กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

หากคิดว่าผิดก็ดำเนินคดีเลย อย่าไปขู่ การขู่ทำให้สับสน กกต.ควรพยายามทำให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด แล้วจะไปกันเขาทำไม ไม่ให้เขาลงสมัคร เจตนามันก็ไม่ดี ส่อทำให้เห็นว่าเฉพาะคนที่ตัวเองต้องการให้ลงสมัครเท่านั้นหรือ ถึงได้ออกมาแบบนี้

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.)  ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ...ชุดใหม่ และทำให้หลังจากนี้คาดว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 พ.ค. และประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครในวันที่ 13 พ.ค., กำหนดวันเลือก สว.ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิ.ย., กำหนดวันเลือก สว.ระดับจังหวัดในวันที่ 16 มิ.ย. และกำหนดวันเลือก สว.ระดับประเทศในวันที่ 26 มิ.ย. โดยคาดว่าจะประกาศผลการเลือก สว.ในวันที่ 2 ก.ค.

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจาก “สำนักงานคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​” (กกต.)​ เพราะ กกต.ได้เผยแพร่ข้อความในลักษณะประกาศแจ้งเตือนในเพจอย่างเป็นทางการของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีเนื้อหาระบุว่า

....ตามที่มีกลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กรจัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ/ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม 20 กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ  ที่ปรากฏในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ

...ปรากฏว่า มีบุคคลที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นจำนวนมาก กรอกข้อมูลส่วนตัว จุดยืน วิสัยทัศน์ และข้อมูลอื่นๆ ลงในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้จัดแคมเปญทำการรวบรวมรายชื่อผู้สมัคร เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของตนเอง อันเป็นการจัดตั้งบุคคลให้มาเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา นั้น

การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงขอแจ้งให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา อย่าได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือกรอกข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งจุดยืนของตนเองให้เผยแพร่และปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ใดๆ

ประกาศของ กกต.ดังกล่าวระบุตอนท้ายว่า "สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รวบรวมข้อเท็จจริง  ข้อมูล และพยานหลักฐานตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือมีผู้ร้องเรียนว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย สำนักงานฯ จะดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายในทันที จึงขอให้ยกเลิกและยุติการกระทำดังกล่าว"

การประกาศแจ้งเตือนดังกล่าวของสำนักงาน กกต. ทำให้มีความเห็นตามมา โดยเฉพาะจากแกนนำ "คณะก้าวหน้า" ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นแกนนำในฐานะประธานคณะก้าวหน้า

โดยที่ผ่านมาคณะก้าวหน้าได้เปิดตัว เคลื่อนไหวรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนไปลงสมัครคัดเลือกเป็น สว.มาต่อเนื่อง โดยมีการเดินสายไปเคลื่อนไหวรณรงค์ในหลายจังหวัด และล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “ธนาธร” ก็เปิดแถลงข่าว เปิดแคมเปญ "สว.ประชาชน" เพื่อเชิญชวนให้คนไปลงสมัครคัดเลือกเป็น สว. และคาดหวังให้มี “สว. ประชาชน" อย่างน้อย 70 คน จาก 200 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของวุฒิสภา เพื่อให้ไปออกเสียงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

คณะก้าวหน้า ประสานเสียง ข้องใจท่าที-บทบาท กกต.

การออกมาเตือนของสำนักงาน กกต. จึงทำให้ถูกมองว่าพุ่งเป้าไปที่ คณะก้าวหน้าและแนวร่วมต่างๆ ที่เคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้แผนการรณรงค์ให้คนไปลงสมัคร สว.ตามแคมเปญ สว.ประชาชน ของ "ธนาธร-คณะก้าวหน้า" อาจได้รับผลกระทบ

