การทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 นี้ พระราชโองการยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) หรือที่เรียกกันว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมีอายุครบ 4 ปี และย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องทำการทบทวนทุก 5 ปี (จริง ๆ แล้วถ้าสถานการณ์โลกหรือของประเทศเปลี่ยนแปลงมากจนเกิดความไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการ ก็สามารถแก้ไขก่อนครบกำหนดห้าปีได้) แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงสิ่งที่ควรปรับปรุง เราลองมาทบทวนความเป็นมาและเนื้อหาของยุทธศาสตร์ชาติกันสักเล็กน้อย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้เขียนไว้ในมาตรา 65 ว่า “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน …” ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ทำหน้าที่รัฐสภาก็ได้ผ่าน พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ควบคู่กับพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ในกฎหมายฉบับแรก ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ หลังจากนั้นได้มี การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้นรวม 6 คณะ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ ซึ่งหลังจากดำเนินการและผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ได้มีการประกาศใช้เผยแพร่ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 13 ตุลาคม 2561 โดยมีวิสัยทัศน์หลัก คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เนื้อหาสำคัญ ๆ แบ่งออกเป็น

1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง เนื้อหามุ่งให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข

2. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เนื้อหาเน้นการ ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบันและสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต

3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เนื้อหาเกี่ยวกับการพยายามทำให้คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง สำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21

4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เนื้อหากล่าวถึงการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ

5. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื้อหามุ่งการเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน

6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ เนื้อหาเน้นการพัฒนาระบบราชการให้ทันสมัย โปร่งใส เป็นภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม

ยุทธศาสตร์ชาติ คือ กรอบการพัฒนาระยะยาว เพื่อให้ประเทศบรรลุวิสัยทัศน์ ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ถือเป็นแผนระดับหนึ่งสูงสุดของประเทศ แผนระดับสองรองลงมา ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนแผนของกระทรวง กรม จังหวัด ฯลฯ ถือเป็นแผนระดับสาม โดยแผนทุกระดับต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แผนระดับสองและสามล้วนต้องตอบโจทย์หรือเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติทั้งสิ้น
โดยเหตุที่ยุทธศาสตร์ชาติมีสถานะเป็นตัวบทกฎหมาย มีสภาพบังคับและมีบทลงโทษ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตาม จึงทำให้เมื่อเริ่มประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาล

เราคงไม่มาโต้แย้งเหตุผลว่า ควรมีการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับประเทศหรือไม่ แต่จะขอกล่าวถึงสิ่งที่ควรพิจารณาทบทวนเมื่อเข้าระยะปีที่ห้า ตามที่กฎหมายกำหนด

1.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ควรถือโอกาสจัดให้มีเวทีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะฝ่ายเอกชน ฝ่ายประชาชน รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหลาย อันอาจนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาให้ดีกว่าเดิม เกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วมหรือความเป็นเจ้าของร่วมมากกว่าเดิม

2.ควรแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความหลากหลายทั้งความเชี่ยวชาญ อาชีพ อายุ มาร่วมกันทบทวนเนื้อหาสาระของยุทธศาสตร์ชาติเสียใหม่ตามที่กฎหมายได้ให้โอกาสไว้

3.ควรพิจารณาว่ายุทธศาสตร์ชาติฉบับปัจจุบันมีประเด็นยุทธศาสตร์มากเกินไปหรือไม่ เป้าหมายชัดเจนและเป็นสาระสำคัญ (relevant) มากน้อยเพียงใด ควรตัดทอนให้สั้นลง น้อยประเด็นลง แต่มีผลกระทบ (impact) ต่อประเทศมากขึ้น

4.ควรพิจารณาอย่างจริงจังว่า ในห้วงระยะเวลา 4 – 5 ปี ที่ผ่านไป สถานการณ์ของโลกและของประเทศเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ทิศทางยุทธศาสตร์ของประเทศควรปรับเปลี่ยนเตรียมตัวรับสถานการณ์ในอีกแต่ละห้วง 5 ปี ข้างหน้าอย่างไร

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

พงศ์โพยม วาศภูติ

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลงทุนในทองคำดีไหม

ข่าวที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในปีนี้ ว่าราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะลงทุนซื้อทองคำตอนนี้ไว้มากๆ เผื่อเอาไว้ขายทำกำไรได้งามๆ ในอนาคต

ประเทศชาติจะเปลี่ยนไป เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลง 

ประเทศไทยจะอยู่กับวิกฤติการเมืองที่เลวร้าย หรือจะก้าวต่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 2เส้นทางเดินสำคัญที่คนไทยจะต้องเลือกเดิน คือ…1.เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป คนไทยต้องเปลี่ยนตาม(When the world changes and we change with it.) หรือ 2.เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนตาม(When we change, the world changes.)

เปลี่ยนก้อนหิน เป็นดอกไม้..เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความปรองดอง หลอมรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า…..

ปีแล้วปีเล่าที่ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ต้องติดหล่ม จมอยู่กับความขัดแย้ง และทิ่มแทงกันด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายขว้างปาความเกรี้ยวกราดใส่กัน ด้วยเหตุจากความเห็นที่แตกต่างกัน และช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่หัวใจอย่างยิ่ง

ตลาดหุ้นกู้ กับ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น ตลาดหุ้นกู้จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างราว 4.5 ล้านล้านบาท  จำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนก็เพิ่มขึ้นมาก  ไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน  แต่มีทั้งบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น

โอกาสของการพัฒนาภาคเกษตรไทย

ภาคเกษตรเคยเป็นพระเอกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูประชากรให้มีความอิ่มหนำสำราญ สร้างโอกาสให้คนไปทำงานอื่น ๆ แถมยังสร้างชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศด้วย

โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล