รัฐบาล 'เศรษฐา 1' ไม่มี 'ฮันนีมูนพีเรียด'

โฉมหน้าคณะรัฐมนตรี "เศรษฐา 1” ของรัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย” คาดว่าจะคลอดออกมาภายในสัปดาห์หน้านี้

ขณะที่การทำงานของพรรคฝ่ายค้าน ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ และมีพรรคร่วมฝ่ายค้าน เช่น ประชาธิปัตย์, ไทยสร้างไทย ก็น่าติดตามว่าจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเพื่อไทยได้อย่างเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน หรือจะทำหน้าที่แบบไม่เต็มที่เพราะหวังร่วมรัฐบาลด้วยในอนาคต ก็ต้องรอดูกัน

น.ต.ศิธา ทิวารี แกนนำพรรคไทยสร้างไทย นักการเมืองที่โด่งดังอย่างมากในโซเชียลมีเดีย” ในช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมาตลอด ตั้งแต่สมัยทำเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลกับ 7 พรรคการเมือง ที่ตอนนั้นมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ จนถึงปัจจุบันที่เพื่อไทยหันมาจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ

ในมุมของ "น.ต.ศิธา” มองอนาคตของรัฐบาลเพื่อไทย-ครม.เศรษฐา 1 ต่อจากนี้ว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐบาลที่ต้องยอมรับว่าประชาชนอาจรู้สึกว่าตั้งขึ้นมาแบบผิดฝาผิดตัว เพราะฝั่งลุงกับฝั่งพรรคฝ่ายค้านเดิมที่มีแนวอุดมการณ์แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งอาจยึดมั่นประชาธิปไตย อะไรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยยอมรับไม่ได้ แต่อีกฝั่งบอกว่าให้ประเทศเดินไปให้ได้ก่อน ประชาธิปไตยค่อยว่ากัน เป็นเรื่องความขัดแย้งกันทางอุดมการณ์ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่านำคะแนนที่ได้มาจากการหาเสียง ว่าจะเอาคะแนนไปไล่ลุง ขจัดเผด็จการ ที่เมื่อได้คะแนนจากประชาชนก็นำไปรวมกับอีกฝั่งที่อุดมการณ์แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามันไม่ใช่การสลายขั้วปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้งกันจริง กลายเป็นว่า กลุ่มแปดพรรคการเมืองร่วมตั้งรัฐบาลเดิม 312 เสียง แต่การตั้งรัฐบาลที่ออกมาพรรคที่ได้อันดับสอง 141 เสียง (พรรคเพื่อไทย) สุดท้ายมาสลายตัวเอง พร้อมกับพรรคเล็กๆ ในแปดพรรคเดิม ไปร่วมตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันขึ้นมา

"น.ต.ศิธา" กล่าวอีกว่า รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าวมันทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งกันขึ้น อย่างในส่วนของเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลที่ได้มา 10 ล้านเสียง ก็มีประชาชนแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกบอกว่าให้พรรคไปจับมือตั้งรัฐบาลกับใครก็ได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเพื่อไทยทำแบบนี้ต่อไปไม่เอาแล้ว ไม่เห็นด้วยก็จะแยกออกมา ก็เลยกลายเป็นว่ามันไม่ใช่ความแตกต่างทางอุดมการณ์แล้ว เหมือนเมื่อก่อน เราเคยอาจจะรบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเกิดความรู้สึกไม่ชอบพอกัน โดยคนในประเทศก็จะรู้ว่านี่คืออุดมการณ์ของประเทศเรา อันนั้นคืออุดมการณ์ของประเทศคุณ เมื่อความเห็นไม่ตรงกันก็ทะเลาะกัน แล้วเกิดการสู้กัน แต่มันกลายเป็นว่าเหมือนกับคนที่มาเกณฑ์คนไปเป็นทหารไปออกศึก ตั้งตัวเป็นแม่ทัพนายกองใหญ่ จะพาคนไปออกรบ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ปรากฏว่าแทนที่จะรบเต็มที่ สมศักดิ์ศรี แต่สุดท้ายกลับเอากำลังคนไปรวมกับอีกฝั่ง แล้วบอกว่าเลิกทะเลาะกันแล้ว แต่ยังหันปากกระบอกปืนมายังฝั่งเดิมอยู่ มันก็ทำให้คนเกิดความมึนงงว่าในอนาคตมันจะเดินกันไปยังไง การเมืองจะเดินไปยังไง

