การครอบงำทางการเมือง (Political Domination)

มีปรากฏการณ์หนึ่งในสังคมไทยในขณะนี้ที่บุคคลผู้หนึ่งที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่กลับใช้การสื่อสารติดต่อกับผู้นำของพรรคการเมืองให้เห็นคล้อยตามความคิดและความเชื่อของตัวเองได้ พฤติกรรมแบบนี้จะถือเป็นการครอบงำทางการเมืองหรือไม่?

การครอบงำทางการเมืองหมายถึงอะไร? และใช้กลไกอะไรในการครอบงำ?

มีนักปรัชญา นักคิดและนักทฤษฎีคนสำคัญของโลกอย่างน้อยที่สุด 4 ท่านที่ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวข้างต้น และสมควรกล่าวถึงคือ มาร์กซ, อัลทูแซร์ กรัมชี และฟูโกต์

มาร์กซ (Karl Marx) เป็นนักทฤษฎีชาวเยอรมัน และเป็นนักคิดคนแรกที่ตั้งคำถามว่าทำไมชนชั้นปกครองจำนวนหยิบมือเดียวจึงสามารถปกครองประชาชนจำนวนมากให้อยู่ในความสงบได้?

มาร์กซเจาะจงที่จะอธิบายปรากฏการของสังคม "ศักดินาฝรั่ง" (Feudalism) ในยุโรปโดยเฉพาะ เขาอธิบายว่าผู้ปกครองมิได้ใช้แต่กลไกความรุนแรงของรัฐ (Coercive State Apparatus) คือกำลังทหารและตำรวจเท่านั้นในการปกครองและควบคุมความ (ไม่) สงบในหมู่ประชาชน แต่ที่สำคัญก็คือผู้ปกครองยังใช้กลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological State Apparatuses) ในการทำให้ประชาชนอยู่ในความสงบด้วย มุมมองของมาร์กซช่วยเปิดเผยความเป็นจริงของทุกระบบการปกครอง ว่าการใช้แต่กลไกความรุนแรงของรัฐนั้นไม่สามารถควบคุมประชาชนให้อยู่ในความสงบได้ตลอดไป สิ่งที่จะช่วยทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในความสงบได้ยาวนานมากกว่าคือการควบคุมประชาชนด้วยการใช้อุดมการแห่งรัฐ

อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) นักทฤษฎีคนสำคัญชาวอิตาเลียน อธิบายเรื่องการครอบงำ ทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง จากสิ่งที่เขาเรียกว่า “Hegemony” เขาอธิบายว่า การครอบงำทางการเมืองของชนชั้นปกครองที่มีต่อประชาชนทั่วไปนั้นลงลึกไปถึงการครอบงำทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี จิตใจและรายละเอียดต่างๆ ในส่วนลึกของชีวิตประจำวันของประชาชนด้วย อาทิ บทเพลง ดนตรี และบทละคร เป็นต้น มุมมองของกรัมชีช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมประชาชนที่ถูกกดขี่และถูกครอบงำจากอุดมการณ์ของผู้ปกครองจึงไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่

มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักทฤษฎีคนสำคัญชาวฝรั่งเศส แห่งสำนักหลังสมัยใหม่นิยม (Post-Modernism) มองเรื่องการควบคุมทางด้านอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองต่อปัจเจกบุคคลทั่วไป จากทฤษฎีอำนาจ (Power) ของเขา เขาอธิบายว่าอำนาจของชนชั้นปกครองที่มีต่อผู้ใต้ปกครองแต่ละคนนั้น เป็นการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จทั้งทางร่างกาย การควบคุมทางความคิด การควบคุมการเคลื่อนไหวและการควบคุมทางด้านกายภาพ (ซึ่งเขาหมายถึงการจับกุมและคุมขังผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล) ฟูโกต์มองว่าในรัฐสมัยใหม่ ปัจเจกบุคคลล้วนแล้วตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจรัฐบาลในทุกๆ ด้าน ประชาชนแต่ละคนเปรียบเสมือนนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ ที่จะถูกสอดส่องจากผู้คุมอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เวลาตื่นนอนจนกระทั่งถึงเวลาเข้านอน และครอบคลุมไปถึงในเวลานอนหลับด้วย

สำหรับผมแล้ว อำนาจในสังคมไทย มีความแตกต่างจากอำนาจในสังคมตะวันตก ที่มีแต่อำนาจที่เป็นทางการ (Authority) แต่สำหรับสังคมไทยแล้วอำนาจมีทั้งที่เป็น "อำนาจที่เป็นทางการ" หรืออำนาจที่ถูกต้อง ตามกฎหมายที่รองรับการกระทำหนึ่งๆ อำนาจนี้อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเท่านั้น อำนาจชนิดนี้มีความชอบธรรมตามกฎหมาย

แต่ในสังคมไทยยังมีอำนาจอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายคือ "อำนาจที่ไม่เป็นทางการ" หรือ “อำนาจนอกระบบ” หรือการใช้ “อิทธิพล” หรือ “อำนาจป่าเถื่อน” ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับแต่อย่างใด

