่ได้จัดมีขึ้นในภาคค่ำ ณ วัดพุทธาธิวาส คณะสงฆ์และศรัทธาสานุศิษย์รวมร่วม ๑๐๐ ชีวิต ได้กำหนดเดินทางโดยเร่งด่วน เพื่อให้ทันเวลาบิณฑบาตยามเช้า ๐๖.๓๐ น. กลางเมืองยะลา ที่มี ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นำข้าราชการ ทหาร.. ตำรวจ และพลเรือน ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า รอรับคณะสงฆ์ เพื่อเข้าสู่เส้นทางบิณฑบาตในใจกลางเมืองยะลา.. ที่มุ่งหน้าไปสู่ศาลาศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา

ดังนั้นการออกเดินทางจากอำเภอเบตง สู่ อำเภอเมืองยะลา ในเวลาตี ๔ (๐๔.๐๐ น.) ของวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ จึงเกิดขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มีวิกฤตการณ์ก่อการร้าย เพราะบนเส้นทางสายดังกล่าว.. จะมีเหตุการณ์ดักซุ่มยิง วางระเบิด เจ้าหน้าที่ ทหาร-ตำรวจ.. ประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างบ่อยครั้ง การเดินทางไปบนเส้นทางอันคดเคี้ยวมากโค้งในยามค่ำคืน จึงต้องเป็นไปด้วยความไม่ประมาท แม้ว่าจะมีรถเจ้าหน้าที่ทหารนำหน้าขบวน ที่วิ่งฝ่าไปในท่ามกลางความมืดด้วยความเร็วของรถนำที่ไม่ค่อยผ่อนคันเร่งของพลขับเลย.. เพราะรู้ดีว่าเส้นทางสายดังกล่าวมีโอกาสพบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดไว้ได้เสมอ ในท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายรับก่อนเข้าสู่เมืองยะลา.. ที่ต้องผ่าน อ.ธารโต อ.บันนังสตา.. และแลเห็นเส้นทางไปทาง อ.กรงปินัง... อันเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นโซนสีแดง.. การเดินทางในยามยังไม่สว่างในครั้งนี้จึงเป็นการเดินทางครั้งที่สำคัญยิ่งอันควรจารึกอย่างยิ่ง.. ว่า... “วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕.. ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจ.. บิณฑบาต.. แสดงธรรม.. เจริญพระพุทธมนต์ เพื่อประกาศอำนาจธรรมเหนือแผ่นดิน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ เมืองยะลา ที่.. (ไม่) บังเอิญตรงกับ วันชาติมลายูปัตตานี.. ซึ่งโจรก่อการร้ายกำหนดเป็นวันชาติของกลุ่มแบ่งแยกดินแดง.. ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้.. ที่คณะสงฆ์ได้สวดประกาศพระธรรมจักร.. เหนือแผ่นดิน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จ.ยะลา.. ด้วยเจตนาเพื่อขออำนาจแห่งธรรม ปกปักรักษาแผ่นดินไทยให้สงบสุขสืบตลอดไป..... เอวัง!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่