"มันไม่มีฮันนีมูนพีเรียด มันขัดแย้งตั้งแต่เริ่มเข้าไปเป็นรัฐบาลเลย รัฐบาลในอดีตเช่นสมัยท่านนายกฯทักษิณ ชินวัตร หรือสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ความขัดแย้งมันเกิดขึ้นหลังตั้งรัฐบาล มันยังมีช่วงฮันนีมูนพีเรียดหลังผ่านโหมดชนะเลือกตั้งมา แต่ครั้งนี้ความขัดแย้งมันเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาล"

อย่างหากจับกระแสโดยเทียบกันระหว่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เมื่อไปดูที่โพสต์ในเฟซบุ๊ก คนเข้าไปเชียร์นายพิธาหลักแสน แต่อีกฝ่ายแค่ประมาณห้าพันกว่า มันต่างกันหลายเท่า มันทำให้ค่อนข้างยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้ในด้านการยอมรับของประชาชน แต่ก็ยังเชื่อว่า 9 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หากจะเทียบกับรัฐบาลนายเศรษฐา ก็เชื่อว่าการเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ เช่นปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องการยอมรับจากประชาชนจะดีขึ้นกว่าเดิม คือประชาชนยังมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันน่าจะทำได้ดีกว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในความรู้สึกของคนที่เคยทำด้วยกันมา เคยสู้ด้วยกัน จนได้คะแนนประชาชนไป 10 กว่าล้านเสียง แต่สุดท้ายกลับไปอยู่กับอีกฝั่ง เมื่อทำแบบนี้ก็ต้องมีประชาชนโกรธ

ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นคือ หากอนาคตถ้ามีปัญหาการไม่ยอมรับรัฐบาล แล้วเกิดมีม็อบเกิดขึ้น ม็อบที่จะออกไปก็คือม็อบที่มีความคิดรุนแรงแบบเอ็กซ์ตรีม ก็กลายเป็นคนที่เคยช่วยกันมา เคยออกไปนอนกลางดินกินกลางถนน ออกไปเสี่ยงชีวิต บางคนต้องเสียชีวิตหรือพิการ แต่สุดท้ายคุณกลับไปรวมกับอีกฝั่ง แล้วหากเขาออกมาม็อบ ถามว่าใครจะปราบม็อบ พรรคการเมืองอื่นจะมาเสนอตัวปราบม็อบหรือไม่ ก็ไม่ใช่ ก็ต้องเป็นพรรคเพื่อไทยที่ต้องไปปราบม็อบ กลุ่มคนที่เคยออกมานอนกลางดินกินกลางถนน เคยช่วยพวกคุณมา เคยเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยคุณมา

เมื่อถามว่า มองเสถียรภาพของรัฐบาล "เศรษฐา 1" อย่างไร เรื่องนี้ในทัศนะของ "น.ต.ศิธา" มองว่า หากไม่ได้มองในเรื่องเสถียรภาพของประชาชน ที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในวันเลือกตั้ง แล้วคุณเอาคะแนนเสียงประชาชนไปปู้ยี่ปู้ยำ จะไปตั้งรัฐบาลผิดขั้วยังไงก็ได้ ประชาชนจะทำอะไรได้ เขาไม่ได้มีปืนมีอาวุธ แต่คุณกลับไปจับมือกับคนที่มีอาวุธปืน เคยทำรัฐประหารมา ก็เห็นชัดเจนว่าสมาชิกวุฒิสภาที่เคยแบ่งเป็นสายๆ อย่าง สว.สายพลเอกประยุทธ์ที่อยู่ในอำนาจมาเก้าปี แต่ สว.กลุ่มนี้ก็โหวตให้เพื่อไทยทั้งหมดตอนโหวตนายกฯ มันชัดเจนแล้วว่าคุณไปตกลงอะไรเรียบร้อยแล้ว ถ้าแบบนี้มันลำบาก จะไปม็อบจะไปทำอะไร เพราะอย่างในอดีต เช่นที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือนายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาม็อบ ก็มีตัวปิดเกม มีทหารออกมายึดอำนาจ แต่ครั้งนี้หากจะมีประชาชนมาม็อบแล้วมันจะเป็นยังไง ประชาชนก็อาจรู้สึกว่าก็มาม็อบปิดถนน แต่ในกลุ่มที่เชียร์รัฐบาลเพื่อไทยก็อาจไม่เอาด้วย บอกว่าอย่าไปทำ มันก็ไม่มีตัวปิดเกม พอไม่มีตัวปิดเกม มันก็ไปไม่ถึง ดังนั้นเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลก็มี แต่มันไม่ได้อยู่บนศรัทธาของประชาชน แต่อยู่บนกลไกต่างๆ ที่กุมอำนาจของประเทศที่คอยแบ็กอัปรัฐบาลให้ 

ที่พูดถึงเรื่องม็อบที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโควิด วิกฤตการเมืองจากที่สะสมมาในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ทำให้ดูแล้วก็อาจจะเกิดอะไรขึ้น รวมถึงที่เคยไปสร้างความคาดหวังอะไรไว้ เช่นตอนหาเสียงเคยบอกว่าจะเข้าไปทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดง แต่สุดท้ายคุณไปจับมือกับคนที่ทำร้ายคนเสื้อแดง แล้วแบบนี้จะไปกล้าตรวจสอบเขาหรือ เพราะหากไปตรวจสอบก็อาจมีการแยกตัวออกไป มันก็จะเกิดอะไรขึ้นได้แน่ๆ พอมาเป็นแบบนี้ ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบ สูญเสียครอบครัว เขาก็จะไม่ยอม แล้วมันก็จะเกิดเหตุการณ์แบบเดิมๆ อาจวนกลับมาอีก อย่างไรก็ตาม มันก็ขึ้นอยู่กับการบริหารงานของรัฐบาลเพื่อไทยด้วย เพราะเวลานี้ความรู้สึกของคนเขารู้สึกเก็บกด เพราะอย่างที่ย้ำว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีช่วงฮันนีมูนพีเรียด เพราะหากมีอะไรสัก 10 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ก็ยังพอกล้อมแกล้มให้ได้ แต่พอเขารู้สึกตรงข้ามแล้วมีอะไร ความรู้สึกของคนก็จะมีมากกว่าปกติ 

ส่วนว่ารัฐบาลเพื่อไทย-เศรษฐา จะอยู่ครบเทอม 4 ปีได้หรือไม่ ก็อยู่ที่เจตนาของเขาว่าอยากอยู่ครบเทอมหรือไม่ แต่เพื่อไทยที่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่า มีแนวคิดอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีกติกาต่างๆ ที่สมบูรณ์ แต่พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ อย่างเมื่อก่อนตอนมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกมา ก็มีคนของพลังประชารัฐบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา แต่เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา (ระบบการเลือกตั้ง) จนทำให้เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ได้เป็นนายกฯ กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เต็มๆ

"ผู้พันปุ่น-น.ต.ศิธา" ยังได้กล่าวถึงเรื่องการฟอร์ม ครม. "เศรษฐา 1" โดยพูดถึงเรื่อง "ตัวประกันทางการเมือง" ไว้อย่างน่าสนใจ แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อว่าคือใครระหว่างให้สัมภาษณ์ โดยบอกว่าหลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว การฟอร์ม ครม.ของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจะมีการต่อรองกันหนัก เพราะตอนนี้เมื่อนายเศรษฐาเป็นนายกฯ แล้ว ทำให้อำนาจการต่อรองอยู่ที่ตัวนายกฯ เพราะมีอำนาจสูงสุด แต่เขาก็มีตัวประกัน มีการยื่นหมูยื่นแมวในวันเดียวกัน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าหากต่อรองกันไม่ได้ ก็อาจใช้ตัวประกันเป็นเครื่องต่อรองกันก็ได้ แต่เขาก็คงวางใจได้อย่างหนึ่งว่า รมว.ยุติธรรมที่คงจะเป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ที่แนบแน่นกับอดีตนายกฯ ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ที่จะมาดูแลกรมราชทัณฑ์

โอกาส พท.หวนคืนจับมือก้าวไกล

'อะไรก็เกิดขึ้นได้'

ต่อข้อถามถึงอนาคตทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อไทย ที่อาจมีการปรับ ครม.ในอนาคตแล้วปรับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคออก แล้วนำบางพรรค เช่น ก้าวไกลหรือไทยสร้างไทย เข้าร่วมรัฐบาลในอนาคต มองว่าเป็นอย่างไร "น.ต.ศิธา-ผู้พันปุ่น" วิเคราะห์ว่า เพื่อไทยก็เคยบอกว่าสิ่งที่เคยพูดบางอย่างเป็นเรื่องเทคนิคการหาเสียง หรือมีการกลับคำพูดบ้าง และยอมรับว่าอาจมีการตระบัดสัตย์บ้าง และยังมีคำพูดอีกอันว่า "ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ" อันนี้เป็นความจริง อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าพูดคำนี้

