โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ
เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล กำหนดทิศทางของนโยบายการป้องปรามการคอร์รัปชันได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีทั้งความครอบคลุมและรอบด้าน บทความฉบับนี้จะขอนำเสนอประเด็นความท้าทาย 6 ประเด็นสำคัญของการคอร์รัปชันในอนาคตที่กำลังจะมาถึงอันใกล้นี้

การยึดรัฐ (State Capture) การคอร์รัปชันทางการเมืองยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น การทุจริตทางการเมืองขนาดใหญ่จึงเริ่มมีการปรับตัวจากการรับสินบนโดยตรง ไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับรัฐบาล ในการเอื้อผลประโยชน์ผ่านการให้สัมปทานหรือใบอนุญาต และที่มีความก้าวหน้ากว่านั้นคือ การจำกัดการแข่งขันผ่านการออกแบบกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในระดับสากล หรือที่เราเรียกในทางวิชาการว่าการยึดรัฐ ซึ่งเป็นการยึดครองทรัพยากรส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ผ่านการออกแบบกระบวนการตัดสินใจที่เอื้อให้มีความได้เปรียบและการเปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน ผ่านกฎหมายที่มีช่องโหว่ที่ซับซ้อนมากขึ้นและไม่ตรงไปตรงมา โดยที่นักการเมืองจะได้ประโยชน์จากเงินล็อบบี้ เงินทุนสำหรับการหาเสียง พรรคพวกหรือเครือญาติที่เข้าไปทำงานในธุรกิจขนาดใหญ่ ถือเป็นการเชื่อมโยงผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนน้อยได้ประโยชน์ ส่วนประชาชนกลุ่มใหญ่ และประเทศต้องสูญเสียประโยชน์สาธารณะไป

การคอร์รัปชันด้วยนวัตกรรมภาครัฐ (Corruption with Government Innovation) ภายใต้ความพยายามพัฒนาภาครัฐให้เข้าสู่ยุคดิจิตอลที่มีความทันสมัยจึงเกิดการคิดค้นและปฏิรูประบบบริการสาธารณะของรัฐบาลขนานใหญ่ กระบวนการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และนวัตกรต่าง ๆ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง การจ้างงานภายนอก (Outsourcing) การจ้างที่ปรึกษา และการแปรรูปบริการสาธารณะให้ออนไลน์ แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่การออกแบบการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ หากไม่มีการออกแบบ หรือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสเพียงพอ โดยการเอื้อประโยชน์ดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เพียงระยะสั้นของการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น แต่อาจเป็นฉันเอื้อประโยชน์ให้เกิดการดูแลนวัตกรรมในระยะยาวรวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากนวัตกรรมนั้น ทั้งนี้ การกำกับดูแลที่ไม่มีประสิทธิภาพจนข้อมูลจำนวนมากรั่วไหล และไม่มีผู้รับผิดชอบ ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการจัดซื้อจัดจ้างนวัตกรรมดังกล่าวที่มีคอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

การคอร์รัปชันทางไซเบอร์ (Cyber Corruption) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลได้ทำให้การคอร์รัปชันทวีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้อาจหมายถึงการฉ้อโกงหรือฉ้อฉลทางไซเบอร์ในการเอาเปรียบสาธารณะ เช่น การประมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีใครหรือจำนวนเท่าไหร่เข้าประมูลบ้าง การบิดเบือนเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Information) ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ควบคุมระบบได้ทราบข้อมูลล่วงหน้า และการใช้ประโยชน์จากสกุลเงินดิจิทัลสมัยใหม่เพื่อการฟอกเงิน เช่น การพนันออนไลน์ หรือการทำงานของมิจฉาชีพคอลล์เซนเตอร์ ช่องทางการคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ ๆ อาจพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบการตัดสินใจอัตโนมัติ (Automated Decision) ที่มนุษย์สามารถตั้งค่าโปรแกรมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย ขบวนการเหล่านี้ ระบุตัวผู้รับผิดได้ค่อนข้างยาก แต่ทำได้รวดเร็ว แนบเนียน และยากต่อการตรวจสอบ

การทุจริตข้ามพรมแดนในยุคโลกาภิวัตน์ (Cross-border Corruption) ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การทำให้เกิดการเชื่อมโยงของเศรษฐกิจระหว่างประเทศและธุรกิจข้ามพรมแดนที่มีความซับซ้อนขึ้นอย่างมาก การเชื่อมโยงระหว่างประเทศนี้ ในทางหนึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่งก็เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญได้ด้วยเช่นกัน การมีผู้รับเงินหรือผู้จ่ายเงินอยู่ต่างประเทศทำให้ยากต่อการตรวจสอบ การมีศูนย์กลางทางการเงินอยู่นอกประเทศทำให้ผู้กระทำผิดสามารถปกปิดความมั่งคั่งที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายได้ หรือการค้าสินค้าที่หลากหลายระหว่างประเทศทำให้การตรวจสอบความผิดปกติของราคาสินค้าที่ขายแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ความร่วมมือในระดับนานาชาติ การสร้าง การกำกับดูแลหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น การประสานอำนาจเพื่อตรวจจับและการยับยั้งการทุจริตข้ามพรมแดน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระดับโลกได้

