แผนแม่บท’หญ้าแฝก’ ชูรับมือสภาพอากาศสุดขั้ว

ขณะนี้แผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566 – 2570) ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดทำเสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติตามแนวพระราชดำริการใช้หญ้าแฝกอนุรักษ์ดินและน้ำ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จากเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแผนแม่บทการพัฒนาและการรณรงค์ใช้หญ้าแฝกฯ ฉบับที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันก่อน ชูประเด็นกลยุทธ์เชิงรุกในการใช้หญ้าแฝกเป็นทางออกของการปรับตัวและตั้งรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน การรับมือภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และการขับเคลื่อนโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG   อีกทั้งมุ่งใช้หญ้าแฝกป้องกันภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และภัยแล้ง ควบคู่การขยายเครือข่ายการใช้หญ้าแฝกในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไหลกลับเข้าสู่ภาคเกษตรหลังการแพร่ระบาดโควิด 19 ผลักดันให้เป็นจุดเปลี่ยนของการใช้หญ้าแฝกหนุนเสริมในภาคเกษตรกรรม   

ทั้งนี้ ในแผนแม่บทฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการระยะ  1 ปี จะมีพื้นที่ปลูกแฝก 5 แสนไร่ ระยะ 3 ปี มีพื้นที่ปลูกแฝก 1.5 ล้านไร่ และระยะ 5 ปี ภาพฝันจะมีพื้นที่ปลูกแฝก 2 ล้านไร่ ทั่วประเทศ

จรัลธาดา กรรณสูต  องคมนตรี  ประธานการสัมมนาฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาการใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริดำเนินการมากว่า 30 ปี ปัจจุบันเข้าสู่แผนแม่บทพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ฉบับที่ 7  การรณรงค์การใช้หญ้าแฝกเป็นกลไกความร่วมมือสำคัญเพื่อให้เกิดการพัฒนา ส่งเสริม ขยายผล ผลการรณรงค์ที่ผ่านมาเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเกษตรกร ชุมชน และพื้นที่เสื่อมโทรม รวมถึงพื้นที่อื่นๆ หลายมิติ เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ร่วมสนองแนวพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง แผนฉบับบี้ให้ความสำคัญการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการใช้หญ้าแฝกอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม   ซึ่งแผนแม่บท ฉบับที่ 7 หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะบรรลุเป้าหมาย

ผศ.ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย  อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การใช้หญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริเริ่มต้นปี 2534  นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ อย่างเป็นรูปธรรม  และจัดทำแผนแม่บทหญ้าแฝกฯ ฉบับที่ 1 ปี 2536  จนถึงปัจจุบัน 6 ฉบับ  ฉบับแรกเน้นศึกษาวิจัย ฉบับที่ 2 นำความรู้ขยายผลสู่กลุ่มเกษตรกรเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ในหลวงทรงเห็นว่า หญ้าแฝกเป็นเทคโนโลยีแบบง่าย ราคาถูก เหมาะกับเกษตรกร แผนฉบับ 3-4 ชูกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะรากหญ้าแฝกดูดซับสารพิษได้ มาสู่แผนฉบับ 6  เริ่มใช้หญ้าแฝกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ปี 65 สถาบันวิจัยสังคมได้รับมอบหมายจาก กปร. ให้จัดทำแผนแม่บท ฉบับที่ 7  ซึ่งจากงานวิจัยและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะไทย  แผนนี้จึงเน้นการใช้หญ้าแฝกรับมือกับความเสี่ยงใหม่อย่างภัยพิบัติดินถล่มที่จะเกิดถี่ขึ้น จากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ซึ่งรากหญ้าแฝกเป็นหนึ่งในเครื่องมือรับมือและป้องกันภัยพิบัตินี้ได้ เราเห็นว่าต้องเร่งมือให้ทันกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

แผนแม่บทหญ้าแฝก มี 3 ยุทธศาสตร์ใหญ่ ผศ.ดร.อุ่นเรือน กล่าวว่า ยุทศาสตร์ที่ 1  สืบสาน วัฒนธรรมการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ ดินไม่ดี น้ำไม่ดี ให้นึกถึงการใช้หญ้าแฝกเป็นอันดับแรก โดยมีมาตรการทำธนาคารหญ้าแฝกในพื้นที่ พันธุ์หญ้าแฝกที่ใช้เหมาะกับพื้นที่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 รักษา เผยแพร่และสร้างองค์ความรู้การใช้หญ้าแฝกสู่การเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเน้นวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการรับมือและป้องกันภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้หญ้าแฝกในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม การปลูกหญ้าแฝกลอยน้ำบำบัดน้ำเน่าเสีย โดยเฉพาะในเขตเมือง  แหล่งน้ำในพื้นที่เสื่อมโทรมปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ใช้แฝกมากว่าอนุรักษ์ดินและน้ำ และยุทธศาสตร์ที่ 3 ต่อยอด ขยายผลสู่การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในระดับชุมชน ที่ไม่ใช่แค่เกษตรกร และเครือข่ายนานาชาติ

ด้าน.ดร.สุเชษฐ์  ลิขิตเลอสรวง  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีงานวิจัยยืนยันว่าระบบหญ้าแฝกมีประสิทธิภาพต่อการรักษาเสถียรภาพลาดดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เพราะรากหญ้าแฝกมีการยึดโยงมวลดินให้เกาะยึดกันให้แน่นขึ้น ช่วยเสริมกำลังดิน    มีพื้นที่ตัวอย่างบ้านห้วยหมี จ.น่าน เป็นหมู่บ้านชาวลั๊วะ ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม มีการประยุกต์ใช้หญ้าแฝกร่วมกับวิธีกลและพืชอื่น ๆ เช่น ไม้ไผ่ เพื่อป้องกันภัยพิบัติดินถล่ม  นวัตกรรมหญ้าแฝกเหมาะกับพื้นที่ เพราะพื้นที่นี้ไม่สามารถใช้โครงสร้างเชิงวิศวกรรมป้องกันได้ ผิดกฎหมาย รวมถึงต้องใช้งบฯ มหาศาล ทำให้ชุมชนรอดพ้นจากภัยพิบัติ ขณะที่ชุมชนอื่นมีคนเจ็บและตายจากภัยดินถล่ม

