ปุจฉาธรรมของชาวลำพูน...

ปุจฉาข้อที่ ๑

กราบขอโอกาสเจ้าค่ะ สำหรับแถวที่ ๓ เจ้าค่ะ มีผู้อยากกราบขอโอกาสเรียนถามว่า หลักธรรมะในการทำงานกับชุมชนควรมีหลักธรรมข้อใดเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อที่จะช่วยพัฒนาชุมชนนั้นให้ควบคู่ไปทั้งทางธรรมและทางโลก มีการพัฒนาไปด้วยกันเจ้าค่ะ...

วิสัชนา...

หลักการทำงานร่วมกับทางชุมชน ใช่ไหม.. ก็ ต้อง “รู้” ต้องรู้ในสิ่งนั้นๆ ที่จะทำ รู้ถึงจุดมุ่งหมายในสิ่งที่เราจะต้องทำว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร ทำเพื่ออะไร.. เมื่อมีจุดมุ่งหมายก็ต้องมีหลักการ.. วางหลักการให้มันถูกต้องตามจุดมุ่งหมายนั้น มีการศึกษา วิเคราะห์ ประเมิน และสรุปผลตามสภาพความเป็นจริง..

สำคัญคือ จุดมุ่งหมายกับหลักการต้องไม่ขัดแย้งกัน ในพระพุทธศาสนาเรียกตรงนี้ว่า อรรถธรรมสัมพันธ์คือ หลักการจุดมุ่งหมายไม่ขัดแย้งกัน เพื่อการปฏิบัติที่ทำได้จริง อันสอดคล้องตามหลักการและจุดมุ่งหมายนั้น

การจะเข้าใจในหลักการ จุดมุ่งหมาย ก็ ต้อง “รู้”.. ต้องใช้การรู้เข้ามาจับ ทุกเรื่องต้องรู้เหตุ มันเป็นเหตุมันเป็นผล อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ทุกอย่างมันมีเหตุ มันมีผล ไม่ใช่แต่เรื่องภายนอกภายใน ต้องพิจารณาให้เห็นจริงทั้งภายในภายนอก จะเข้าใจถึงความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งนั้นๆ...

เมื่อรู้เหตุรู้ผลแล้ว ต้องมารู้ตนเอง เราผู้กระทำ มีความสัมพันธ์กับเหตุผลที่ต้องกระทำนั้น เข้าใจไหมในเหตุผลนั้น มีความเข้าใจ ตนเองอยู่ตรงจุดไหน เพื่อนำไปสู่การรู้ประมาณ...

ที่ต้องรู้จักการประมาณในทุกเรื่อง เช่น การประมาณกำลัง ประมาณความรู้ ตามความเป็นจริง.. ในสังคม สิ่งแวดล้อม บุคคล.. สรุปคือ ต้องประมาณทุกสิ่งทุกอย่างว่ามันไปด้วยกันได้ไหม

นอกจากนั้น ต้องรู้กาละ กาลเป็นตัวชี้วัดเลยนะ บางเรื่องทำได้ในกาลนี้ บางทีทำไม่ได้.. สังคม ชุมชน มันมีอะไรเป็นบริบทล่ะ มีดินฟ้าอากาศ กลางวันกลางคืน วันเดือนปี มีพันธุกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิต เรื่องการกระทำนั้นๆ ภายใต้อำนาจกฎธรรมะนั้นๆ ก็ต้องเข้าใจเรื่องธรรมะในธรรมคติอย่างละเอียดพอสมควร.. จึงเป็นนการรู้อย่างรู้จักพิจารณาโดยแยบคายด้วย “โยนิโสมนสิการ” จึงจะเรียกว่าเป็นการรู้ใน “วิถีพุทธ”

แม้รู้ถึงกาลความเหมาะควรยังไม่พอนะ จะต้องรู้ในบริบทของสังคมทั้งหลายด้วยข้อนี้จะสำคัญมาก ด้วยจะไปทำในสังคมใดก็ต้องรู้บริบทของสังคมนั้นให้ชัดเจน เหมือนพระภิกษุลงไปใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเรียนรู้เรื่องเหตุ รู้ผล รู้ตนเอง รู้ประมาณ รู้กาล ความควรความเหมาะ ลงไปในขณะนี้เขายิงกบาลกันอยู่ พระแย่เหมือนกันนะ ใช่ไหม เขาก่อการร้ายอยู่ มีวิกฤตการณ์เกิดขึ้นไหม ก็ต้องไปเรียนรู้เรื่องบริบทในสังคมในภาคใต้ ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ และความเชื่อตามทิฏฐิต่างๆ โดยบริบทของสังคมโน้มไปทางวิถีอิสลาม.. แล้วเราเป็นพุทธ จะไปดำรงอยู่อย่างไรที่เหมาะสม..