"ช่อ" พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยโพสต์" ถึงประเด็นนี้ว่า ทาง กกต.มีการออกระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ซึ่งเท่าที่อ่านพบว่าคณะก้าวหน้าไม่ได้ทำอะไรที่ผิดระเบียบของ กกต. เพราะประธาน กกต.ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า การที่มีการรณรงค์ให้คนไปลงสมัครคัดเลือกเป็น สว.ไม่ได้เป็นการทำผิดอะไร เพราะเป็นการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่ง กกต.ก็ทำเช่นกัน ตัวระเบียบก็สอดคล้องไปในทางเดียวกันกับที่ประธาน กกต.เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังให้มี "ผู้ช่วยผู้สมัคร” ในการช่วยแนะนำตัวได้ด้วย ซึ่งก็คล้ายกับผู้ช่วยหาเสียงในกรณีของ สส.

...อย่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ทางคุณธนาธรหรือตัวเราเอง ก็เป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ซึ่งของสว.ก็มีการออกระเบียบมาแล้ว ให้มีผู้ช่วยแนะนำตัวได้ด้วย  โดยให้ทำได้จนถึงวันที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือก สว. โดยหลังมีพระราชกฤษฎีกาการเลือก สว.ออกมาแล้วก็จะทำไม่ได้ ที่จะทำให้สามารถไปช่วยแนะนำตัวได้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้

ช่อ พรรณิการ์” กล่าวต่อไปว่า แต่ปรากฏว่าทาง กกต.ก็กลับมีการโพสต์เฟซบุ๊กออกมาด้วย ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเนื้อหาในส่วนที่สำนักงาน กกต.โพสต์ไว้มีปัญหามาก นั่นก็คือการที่บอกว่า การที่มีการรณรงค์เป็นกลุ่มแล้วให้ประชาชนไปแสดงตัวเป็นผู้ลงสมัคร อันนี้คือการพูดถึง  Senate67 ที่เป็นเว็บไซต์ของภาคประชาสังคมที่เป็นการรณรงค์ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคณะก้าวหน้าก็จริง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่คณะก้าวหน้าจะพูดอยู่เสมอในการรณรงค์ ว่า ประชาชนที่สนใจจะลงสมัคร สามารถที่จะไปแสดงตัวในเว็บไซต์ https://senate67.com ได้ เพราะว่าการให้ประชาชนไปเลือก สว.โดยเจตจำนงเสรี ประชาชนต้องรู้ว่าในพื้นที่ของเขา ในกลุ่มของเขา มีใครไปลงสมัครคัดเลือกบ้าง ก็ใช้ https://senate67.com เป็นเครื่องมือได้ แต่กลายเป็นว่า กกต.มาโพสต์เฟซบุ๊กว่า senate67 ทำผิดกฎหมาย และมีการเก็บข้อมูลไว้แล้วด้วย

...มีการข่มขู่ทำนองว่า หากใครไปแสดงตัวตรงนั้นจะผิดกฎหมาย ในทำนองว่าจะโดนใบแดงอะไรตามมา ซึ่งหากไปอ่านตัวระเบียบที่ กกต.ออกมาเอง จะพบว่าไม่มีข้อไหนเลยในระเบียบที่ออกมาตามกฎหมาย ที่ระบุว่า senate67 ทำผิด แต่กลับมีการออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ที่ขอถามว่าโพสต์เฟซบุ๊กมีสถานะทางกฎหมายอะไร กกต.ใช้ระเบียบ ข้อบังคับหรือกฎหมายข้อไหน หรืออำนาจอะไรมาบังคับใช้สิ่งที่ปรากฏในโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวของสำนักงาน กกต.