“ ส่วนการใช้หญ้าแฝกรับมือภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะลากยาวในไทย  ชุมชนต่างๆ สามารถปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อหรือแหล่งน้ำในชุมชน เพราะระดับน้ำน้อย ดินแห้ง แตกระแหง ดินพังทลาย หญ้าแฝกมีคุณสมบัติยึดหน้าดิน  นอกจากนี้ หญ้าแฝกทำให้วัฎจักรอุทกวิทยาหรือวงรอบการเปลี่ยนแปลงน้ำกระชับขึ้น  นี่คือ ประโยชน์โดยตรง ทางอ้อมระบบหญ้าแฝกยังดูดซับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร  นอกจากนี้ มีงานวิจัยชี้คุณสมบัติของหญ้าแฝกมีส่วนกักเก็บคาร์บอนในดิน แต่ยังต้องมีงานวิจัยเชิงลึกมากขึ้น เพราะหญ้าแฝกไม่ใช่ต้นไม้ยืนต้น  ตามสถิติวงจรชีวิต 3-4 ปี     “  ศ.ดร.สุเชษฐ์ ให้ภาพหญ้าแฝกสู้โลกร้อน

สำหรับภัยคุกคามของหญ้าแฝก ศ.ดร.สุเชษฐ์ ระบุชัด คือ คน เมื่อคนไม่เห็นประโยชน์จะเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกหญ้าแฝกหรือพื้นที่ขยายผลไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ข้าวโพด กาแฟ พืชเศรษฐกิจ เพราะเกษตรกรไม่มีที่ดินของตัวเอง เช่าที่ทำเกษตร  อย่างไรก็ตาม หญ้าแฝกไม่ใช่พืชที่ปลูกแล้วสร้างเงิน แต่ช่วยสร้างความมั่นคง ความยั่งยืนของระบบนิเวศ ซึ่งการพัฒนาโดยใช้หญ้าแฝกต้องเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน

ด้าน ดร.พิทยากร ลิ้มทอง  คณะอนุกรรมการดำเนินการและติดตามประเมินผลโครงการฯ เสนอแนะผ่านเวทีสัมมนาว่า ในวงประชุมการใช้หญ้าแฝกระดับนานาชาติ มีความพยายามผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐต้องสร้างความรู้ให้เกษตรกรเห็นประโยชน์จากการใช้หญ้าแฝกมากขึ้น ในต่างประเทศมีการใช้หญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ท่องเที่ยว ขณะที่ไทยเน้นการใช้ในภาคเกษตรอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้านสิ่งแวดล้อมนักวิจัยต่างประเทศพูดถึงการใช้หญ้าแฝกดูดซับสารพิษจากดินและน้ำ รวมถึงระบบหญ้าแฝกบำบัดน้ำเสีย หนึ่งในผลงานที่คว้ารางวัลมีการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์บทบาทหญ้าแฝกในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด  งานวิจัยต่างชาติเน้นใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ มีการใช้ระบบเอไอติดตามและเชื่อมโยงข้อมูลพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านหญ้าแฝก ในอิตาลีและสเปนมีการปลูกหญ้าแฝกฟื้นฟูระบบนิเวศ  ปาปัวนิวกินีใช้หญ้าแฝกกันดินถล่ม  อีกทั้งพบการสร้างเครือข่ายในต่างประเทศและขยายการรณรงค์การใช้หญ้าแฝกในวงกว้าง  ส่วนแผนแม่บทนี้จะต้องมีแนวทางการสืบทอดความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งต้องดำเนินการแปลงแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 7 สู่การปฏิบัติ โดยมีหลายหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว  อาทิ กรมทางหลวง จัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี  (2566-2570)  แผนการใช้หญ้าแฝกบริเวณเชิงลาดทางในการบำรุงรักษาทางหลวงลดการพังทลายหน้าดิน   ปี 66 จะปลูกหญ้าแฝก 1.7 ล้านกล้า ปี 67 จะปลูก 4.4 หมื่นกล้า ปีต่อไปลดลงเหลือ 3 หมื่นกล้า และลดลงเหลือหมื่นกล้าตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแผนการใข้หญ้าแฝกด้านการสร้างสายทางอีก 2 แสนกว่ากล้า ภาพรวม 2,060,000 กล้า  

ส่วนสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานฯ จัดทำแผนแม่บทระยะ 5 ปี มีกิจกรรมพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำจำนวน 1,200 คน และมีโครงการฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำระยะที่ 1   รวมถึงมีโครงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  หน่วยงานภาคเอกชน เช่น บริษัท ปตท. มีโครงกาประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การออกแบบผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก  เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

42 ปี สำนักงาน กปร. สืบสานพระราชดำริ สร้างรากฐานชีวิตที่สมดุล

พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

4 ทศวรรษ กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถพิตร เกี่ยวกับโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อความกินดีอยู่ดี หรือพออยู่พอกินให้แก่ประชาชนในชนบทที่อยู่ห่างไกลและยากจน โ

จากการระบาดของโควิด-19 ถึงภาวะเงินเฟ้อ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะรุนแรงและยาวนานต่อแรงงานนอกระบบ

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานคร (WIEGO, 2565) สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อกลางปี 2564 คนทำงานนอกระบบ