นอกจากนั้น จะต้องรู้บุคคลที่เกี่ยวข้องคบหานั้นว่า มีพฤติกรรม..พฤติจิตเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วนี้ ต้องมากำหนดให้ชัดเจนว่า สิ่งที่จะทำนี้อะไรคือประโยชน์ ต้องรู้ชัดในสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นๆ ก่อนที่จะคิด พูด ทำ ในสิ่งนั้นๆ .. การคำนึงถึงประโยชน์เป็นธงแรกก่อนจะคิดทำในสิ่งใด.. โดยประโยชน์ตน ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สังคม มุ่งตรงต่อประโยชน์แห่งธรรม จึงควร...

เหมือนการที่พระภิกษุเราลงไปอยู่ภาคใต้ใน ๕ จังหวัด ก็ต้องคำนึงพิจารณาในทุกอย่าง ต้องยึดหลักต้องรู้ใน ๗ ประการตามที่กล่าวมา จะได้ไม่ไปเพิ่มปัญหาให้กับทางพื้นที่.. สังคมเขาอยู่กันนิ่งๆ พระในท้องถิ่นท่านก็อยู่กันดีๆ ของท่าน เมื่อเราเดินทางลงไปเติมทำให้เกิดการเคลื่อนไหว จนนำไปสู่การทำให้พระเป็นเป้าหมายของการถูกทำลายมากขึ้นก็เป็นไปได้ พระในท้องถิ่นบางรูปจึงไม่สบายใจ เมื่อมีพระที่อื่นจรมา ท่านเดือดร้อนใจก็ได้.. วัดต่างๆ บางทีบางวัดท่านก็ไม่ได้ต้อนรับ เพราะท่านกลัวพระที่มาทำให้เกิดปัญหาในท้องถิ่นท่าน ท่านไม่รู้ที่มาที่ไปของพระ พระจรไปดื้อๆ ท่านไม่รับหรอก.. เพราะท่านอยู่กันรูปสองรูปก็พออยู่กันได้ ด้วยท่านเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอยู่แล้ว ดังนั้นหากพระที่ไป ไม่ประพฤติให้ถูกต้องทั้งทางพระธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติในสังคม ไม่รู้..ไม่เข้าใจในบริบทสังคม ชุมชน และบุคคล ก็จะนำไปสู่การสร้างปัญหาให้กับองค์กร บุคคลในท้องถิ่นนั้นๆ ได้

ดังนั้น การรู้ประโยชน์จะต้องสอดคล้องกับการรู้ในสิ่งที่เหมาะควร รู้ชัดในสิ่งที่เหมาะควรนั้นๆ ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญมาก

ด้วย สิ่งนี้ แม้มีประโยชน์ หากมันไม่เหมาะ มันไม่ควร ก็ให้ทิ้งไป

หาก สิ่งนี้ ดูไม่มีประโยชน์ แต่มันเหมาะ มันควร ก็ยังพอใช้ได้..

ความเหมาะควร จึงชี้วัดตัวประโยชน์อีกครั้ง เรื่องสิ่งนี้ดูไม่มีประโยชน์ แต่มันเหมาะควรขณะนี้ ก็ต้องหยิบสิ่งนี้ขึ้นมาใช้ เพราะมันเหมาะควรที่จะต้องนำมาใช้ ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อก่อเกิดความเป็นกุศลธรรม เป็นความดี พูดภาษาชาวบ้านเป็นความดี รู้ชัดในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นความดีไหม ที่เรากระทำกิจ ความคิดความนึก การพูดการจาของเราเป็นไปในทางความพรั่งพร้อมในความเป็นบุญเป็นกุศลไหม และความเป็นกุศลนั้นทำให้เราไม่ลุ่มหลงมึนงง.. เข้าใจถูกต้องตามธรรม.. จึงควรยิ่งจะกระทำโดยคำนึงถึงความรู้ชัดในประโยชน์และความเหมาะควรเป็นเบื้องต้นตามที่กล่าวมา...

ดังกรณี เรื่องของการสนับสนุนให้มีการปลูก-การเสพกัญชาอย่างเสรี นี่มันถูกไหม ถ้ากัญชาคือยาเสพติด มันก็ผิด.. เท่ากับว่า รัฐบาลนี้ ประเทศนี้ สนับสนุนให้มีการผิดศีลข้อที่ ๕ เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายมากขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดตามมาในความมีประโยชน์บางส่วน แต่กลับทำให้เกิดโทษมหันต์ จะมีแต่ความหายนะ เพราะสารเสพติดทุกชนิดย่อมทำให้มึนเมา จิตใจเลื่อนลอย ขาดสติปัญญา.. คนในสังคมจะมีแต่สภาพจิตที่หลอกหลอนรื่นเริง ไร้จิตสำนึกที่เหมาะควร จะนำไปสู่ประชาคมที่อ่อนแอ เกียจคร้าน ไม่ขยันขันแข็งในการทำกิจการงานตามหน้าที่ของตน ยิ่งหากกัญชาเข้าไปในโรงเรียนทั้งหลาย ก็คงได้เห็นเด็กมานั่งตาปรือผีกัญชาเข้าสิง.. ครูก็เสพ พ่อแม่ก็เสพ สังคมมีแต่พวกนั่งยิ้มตาปรือกันเป็นทิวแถว ไม่นาน สังคม ประเทศชาติ ก็คงล่มจม..หายนะ สรุปว่าในที่สุด ในประโยชน์ที่มีส่วนน้อย แต่กลับมีโทษส่วนใหญ่แฝงอยู่.. จึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะไม่เหมาะควร .. ที่จะส่งเสริมให้เกิดการปลูก.. การเสพเสรี ตามที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามรณรงค์ โน้มน้าวสังคมไปตามทิฏฐิของตนเองและหมู่คณะที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ.. แท้จริง!!!

จึงควรพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อต้องทำหน้าที่ในนามรัฐบาลของประชาชน ที่จะต้องทำประโยชน์ให้กับประชาชน จึงควรคำนึงถึงประโยชน์โดยธรรมะเป็นสำคัญที่สุด เพราะ ถ้าการกระทำใดๆ มันขัดแย้งต่อธรรมะ แม้จะสบประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ก็ต้องทิ้งนะ จะเอาความคิดตนเองเป็นใหญ่โดยไม่เคารพธรรม.. ย่อมวิปลาสธรรม.. เป็นมิจฉาทิฏฐิ.. สมบูรณ์ เป็นมารแท้จริง มีแต่บาปกรรมเป็นสิ่งตอบแทนในฐานะตัวการ.. ให้มีการกระทำในมิจฉาธรรมทั้งหลาย...

พระเถระที่ท่านบรรลุคุณธรรมชั้นสูงรูปหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านเป็นฆราวาส เป็นครูสอนโรงเรียนพวกฝึกหัดการเกษตรในสมัยก่อน ท่านบอกว่าท่านก็ไปแนะนำให้นักเรียนตอนไก่..

ต่อมาเมื่อบวชเป็นพระ ได้ศึกษาปฏิบัติจนบรรลุคุณธรรมชั้นสูง.. วันหนึ่งท่านปวดที่อัณฑะ ปวดมาก.. ทรมานมาก จนต้องไปเข้ารับการผ่าตัด ท่านได้กำหนดจิตดูว่าวิบากกรรมอันใดหนอ.. ทำให้ท่านเป็นเช่นนี้ ภาพปรากฏขึ้นมาให้เห็นการกระทำเมื่อตอนที่เป็นครูโรงเรียนฝึกหัดการเกษตร ที่ไปแนะนำให้เด็กนักเรียนตอนไก่.. จึงกล่าวเสมอ.. หากใครจะไปเรียนเรื่องวิชาที่เกี่ยวกับการปาณาติปาตา.. พึงอย่าได้ไปเรียนเลย บาปกรรมที่เกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะย้อนกลับมาให้โทษต่อผู้กระทำ อันเป็นไปตาม “กฎแห่งกรรม” ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้...

เหมือนคนที่ขายสัตว์ ขายชีวิต แม้กุ้งหอยปูปลาทั้งหลาย ไม่มีบ้านไหนครอบครัวไหนได้ดีสักราย เจ็บไข้ได้ป่วยสาหัส ค้าชีวิต ค้ามังสะ ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้าน้ำเมา ค้าอาวุธ เป็นมิจฉาวณิชชา ปิดมรรค ปิดผล ไปไม่ได้เลย.. เพื่อความดับทุกข์.. ปิดสวรรค์ ปิดนิพพาน!

ใครที่ค้าน้ำเมาจนร่ำรวย ใครค้าอาวุธจนร่ำรวย ไม่ได้ดีหรอก พวกประเทศที่ค้าอาวุธสงครามทั้งหลาย ที่สุดเห็นไหมต้องมายิงกันเอง อาวุธมากก็ฆ่ากันมาก และในที่สุดด้วยวิบากกรรมที่เร็วกว่าจรวดมิสไซล์ ก็จะส่งผลย้อนกลับมาถล่มประเทศตนเองนั่นแหละให้ระวัง ให้ระวังไว้สิ่งที่ทำไว้.. จำไว้นะ ที่สุด.. ไม่มีใครเก่งเกินกรรม!.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ฟีฟ่า'ลงบทความ ชื่นชมฟุตซอลไทย และการเป็นเจ้าภาพที่ยอดเยี่ยม

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า เขียนบทความชื่นชม ฟุตซอลทีมชาติไทย ที่มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน FIFA Futsal World Cup

สมหมาย ภาษี -อดีตรมว.คลัง รัฐบาล-ฝ่ายการเมืองต้องหยุด ยุ่มย่าม ก้าวก่าย “แบงก์ชาติ”

การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หลังได้”ขุนคลังคนใหม่-พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง”หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร น่าติดตามอย่างยิ่ง

คนเถื่อนที่ไร้ธรรม .. ในวิกฤตการณ์โลกเดือด!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะวิกฤตการณ์ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ก่อเกิดสภาวะโลกร้อน (Global warming) อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา