จากการระบาดของโควิด-19 ถึงภาวะเงินเฟ้อ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะรุนแรงและยาวนานต่อแรงงานนอกระบบ

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานคร (WIEGO, 2565) สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อกลางปี 2564 คนทำงานนอกระบบ หรือคนทำงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานส่วนใหญ่ มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ก่อนเกิดการแพร่ระบาด ในช่วงการแพร่ระบาดพวกเขาต้องนำเงินออมที่มีออกมาใช้ กู้หนี้ยืมสิน อดมื้อกินมื้อ พยายามปรับตัว หาทางรอด ด้วยการทำงานเดิม หรือทำงานอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้มีรายได้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แรงงานนอกระบบจึงถือเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบทางเศรฐกิจที่รุนแรง และมีความเสี่ยงสูงมากในการกลับมาฟื้นตัว แรงงานบางคนถึงกับกล่าวว่า เขาคงต้องใช้เวลาอีก 5 ถึง 6 ปี จึงจะกลับมามีสถานะทางเศรฐกิจเหมือนเช่นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19


ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มมีความกังวลว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะที่ใกล้เคียงกับภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตเพียงเล็กน้อย หรือแทบจะไม่เติบโตเลย ด้วยอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเร็วกว่าปกติ หรือที่เรียกในทางเทคนิคว่า “Stagflation” อันเป็นส่วนผสมระหว่างสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตน้อย (stagnation) และระดับราคาสินค่าเพิ่มสูงขึ้น หรือเงินเฟ้อ (Inflation)


แม้ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้ เข้าสู่สภาวะ Stagflation แล้วหรือยัง หรือจะเข้าสู่สภาวะ Stagflation เมื่อใด แต่ปัญหาสำคัญเร่งด่วนอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ คือ ปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาภาระค่าครองชีพ ซึ่งปรากฏชัดเจนจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิถุนายน 2565 ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.66% และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก อัตราเงินเงินเฟ้อ7.66% นับเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบปี และสูงสุดในรอบ 13 ปี ตัวเลขเงินเฟ้อสะท้อนให้เห็นว่าราคาของสินค้า เช่น ค่าอาหาร เสื้อผ้า สบู่แชมพู และบริการอื่นๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ารถโดยสาร ค่าไฟฟ้า ค่ารักษาพยาบาล ค่ารถรับส่งนักเรียน มีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินในกระเป๋าของคนทำงานมีมูลค่าน้อยลง จากเดิมเมื่อปีที่แล้วหากนำเงิน 1,000 บาท ไปซื้อของจำเป็นได้ของมาครบตามที่ต้องการ แต่วันนี้ ต้องจ่ายเงินมากขึ้น เป็น 1,077 บาท เพื่อให้ได้ของจำเป็นเท่าเดิม หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น คือ ค่าของเงิน 100 บาท ตอนนี้หายไปประมาณ 8 บาท และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต่างรู้สึกได้ว่าสินค้าและบริการในเวลานี้มีราคาสูงมากขึ้น


ภาวะเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูงเช่นนี้อาจมีผลกระทบต่อแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ใน 3 ลักษณะ

1) ฐานะผู้บริโภคที่ต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้องบริโภค เดินทาง จ่ายค่าที่พักอาศัย ค่าสาธารณูปโภค สำหรับตนเอง และผู้อยู่ในอุปการะ รายได้จากการทำงานที่เท่าเดิมของแรงงานจะมีมูลค่าลดลง แม้ว่าทุกคนจะเผชิญปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อเท่ากันที่ 7.66% แต่ภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านค่าอาหารที่สูงกว่า (ศูนย์วิจัยกรุงศรี, 2565) นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ไม่มั่นคง รูปแบบการจ้างงานที่ไม่แน่นอน โดยมีรายได้เป็นรายวัน รายครั้ง รายรอบ รายชั่วโมง หรือรายชิ้น รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคโควิด-19

2) ฐานะผู้ประกอบการที่ต้องลงทุนซื้อวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต อย่างกลุ่มผู้ค้าแผงลอย ผู้ขายอาหาร ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง หรือขับรถรับจ้างอิสระ อัตราเงินเฟ้อส่งผลให้ต้นทุนการประกอบอาชีพเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาพลังงาน และราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น (สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, 2565) เช่น หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ) สูงขึ้นร้อยละ 14.75, กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 12.98, กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 5.38, กลุ่มผักสด พริกสด หัวหอมแดง ต้นหอม สูงขึ้นร้อยละ 1.53, กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร น้ำมันพืช ซีอิ้ว สูงขึ้นร้อยละ 11.48 ต้นทุนการประกอบอาชีพที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ทำให้คนทำงานบางส่วนปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุน ในขณะที่คนทำงานส่วนใหญ่ยังไม่ปรับราคาสินค้า หรือปรับราคาสินค้าและค่าบริการไม่ได้ด้วยเงื่อนไขด้านกฏหมาย และข้อกำหนดบางประการ

3) ผลกระทบสุดท้ายของปัญหาเงินเฟ้อต่อคนทำงานทุกคน คือ แนวโน้มการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งในทางทฤษฏีแล้วจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลัง ด้วยการจัดเก็บภาษี ลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่ไม่จำเป็น รวมถึงการใช้นโยบายการเงินด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย (เงินฝาก และเงินกู้) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจ สร้างอุปสรรคสำคัญกับภาระหนี้สินของคนทำงานที่กำลังผ่อนชำระอยู่ และส่งผลให้การฟื้นฟูชีวิตและงานของคนทำงานที่มีรายได้น้อยทำได้ยากลำบากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาวะที่ผู้บริโภคทั่วไปจำเป็นต้องรัดเข็มขัดในการใช้จ่าย เมื่อผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขายสินค้าได้น้อยลง กำไรที่ได้ก็ลดลง จนอาจทำให้ต้องปลดคนงาน ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อครอบครัวของคนทำงาน และยิ่งส่งผลมากขึ้นเมื่อครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวของแรงงานนอกระบบที่มีความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงทางรายได้อยู่แล้ว

ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่แน่นอนว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ต่อเนื่องมาที่ภาวะการตึงตัวทางเศรษฐกิจ และการมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงจะยืดเวลาของการฟื้นตัวของคนทำงานต่อไปจากเดิม 5 – 6 ปี หรืออาจนาน 8 – 10 ปี การฟื้นฟูชีวิตและสังคมของคนทำงานนอกระบบให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเป็นความท้าทายของทุกๆ คน และทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาหนุนช่วยในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะเรื่องของการสร้างงานและสวัสดิการทางสังคม ในด้านการสร้างงานรัฐต้องสนับสนุนให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างมีศักดิ์ศรี โดยการลดเงื่อนไขกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากกับการทำมาหากิน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนแหล่งทุนปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนให้คนทำงานสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะ ตลาด และเทคโนโลยีที่จำเป็น นอกจากนี้ รัฐจำเป็นต้องตรึงราคาพลังงาน ลดภาระค่าครองชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ดูแลสุขภาพ และที่อยู่อาศัยที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิตคนทำงาน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนทำงานได้มีโอกาสรวมกลุ่ม เพื่อสะท้อนปัญหา และความต้องการที่เหมาะสมสำหรับคนทำงานแต่ละกลุ่ม

ในภาพรวมของสังคม ทุกๆ คน ทุกๆ ภาคส่วน ทั้งคนทำงานในระบบ คนทำงานนอกระบบ คนเปราะบาง คนชั้นกลางในสังคม จำเป็นจะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูล ช่วยเหลือ และแบ่งปัน เราต้องช่วยกันสนับสนุนแรงงานผู้ที่มีรายได้น้อย ด้วยการอุดหนุนสินค้าของพวกเขา สร้างโอกาส สร้างพื้นที่ให้เขาได้ทำมาหากิน เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบทเรียนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่แต่ละกลุ่มพัฒนาขึ้น เพื่อก้าวผ่านความยากลำบากนี้ เช่นเดียวกับบทเรียนที่เราได้ร่วมต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดและสาธารณสุขที่ผ่านมา

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์
ดร.บวร ทรัพย์สิงห์ และวิชยา โกมินทร์
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายการอ้างอิง
https://www.wiego.org/sites/default/files/publications/file/WIEGO_FactSheet_Bangkok_Final_web.pdf
https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_admin_sum/indices_all.pdf
https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/inflation-unevenrecovery
https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_admin_sum/indices_all.pdf

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แผนแม่บท’หญ้าแฝก’ ชูรับมือสภาพอากาศสุดขั้ว

ขณะนี้แผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566 – 2570) ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดทำเสร็จสมบูรณ์