เรื่องนี้คิดว่าทางภาคประชาสังคม ที่เป็นเจ้าของ https://senate67.com ก็น่าจะต้องออกมาต่อสู้กับ กกต. และในความเป็นจริง ก็สามารถฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีการคุ้มครองชั่วคราวได้

แต่ลำดับแรกเรื่องนี้ไม่แฟร์ การเลือก สว. ทาง กกต.มีหน้าที่ต้องทำให้การเลือก สว. ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมโดยสะดวกที่สุด ซึ่ง senate67 เป็นพื้นที่กลาง ไม่ใช่พื้นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าใครสนใจลงสมัคร จะมีแนวคิด จุดยืน อุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน ก็ไปแสดงตัวในเว็บไซต์ senate67 ได้ทั้งหมด ไม่ได้เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน จึงไม่มีทางที่ senate67 จะผิดกฎหมาย และระเบียบของ กกต.เองก็ไม่ได้ระบุว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายด้วยซ้ำ”

ช่อ พรรณิการ์ โฆษกคณะก้าวหน้า” กล่าวต่อไปว่า  กกต.กำลังทำงานที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือก สว. ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นสำหรับหน้าที่ของ กกต. ทั้งที่ควรต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชน สำหรับคณะก้าวหน้าก็คงจะรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพราะว่ามีเวลาจำกัด เราคงทำงานได้ไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคม เพราะว่าเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว.ออกมา จะไม่สามารถรณรงค์หรือแนะนำตัวผู้สมัคร สว.ได้ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ ก็ต้องเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนไปร่วมกันลงสมัคร สว.ให้มากที่สุด แคมเปญของเราก็จะเดินหน้าต่อไป ก็จะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้มาซึ่ง สว.ประชาชนให้ได้มากที่สุด

ซัด กกต.เจตนาไม่ดี

ด้าน "ชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่” กล่าวกับ "ไทยโพสต์" ว่า ที่ กกต.บอกว่าเข้าข่ายชวนประชาชนไปสมัครแล้วผิดกฎหมายนั้น กฎหมายมีหลายระดับ ต้องบอกว่าเป็นกฎหมายใด ซึ่งกฎหมายใหญ่สุดก็คือรัฐธรรมนูญ รองลงมา ก็ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งดูยังไงก็ไม่ผิด โดยหากคิดว่าผิดก็ดำเนินคดีเลย อย่าไปขู่ การขู่ทำให้สับสน เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งควรพยายามทำให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิให้มากที่สุด แล้วจะไปกันเขาทำไมไม่ให้เขาลงสมัคร

เจตนามันก็ไม่ดี ส่อทำให้เห็นว่า เฉพาะคนที่ตัวเองต้องการให้ลงสมัครเท่านั้นหรือ ถึงได้ออกมาแบบนี้”

ชำนาญ-แกนนำคณะก้าวหน้า” ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวรณรงค์ของคณะก้าวหน้าทำโดยถูกต้อง เพราะดูจากข้อกฎหมายแล้ว ทั้งตัวบทและเรื่องหลักการประชาธิปไตย มันไม่ผิด และยิ่งหากเป็นผู้สมัครลง สว.ยิ่งไม่เกี่ยวเลย เพราะก็ไม่ได้บอกว่าให้ไปเลือกใคร เพราะการชวนคนให้ไปใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมันจะผิดกฎหมายตรงไหน ไม่ได้บอกว่าให้เลือกคนไหน ไม่ได้บอกให้เลือกฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มีคำนี้สักคำเลยด้วยซ้ำ เราเพียงแต่บอกว่าให้ไปลงสมัครกันให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันหากมีการบล็อกโหวตหรือมีคนจัดตั้งกันมา ก็ทำลายการผูกขาด ทำลายการจัดตั้ง อันนี้คือหากสมมุติว่ามี

ชำนาญ-แกนนำคณะก้าวหน้า" มองท่าทีของ กกต.ดังกล่าวว่าอาจเกิดจากมีคนท้วงไปที่ กกต. พวกผู้มีบารมีทั้งหลายก็คงท้วงไปที่ กกต. เช่นบอกว่าให้ทำอะไรสักอย่าง ไปคุมหน่อยแบบนี้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าด้วยระบบ (การเลือก สว.) ที่ออกมาแบบพิสดาร ที่ให้มีการเลือกสามระดับ (อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ) ซึ่งเลือกคนในกลุ่มเดียวกันกับตัวเอง ก็ยังพอได้อยู่เพราะยังพอรู้จักกันอยู่ แต่ให้ไปเลือกผู้สมัครแบบไขว้ มันก็ผิดหลักอยู่แล้ว เพราะมันไม่มีทางเลยที่จะไปรู้จักคนอื่น ยากมาก

