ความท้าทายต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในโลกยุคหลังโควิด-19

สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การกระจายรายได้ และการเข้าถึงความเป็นธรรมของบริการภาครัฐมาโดยตลอด จนแทบจะเรียกได้ว่า ในปัจจุบันอาจไม่จำเป็นต้องคุยกันอีกแล้วว่า ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยมีความสำคัญมากเพียงใด

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพร้อม ๆ กัน ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนำมาสู่ความยุ่งเหยิงและยุ่งยากในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของภาครัฐอย่างมาก

ความน่าสนใจหนึ่งที่สังคมไทยได้เรียนรู้จากสถานการณ์นี้ก็คือ จากเดิมสังคมไทยมีการศึกษาและวิพากษ์ปัญหาธรรมาภิบาลที่ด้อยคุณภาพในสังคมไทย โดยการศึกษาในระดับประเทศมักใช้การสำรวจเป็นเครื่องมือในการศึกษา ในขณะที่หากเป็นการใช้ข้อมูลเชิงลึก มักจะเป็นการศึกษาในระดับของกรณีศึกษาเท่านั้น การหาข้อมูลเชิงลึกที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Evidence) ที่ชัดเจนในการแสดงถึงความไม่มีธรรมาภิบาลของสังคมไทยในภาพกว้างนั้นทำได้ยากมาก แต่ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงธรรมาภิบาลที่ด้อยคุณภาพในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะพิจารณาในมิติใดของธรรมาภิบาลก็ตาม อันได้แก่ 1. หลักคุณธรรม 2. หลักนิติธรรม 3. หลักความโปร่งใส 4. หลักความมีส่วนร่วม 5. หลักความรับผิดชอบ 6. หลักความคุ้มค่า ก็แทบไม่จำเป็นต้องขยายความว่า หลักการธรรมาภิบาลแต่ละมิติมีความด้อยคุณภาพที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการโควิด-19 อย่างไรบ้าง

แน่นอนว่า การจัดการของภาครัฐที่อยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ด้อยคุณภาพของประเทศ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิผลในการบริหารจัดการ ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรภาครัฐ การสร้างความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วยกันเอง และความไว้วางใจจากประชาชน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องชี้ให้คนทั้งสังคมเห็นร่วมกันถึงความด้อยคุณภาพของระบบธรรมาภิบาลในสังคมไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการมองเห็นร่วมกันถึงความด้อยคุณภาพดังกล่าวจะเป็นข้อดีหรือข้อเสียต่อการพัฒนาธรรมาภิบาลในอนาคต เพราะขึ้นอยู่กับจังหวะและก้าวสำคัญในปัจจุบันว่า ภาครัฐจะสามารถใช้โอกาสจากการมองเห็นร่วมกันถึงความด้อยคุณภาพมาสร้างความทุ่มเทและการปฏิบัติร่วมกันจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลให้ดีขึ้นในอนาคตได้ดีเพียงใด หรือหากภาครัฐไม่สามารถทำได้สำเร็จ ก็ย่อมทำให้การสร้างความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วยกันเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น และอาจไม่สามารถได้รับความไว้วางใจจากประชาชนไปอีกนาน

สำหรับความท้าทายต่อการสร้างความร่วมมือ เพื่อยกระดับธรรมาภิบาลของสังคมให้ดีขึ้น ภายใต้สถานการณ์หลังโควิด-19 ที่อาศัยความรู้สึกตระหนักร่วมกันของสังคมต่อปัญหาคอร์รัปชัน จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1) ความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยี

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทำให้ข้อมูลข่าวสารมีความรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนาเครื่องมือหรือสร้างองค์ความรู้ร่วมกันของสังคมในการสร้างธรรมาภิบาลที่มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การต่อต้านคอร์รัปชันที่ได้ผลจริง นอกจากนี้ การพัฒนาที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดเพียงแค่ตัวเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ประชาชนทุกกลุ่มในสังคมก็ถูกยกระดับความรู้ทางด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีให้สูงขึ้นด้วย เท่ากับว่าทั้งเครื่องมือและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี รวมถึงทัศนคติที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและต่อต้านการคอร์รัปชันสูงขึ้นทั้งหมด จึงเป็นโอกาสในการสร้างธรรมาภิบาลเพื่อยกระดับการต่อต้านการคอร์รัปชันของสังคมได้เป็นอย่างดี

2) การเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

การพัฒนาของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเห็นประชาชนในภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งในประเทศตนเองและต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่มีอยู่มาเป็นเวลานานได้ถูกมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แน่นอนว่าธรรมาภิบาลที่ด้อยคุณภาพและปัญหาคอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่งที่คอยปกปักรักษาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมให้ดำรงอยู่ และยังเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ปัจจุบัน ความตระหนักร่วมกันนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความเต็มใจต่อการร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนในการสร้างธรรมาภิบาลที่มีคุณภาพ และต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันที่มีมาอย่างยาวนาน ให้ประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้

3) แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นของประชาธิปไตย

เมื่อความตระหนักต่อความไม่เท่าเทียมกันในสังคมสูงขึ้น ก็ย่อมนำมาสู่การแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหา แนวทางหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับของพลเมืองโลก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ก็คือ การสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งนั่นหมายถึง การให้คุณค่าของระบอบประชาธิปไตย แนวทางของประชาธิปไตย คือ การให้สิทธิที่เท่าเทียมกัน อันจะนำมาสู่ระบบการจัดสรรทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบนโยบาย กฎหมาย หรือโครงสร้างพื้นฐานของสังคมที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของคนส่วนใหญ่ในสังคม แนวทางนี้สอดคล้องกับการยกระดับธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันในอนาคต เพราะการทับซ้อนของผลประโยชน์ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จะสูงขึ้นอันเนื่องจากความซับซ้อน ผันผวน และรวดเร็วของโลกยุคใหม่ นโยบาย กฎหมาย หรือโครงสร้างพื้นฐานจึงจำเป็นต้องถูกยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในสังคมและต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอได้เมื่อคนเหล่านั้นต้องการ นั่นคือ การสนับสนุนแนวทางของประชาธิปไตยจะสนับสนุนการยกระดับธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันไปในตัว

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญของภาครัฐในการพลิกวิกฤตของธรรมาภิบาลที่ด้อยคุณภาพและปัญหาคอร์รัปชันที่มีมายาวนาน ให้เป็นโอกาสในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการยกระดับธรรมาภิบาลให้สูงขึ้น และสร้างการต่อต้านคอร์รัปชันให้เป็นรูปธรรมจริง และนี่คือความท้าทายที่สำคัญมากของสังคมไทยในปัจจุบัน

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร ธานี ชัยวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.โจ' ซัด 'ก้าวไกล' กำลังนำพาคะแนนนิยมสนองตอบเจตนาคิดคดกับแผ่นดิน เตือนจะซ้ำรอย 'ทักษิณ'

'ดร.โจ' ซัด 'ก้าวไกล' กำลังนำพาเสียงประชาชนไปในทางตรงข้ามกับเจตนาที่สังคมมอบให้ สนองตอบเจตนาอันคิดคดกับแผ่นดิน ชี้ปัญหาคอร์รัปชันไทยหนักมากแต่ไม่มีแผนจัดการ กลับเตรียมถอนรากถอนโคน ม.112-งบฯสถาบัน โชว์อเมริกา เตือนจะซ้ำรอย'ทักษิณ'ที่ไม่มีแผ่นดินอยู่

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ข้องใจ ขรก.-นักการเมืองโกงกินจะยำเกรงหรือ ติดคุกจริงไม่กี่ปี ก็ได้รับการขออภัยโทษ

'นันทิวัฒน์-อดีตรองผอ.ข่าวกรอง' ข้องใจโกงกินจะหมดจากไทยได้ยังไง พอติดคุกจริง กลับติดกันเพียงไม่กี่ปี ก็ได้รับการขออภัยโทษลดโทษ ข้าราชการและนักการเมืองโกงกินจะยำเกรงหรือ