ส่วนการที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุกลางที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 22 ส.ค.ว่า หากไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยไม่เคยคิดอยากจะจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลนั้น แสดงให้เห็นว่ามันถึงจุดที่เขาต้องการแสดงว่าได้แตกกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว เมื่อแตกกันสิ้นเชิง หากยังมาหน่อมแน้มกันอยู่ มันก็จะไม่สะเด็ดน้ำ เพราะเขายังเป็นคนในกลุ่มฝั่งเดียวกัน เขาเลยต้องการแสดงให้เห็นแบบเคลียร์คัตชัดเจน เหมือนกับตอนที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แยกตัวออกมาจากเพื่อไทย ตั้งพรรคไทยสร้างไทย ก็ต้องมีการแสดงออกให้ชัดเจนว่าตัดพี่ตัดน้อง ไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง เพราะตอนโหวตนายกฯ เขารู้ว่าไม่ต้องการคะแนนจาก สส.ก้าวไกล เพราะคะแนนจากฝั่ง สว.เขาได้เต็มที่แล้ว เขาก็เลยถีบหัวเรือส่งเลย หลังที่ผ่านมาท่าทีของเพื่อไทยก็จะแสดงออกอย่างใช้คำว่า "คลุมฝูงชน" ตลอด

ถามย้ำว่า โอกาสที่เพื่อไทยจะกลับไปจับมือกับพรรคก้าวไกลในอนาคต น่าจะยากแล้วหรือไม่ "น.ต.ศิธา" ตอบว่า ผมเชื่อว่าสิ่งที่เพื่อไทยพูดแล้วเป็นความจริงก็คือ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะอย่าลืมว่ากับก้าวไกล ก็เคยเซ็นเอ็มโอยูตั้งรัฐบาลร่วมกันมา จับมือกันมา แล้ววันหนึ่งก็มาขอฉีกเอ็มโอยู ขอแยกตัวออกจากพรรคก้าวไกล แล้วยังบอกอีกว่าก้าวไกล ไม่ต้องมาโหวตให้นายเศรษฐา เพราะจะทำให้ สว.วิตกกังวล แต่ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง เพื่อไทยก็มาขอขมาก้าวไกล แล้วก็ไปขอคะแนนก้าวไกลให้มาเลือกเขา คือทุกอย่างมันเป็นกลไกการต่อรอง ซึ่งเพื่อไทยก็ต้องการหาเส้นที่พอดี หาน้ำหนักที่พอดีในการต่อรอง เพราะหากเพื่อไทยไปประกาศตัดขาดเร็วเกินไป จะทำให้การเจรจาตั้งรัฐบาลเพื่อไทยจะโดนพรรคร่วมรัฐบาลไล่บี้เอากระทรวงต่างๆ แต่หากยังมีก้าวไกลอยู่เคียงข้าง ก็ใช้พรรคก้าวไกลให้เกิดประโยชน์เต็มที่ คือจะบอกพรรคร่วมตั้งรัฐบาลว่า ถ้าต่อรองมากจะไปรวมกับพรรคก้าวไกล

ขณะที่การที่มี สส.ประชาธิปัตย์หลายคนไปลงมติสนับสนุนนายเศรษฐา จากที่มีด้วยกัน 25 คน จนตอนนี้กลายเป็นว่าจะมี สส.ประชาธิปัตย์อยากจะข้ามขั้วไปร่วมรัฐบาลด้วย จนกลายเป็นว่ามี สส.ประชาธิปัตย์ทั้งฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ และฝ่ายที่เขาด่ามาตลอดคือฝ่ายนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกลุ่มที่ไม่อยากร่วมรัฐบาล เพราะเขาคงมองว่าหากมายืนเป็นฝ่ายค้านแล้วทำหน้าที่เต็มที่ เลือกตั้งรอบหน้าอาจจะได้ สส.กลับคืนมา 70-80 เสียงแบบเดิม จนตอนนี้นับจำนวนเสียงกันแล้ว ไม่รู้ว่าใครเป็นงูเห่า ใครไม่ใช่งูเห่า