การคอร์รัปชันเชิงนโยบายสิ่งแวดล้อม (Environmental Policy Corruption) การทุจริตเชิงนโยบายกำลังมีให้เห็นเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายของภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อปัญหาสำคัญของสังคม สำหรับกรณีของนโยบายสิ่งแวดล้อม ในอนาคตอันใกล้ ทุกประเทศจะประสบกับสภาวะการแย่งชิงและการแสวงหาประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มคนและหน่วยธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้น และการทุจริตคอร์รัปชันที่สืบเนื่องจากความต้องการผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการครอบครองที่ดิน การได้รับสัมปทานตัดไม้ การประมง หรือการขุดทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวพันกับการทำธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษ แต่อยู่ภายใต้การตรวจสอบที่อ่อนแอ พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลเสียและเป็นภัยคุกคามด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งและเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติต้องเกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีและเข้มแข็งเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และอาจเป็นแนวทางเดียวที่ป้องกันการคอร์รัปชันเชิงนโยบายสิ่งแวดล้อมได้

การคอร์รัปชันเชิงนโยบายแก้ปัญหาความยากจน (Anti-Poverty Policy Corruption) เช่นเดียวกับนโยบายสิ่งแวดล้อม ความยากจนและความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ นำไปสู่ความสมเหตุสมผลของรัฐบาลในการออกนโยบายแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อต่อสู้กับภัยความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่กำลังเกิดขึ้น แต่ปัญหาความยากจนมีความซับซ้อน ยากที่จะระบุตัวตนและยากที่จะตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังยากที่จะวัดผลความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ในการคอร์รัปชันผ่านเงินอุดหนุนความยากจนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือทางตรงกับคนจน เงินอุดหนุนการศึกษา เงินอุดหนุนสาธารณสุข รวมไปถึงเงินจัดโครงการฝึกอบรมการมีอาชีพจำนวนมากมาย

ทศวรรษที่กลังมาถึงเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือของเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการคอร์รัปชันเปลี่ยนไปด้วย การตระหนักถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและการปรับกลยุทธ์ในการต่อต้านการคอร์รัปชันที่เหมาะสม จะทำให้สังคมมีความโปร่งใสและมีความยุติธรรมมากขึ้น การต่อสู้กับการคอร์รัปชันต้องใช้แนวทางที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการโอบรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน และการมีส่วนร่วมของสาธารณะ ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการปราบปรามการคอร์รัปชันและสร้างหลักประกันได้ว่าโลกนี้จะมีความเป็นธรรมมากขึ้น

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ดร. ธานี ชัยวัฒน์
ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาเด็กปฐมวัย: สำคัญอย่างไร และควรทำอย่างไร?

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังเล็กเกินไปสอนอะไรก็ยังไม่ได้ ทำอะไรยังไม่เป็น และต้องรอนานมากกว่าจะเห็นผล? เป็นคำถามที่ผมได้รับมาตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปี ที่พยายามพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับประถมและมัธยมมากกว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้ติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศไปจนถึงระดับโรงเรียนจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับปฐมวัย

ทนายเผยศาลยกฟ้อง 'หมอพรทิพย์' เหตุไม่พบทุจริต อสส.สั่งไม่ฟ้องแล้ว ปปช.ยังยื่นฟ้องเอง

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง 'คุณหญิงพรทิพย์' และพวก คดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 ศาลชี้ ไม่พบการทุจริตในการจัดซื้อ จัดจ้าง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบ ทนาย ซัดปปช.สร้างตราบาป อสส.สั่งไม่ฟ้องแล้ว ปปช.ยังยื่นฟ้องเองอีก

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

'หมอวรงค์' เปิดใจ! ทำไมต้องมี 'พรรคไทยภักดี'

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทำไมต้องมีพรรคไทยภักดี คำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ เพื่อความชัดเจนว่า ทำไมต้องมีพรรคไทยภักดี ตั้งใจอ่านให้จบนะครับ

'ดร.มานะ' ชำแหละ '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' (Toxic Culture) ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา มีเนื้อหาดังนี้

คปท.สัญจรสุรินทร์ มีมติคดีทุจริต ไม่ควรลดโทษให้ติดคุกเต็ม  

คปท.สัญจร  สุรินทร์วันนี้มีมติร่วมกันว่า คดีทุจริต คอร์รัปชั่น ของนักการเมือง ไม่ว่าระดับไหน    อบต. เทศบาล  สจ. สส. รมต. นายกฯ