อำนาจประเภทนี้สามารถถูกใช้จากบุคคลที่อยู่ในระบบการเมืองและระบบราชการ คนกลุ่มนี้สามารถใช้อำนาจชนิดนี้ได้ก็เป็นเพราะเขาเป็นผู้ที่มีอำนาจครอบครองและควบคุมอยู่เหนือระบบการเมืองและระบบราชการ อำนาจที่เป็นทางการนี้ หากถูกนำไปใช้อย่างบิดเบือน (Abuse) ในทางที่ผิด เช่น การใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายไปแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพรรคพวก พฤติกรรมหรือการกระทำแบบนี้ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะถูกเรียกว่าการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว พฤติกรรมที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการคอร์รัปชันทางด้านเศรษฐกิจ หรือการคอร์รัปชันทางการเมือง (Economic & Political Corruption) ก็ได้

อำนาจชนิดที่ไม่เป็นทางการนี้ ยังอาจถูกใช้จากบุคคลนอกระบบการเมืองและนอกระบบราชการก็ได้ บุคคลที่สามารถใช้อำนาจที่กฎหมายไม่รองรับนี้มักเป็นอดีตนักการเมืองที่เคยมีตำแหน่งหน้าที่และบทบาทสำคัญทางการเมืองมาก่อน หรือเป็นอดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่เคยมีตำแหน่งสูง และนักธุรกิจที่มีทุนทรัพย์มาก และหรือนักธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า โดยทั่วไปแล้ว นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังมีอำนาจมักนิยมใช้อำนาจที่เป็นทางการควบคู่ไปกับการใช้อำนาจที่ไม่เป็นทางการ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา

จากแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ เรื่องการครอบงำทางการเมืองช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้ว่า ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง แต่กลับสามารถครอบงำทางการเมืองแก่พรรคการเมืองนั้นได้ เป็นเพราะมีปฏิบัติการด้านการสื่อสาร (Communication - ท่านที่สนใจการทำงานของการสื่อสารกับการแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ทางการเมืองควรอ่านงานของเยอร์เกน ฮาเบอร์มาส - Jurgen Harbermas - ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงงานนี้ เพราะอยู่นอกประเด็นที่เขียน) ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระหว่าง “ตัวการ” (Principal) กับ “ตัวแทน” (Agent)

การครอบงำทางความคิดและการครอบงำอุดมการณ์ทางการเมือง โดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น สามารถกระทำได้ด้วยการเสนอแนะนโยบายทางการเมือง คำขวัญทางการเมือง การเสนอแนะตัวบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี และการเสนอแนะว่าคุณสมบัติของบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนการให้คำสัญญาต่างๆ เป็นต้น

การครอบงำด้วยการชักจูงหรือจูงใจให้เห็นคล้อยตามความต้องการของตนนั้น เป็นการครอบงำรูปแบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการครอบงำทางด้านอุดมการณ์ แต่เป็นการครอบงำที่ใช้ Soft power “ตัวการ” หรือ “ตัวกระทำการ” สามารถกระทำการได้ เนื่องจากเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและมีทุนทรัพย์มาก

เช่นเดียวกันกับที่นักการเมืองระดับสูงที่ใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงพรรคการเมือง โดยต้องการเปลี่ยนแปลงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในพรรคที่เห็นแตกต่างจากตนทางการเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของตน จากพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ที่เขาสามารถกระทำการ เช่นว่านี้ได้ ก็เป็นเพราะเขามีอำนาจทางการเมืองที่เป็นทางการอยู่ ซึ่งการใช้อำนาจทางการเมืองแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันทางการเมือง (Political Corruption) การแทรกแซงทางการเมืองดังกล่าวที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นทางการไปครอบงำทางการเมือง หรือมีอำนาจเหนือพรรคการเมือง ลักษณะการครอบงำทางการเมืองแบบนี้เรียกว่าเป็นการครอบงำที่ใช้ผ่านกลไกของรัฐที่มีความรุนแรง (Coercive State Apparatuses)

แง่มุมที่ผู้เขียนนำเสนอขึ้นเป็นเพียงความรู้ชุดหนึ่ง ซึ่งยังมีความรู้ชุดต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากในสังคมขณะนี้ มุมมองแบบนี้เกิดจากการเลือกปรัชญาและทฤษฎีของสำนักคิดบางสำนัก หากใช้ปรัชญาและทฤษฎีที่แตกต่างสำนักความคิดกันก็จะมองเห็น “ความจริง” ที่แตกต่างกัน และกลายเป็นชุดความรู้ที่แตกต่างกันได้.

สังศิต พิริยะรังสรรค์                  

สมาชิกวุฒิสภา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนเถื่อนที่ไร้ธรรม .. ในวิกฤตการณ์โลกเดือด!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะวิกฤตการณ์ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ก่อเกิดสภาวะโลกร้อน (Global warming) อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

เลขาฯกกต. แจงแนวปฏิบัติเลือก สว. ผู้สมัครทำได้แค่แนะนำตัว ห้ามนักการเมืองช่วยเหลือ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟสบุ๊คชี้แจงถึงการปฏิบัติตัวในการทำหน้าที่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือก สว.ว่าในส่วนของประชาชนไม่มีสิทธิเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ให้