ถามย้ำว่า รอบนี้พรรคฝ่ายค้านที่มีพรรคไทยสร้างไทยร่วมอยู่ด้วย จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเศรษฐาเต็มที่หรือไม่ หรือจะตรวจสอบแบบรอเสียบเป็นรัฐบาลในอนาคตหรือไม่ "น.ต.ศิธา สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย-อดีตเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย" ยืนยันว่า ฝ่ายค้านทำหน้าที่เต็มที่ ในทางการเมืองการเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน มันแค่แตกต่างกันที่การนำนโยบายไปใช้ แต่การที่จะไปทำประโยชน์ให้กับประชาธิปไตย ทำให้กับประชาชน ถ้าเราเข้าไปเป็นฝ่ายค้านแล้วทำหน้าที่แบบหน่อมแน้ม เพื่อรอหวังจะเข้าร่วมรัฐบาลคงไม่ใช่ เพราะหน้าที่ฝ่ายค้านคือต้องคอยถ่วงดุลรัฐบาล ท้วงติงในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

"รัฐบาลชุดนี้ไม่มีฮันนีมูนพีเรียด ความต้องการของประชาชนคือต้องการให้ฝ่ายค้านไปตรวจสอบรัฐบาลในทุกๆ เรื่อง มาบวกกับเส้นทางการหาเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาล ที่หาเสียงแล้วไม่ยอมทำตามสิ่งที่ได้พูดไว้ แล้วมาอ้างว่าเราไม่ทำ เพราะพรรคไม่ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หรือมาบอกว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ มันทำให้ศรัทธาความเชื่อมั่นของประชาชนมันหมดไป ดังนั้นก็เชื่อว่าการตรวจสอบของฝ่ายค้านต่อรัฐบาลก็จะมีความเข้มข้น"

สำหรับเรื่องที่มีการร้องเรียนกล่าวหานายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่เกิดขึ้นนั้น มันก็คงมีองค์กรหน่วยงานที่ตรวจสอบอยู่ หลังตอนนี้เข้าไปเป็นรัฐบาล มาเป็นนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลหน่วยงานรัฐ ในเมื่อเคยบริหารบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วมีข้อครหาที่เป็นข่าว ก็จะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.เข้ามาตรวจสอบอยู่แล้ว ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริงไป

"น.ต.ศิธา" กล่าวถึงภารกิจ งานเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อไทย "ครม.เศรษฐา 1" ที่ต้องทำหลังจากเข้าไปบริหารประเทศว่า หากเขาต้องการทำการเมืองระยะยาว ก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชน ส่วนเรื่องการตระบัดสัตย์ การไม่ยึดถือคำพูดตัวเอง การเสียสัตย์ คงไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ดังนั้นทุกนโยบายที่หาเสียงไว้ หากทำได้ก็ต้องทำเต็มที่ แต่หากบางนโยบายต้นทุนสูง ได้คะแนนนิยมน้อย เพราะสูญเสียคะแนนนิยมแล้ว ก็อาจหาเรื่องจะไม่ทำ เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเลต ที่ใช้งบกว่า 5 แสนล้านบาท เขาก็อาจหาเรื่องจะไม่ทำ

ส่วนความคาดหวังกับโฉมหน้า ครม.เศรษฐา 1 นั้น สิ่งที่อยากเห็นถึงตอนนี้ดูแล้วคงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะพอเขาเดินการเมืองมาลักษณะแบบนี้ มันเป็นการเมืองแบบเก่า เมื่อการเมืองเป็นแบบเก่า คนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็จะเป็นคนหน้าเดิมๆ ทำให้โอกาสที่จะคิดว่า การตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะเป็นการเมืองเพื่อประชาชน ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะการเมืองตอนนี้ต่างเลือกที่จะเดินไปในอนาคต ซึ่งผมมองว่าการเมืองจะชิงกัน 2-3 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งเอา "กระแส" แต่อีกฝั่งจะเอา "กระสุน"

ฝั่งเอากระแสคือต้องการคะแนนจากประชาชน ต้องการความนิยมชมชอบ ส่วนฝั่งที่จะเอากระสุน คือเขาต้องการได้เสียงจากประชาชนผ่านการให้เงิน เพราะฉะนั้นคนที่ฟังเสียงประชาชน ต้องการกระแส ก็จะไม่สนใจเรื่องการหาเงินมา เรื่องการทำมาหากิน เพราะต้องการทำสิ่งที่ประชาชนชื่นชอบ มันก็แยกกันเป็นสองส่วน คือทำความดี ทำเพื่อให้ประชาชนมาเลือก กับหาเงินไว้เยอะๆ แล้วเอาเงินที่ได้ไปซื้อเสียงตอนเลือกตั้ง