เรื่องนี้หากจะอ้างว่าผิดกฎหมาย ต้องบอกให้ชัดว่ากฎหมายอะไร ระเบียบข้อไหน มาตราไหน บทบัญญัติเกี่ยวกับอะไร โทษมีอะไรบ้าง ไม่ใช่มาขู่กันเฉยๆ แบบนี้ไม่ดี”

...สำหรับระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัคร เท่าที่ดูก็จะคล้ายกับที่เคยทำในอดีต ที่จะบอกว่าผู้สมัคร สว.แนะนำตัวได้แค่ไหน อย่างไร ลงได้ไม่เกินกี่หน้ากระดาษ ประวัติที่นำเสนอไปมีไม่เกินกี่บรรทัด แต่หากจะถึงกับขู่ว่าไม่ให้รณรงค์ ไม่ให้คนไปลงสมัคร สว. อันนี้ก็เกินไป แต่ก็คงไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคสำหรับการทำงานของคณะก้าวหน้า  และผลงานของ กกต.ที่ผ่านมา คนเขาก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นอย่างไร ผมว่าไม่มีใครฟัง แต่โอเคอาจทำให้คนลังเลบ้าง แต่ว่าคนที่เขาสนใจจะลงสมัคร สว. เขาสนใจว่าถ้าไปลงสมัคร คัดเลือกแล้ว หากเข้าไปเป็น สว.จะมีสิทธิอะไรต่างๆ เช่นสิทธิในการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้ออกมาสมัคร สว.กันเยอะๆ

เปิดระเบียบ กกต. แนะนำตัวลงสมัคร 

สำหรับ "ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567" ที่ลงนามโดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่าได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2567

โดยสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถแนะนำตัวได้นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยผู้สมัครสามารถมีผู้ช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวได้ และได้กำหนดวิธีการแนะนำตัวว่า กรณีใช้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร เอกสารต้องมีขนาดไม่เกินเอ 4 หรือขนาด 210  มิลลิเมตร X 297 มิลลิเมตร ระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า และการแจกเอกสารแนะนำตัวตาม จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้ 

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครและเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น ส่วนการมีผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนั้น ให้ผู้สมัครแจ้งชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัครหรือแจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก่อนวันดำเนินการ ยกเว้น สามี ภรรยาหรือบุตร 

โดยระเบียบดังกล่าวยังกำหนด "ข้อห้ามในการแนะนำตัว" ที่สำคัญไว้ คือ

1.ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว  

 2.นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีผลใช้บังคับการแนะนำตัว ไปจนถึงวันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้

2.1 กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

2.2 ห้ามผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง  นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว  

2.3 ห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ

2.4 ห้ามแนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

2.5 ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล 

 2.6 จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้    

  3.ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใด ในพรรคการเมือง  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ.

                                                      โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนเถื่อนที่ไร้ธรรม .. ในวิกฤตการณ์โลกเดือด!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะวิกฤตการณ์ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ก่อเกิดสภาวะโลกร้อน (Global warming) อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก

เคาต์ดาวน์สว.5ปีอำลาเก้าอี้ จับตาเลือกตะลุมบอนรอบใหม่

เคาต์ดาวน์สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 11 พ.ค.นี้ บางคนบอกลากันทีชุดลากตั้ง ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ให้กำเนิด และมาพร้อมกับอำนาจพิเศษที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

ถาม ‘ธนาธร’ ฮั้วกระบวนการเลือกตั้ง คือการสร้างประชาธิปไตยจริงหรือ?

ที่ประกาศว่าจะมาสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย และประกาศว่าประเทศไทยต้องมีผู้นำที่ชื่อ ธนาธร เท่านั้นถึงจะเป็นประชาธิปไตย

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