รับาลเพื่อไทย

กับโอกาสถูกรัประหาร ครั้งที่ 3

ต่อข้อถามที่ว่า รัฐบาลเพื่อไทยเคยเจอการทำรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้งในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะถอดบทเรียนรับมืออย่างไร "น.ต.ศิธา" ที่เคยเป็นอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทักษิณมาช่วงหนึ่งด้วย ตอบข้อซักถามนี้ว่า เขาเคยเจอเหตุการณ์แบบนั้นมาแล้ว ทำให้รอบนี้ก็จะใช้กลไกด้วยการยอมไปเป็นพวกเสียเลย พอเป็นพวกกันแล้ว โอกาสที่จะมีการทำรัฐประหารรัฐบาลเพื่อไทยมันก็อาจจะน้อยลง แล้วเขาอาจจะมีตัวช่วยโดยที่ไม่รู้ตัวก็คือ การเกิดขึ้นของพรรคก้าวไกลและการที่ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง เพราะพอก้าวไกลที่ชูนโยบายต่างๆ เช่น "ปฏิรูปกองทัพ" หรือ "รื้อระบบนายทุนใหญ่-ระบบทุนพลังงาน" ทำให้คนเหล่านี้ก็เลยสลายขั้วไปรวมตัวกันหมด ทั้งการเมือง ทหาร นายทุน ไปจับมือกันหมดเลยแล้วก็จัดการขวาง ด้วยการทั้งลงขัน ลงแขกไม่เอาพรรคก้าวไกล ก็เลยเกิดเหตุการณ์แบบที่เห็น

ส่วน 312 เสียงจากแปดพรรคการเมืองเดิมที่ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกลและเพื่อไทย แต่ต่อมาได้แยกตัวออกไปร่วมตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เพื่อไทยเคยแสดงท่าทีว่าจะต่อสู้กับเผด็จการ จะมาไล่ 3 ป. ไม่ร่วมกับ 3 ป. คนก็ไปเลือกเพื่อไทยเพราะตรงนั้น แต่ถึงเวลาตอนนี้ เพื่อไทยกลับไม่ทำตามสิ่งที่เคยพูด มันทำให้คะแนนของประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่เลือกเพื่อไทยไป สุดท้ายมันสูญเสียไป

"หลังรัฐบาลคุณเศรษฐาเข้าไปบริหารประเทศ หากมองในช่วงแรกเช่น 3 เดือนแรก ถ้าดูจากกลไกที่เขามี ใครที่ไม่พึงพอใจอะไรรัฐบาล ก็คงทำอะไรมากไม่ได้ แต่หลังจากนั้น พอเข้าไปทำงานแล้วมีความคืบหน้าต่างๆ ออกมา ก็อาจจะเริ่มมีเรื่องต่างๆ โผล่ออกมา"

และสำหรับทิศทางการเมืองของ "พรรคไทยสร้างไทย" ที่ได้ สส.หลังเลือกตั้งมาแค่ 6 คน และกำลังจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน หลายคนจึงสนใจอยากรู้กันว่า พรรคไทยสร้างไทยที่แวดวงการเมืองเรียกกันว่า "พรรคคุณหญิงสุดารัตน์" หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ "น.ต.ศิธา-สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย" ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคและอดีตเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค เป็นแค่สมาชิกพรรคไทยสร้างไทยคนหนึ่ง ในมุมของผม ตัวผมก็มีจุดยืนแบบนี้ แต่ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า พรรคจะเดินไปข้างหน้า โดยที่คนในพรรคเห็นพ้องต้องกัน เราก็ยินดี แต่ถ้าเกิดไปแล้วมีการตัดสินใจอะไรที่ผมรู้สึกว่า ยอมกันได้ ก็ยอมได้ แต่ถ้าตัดสินใจอะไรแล้ว ผมรู้สึกว่ามันชักไม่ตรงกันแล้ว เพราะเราไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงที่จะไปออกเสียงอะไร เราก็คงประมาณหนึ่ง ก็ร่วมกับเขา เพราะเราก็อยากให้พรรคเดินไปในแนวทางประชาธิปไตยที่เรามองกันเอาไว้ แต่สำหรับพรรคไทยสร้างไทย ยืนยันว่าจะมีการทำพรรคต่อไป เป็นการทำการเมืองระยะยาว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