สภาชนเผ่าพื้นเมือง เวทีแก้ปัญหา ชาติพันธุ์ กับเรื่องราว ที่ถูกมองข้าม

การให้มีสภาชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย จะเป็นเวทีกลาง ให้กับชาติพันธุ์ทั้งหมดในประเทศ ได้มีเวทีร่วมในการเป็นเวทีให้มีการนำปัญหามานำเสนอต่อกัน แล้วก็หาจุดเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อที่จะเสนอต่อรัฐบาล ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่มีเวทีเลย

การเมืองไทยในปีนี้ 2567 ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี เพราะเปิดศักราชใหม่ปี มังกรทอง มาแค่สามวัน สภาฯ ก็ประชุมพิจารณาวาระสำคัญนั่นก็คือ"ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567" และเชื่อได้ว่า การเมืองตลอดทั้งปีนี้  ยังมีปมร้อนการเมืองอีกหลายเรื่องให้ต้องติดตาม

ซึ่งสำหรับ"พรรคเพื่อไทย"พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนักการเมืองรุ่น"ยังบลัด-เลือดใหม่"ที่น่าสนใจหลายคน และหนึ่งในนั้นก็คือ"โฮม-ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย เขต2  พรรคเพื่อไทย "ที่มาจากครอบครัวนักการเมืองชื่อดังของภาคเหนือ -จังหวัดเชียงราย นั่นก็คือ"บ้านใหญ่-ตระกูล ติยะไพรัช"

เพราะเธอก็คือ บุตรสาวของ "ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม"และยังมี่พี่ชาย-น้องสาว ก็เคยเข้ามาโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองด้วย ที่ก็คือ พี่ชาย มิตติ ติยะไพรัช อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ ประธานสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด และ น้องสาว ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช  อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และอดีตประธานสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ส่วน โฮม ปิยะรัฐชย์  ก่อนหน้านี้ ก็เคยเป็น รองประธานสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ฯ เช่นกัน

ส่วนตัวตนทางการเมือง และความสนใจทางการเมือง ของ"โฮม-ปิยะรัฐชย์"เป็นอย่างไร เธอเล่าให้เราฟังระหว่างสนทนาการเมืองว่า ตัวเอง มาจากครอบครัวที่เป็นนักการเมืองมาก่อนคือ บิดา ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา และคุณแม่ สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช  อดีตนายกฯอบจ.เชียงราย ที่เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นสว.เชียงรายตอนปี 2549 แต่มีการรัฐประหารโดยคมช.เสียก่อน

...ด้วยการที่โฮม เติบโตจากครอบครัวนักการเมือง ทำให้เห็นเรื่องมุมมอง ความเคลื่อนไหวการเมือง ตั้งแต่คุณพ่อเป็นส.ส.เชียงราย สมัยแรก (พรรคเอกภาพ) ซึ่งตอนนั้น โฮม อยู่ประถมศึกษาปีที่ 3 พอโตขึ้น ก็เริ่มตามพ่อและแม่ไปหาเสียง-ลงพื้นที่เลือกตั้ง เช่นสมัยคุณแม่ ลงสมัครรับเลือกตั้ง นายกฯอบจ.เชียงราย ต้องลงพื้นที่ให้ครบ 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย ต้องออกจากบ้านตั้งแต่หกโมงเช้า กลับถึงบ้านก็สี่ทุ่ม ก็ได้ตามแม่ลงพื้นที่หาเสียงพบประชาชน

...หากถามว่า การเป็นนักการเมืองเหนื่อยหรือไม่ ก็เหนื่อย แต่มีความสุข อย่างตอนนี้ พอเราเข้ามาเป็นส.ส.เอง การลงพื้นที่พบประชาชน เรารู้สึกว่า ไม่ได้เหนื่อย เรามีความสุขทุกครั้งเพราะได้เจอประชาชน  โดยในช่วงตอนเป็นเด็ก การได้ลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง กับพ่อและแม่ ทำให้เราได้เจออะไรมากมาย จนเกิดความซึมซับทางการเมือง ทำให้เราได้เห็นว่า การเป็นส.ส.ทำให้ช่วยเหลือประชาชน อันนี้คือสิ่งที่เราซึมซับมา ทำให้เราเลยชอบการเมือง

...พอโตขึ้นก็ติดตามการเมืองมากขึ้นเช่น การดูการถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯ อย่างบางวัน ตอนพ่อเป็นรัฐมนตรี แล้วต้องลุกขึ้นชี้แจงกระทู้สด กลางที่ประชุมสภาฯ ทางคุณพ่อ ก็จะโทรศัพท์มาบอกเราว่า ให้รอดูการถ่ายทอด จะลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ รวมถึงการติดตามการประชุมสภาฯ ในช่วงที่พ่อเป็นประธานรัฐสภา-ประธานสภาฯ เลยทำให้รู้สึกชอบการเมือง ทำให้เรามีความตั้งใจมาตลอดว่าต้องการเข้ามาทำงานการเมือง

"โฮม-ปิยะรัฐชย์"กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้อยากเข้ามาทำงานการเมือง ก็คือ ได้ช่วยเหลือประชาชน ได้เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน เพราะในสังคมเรายังมีคนที่ด้อยโอกาส ยังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกเยอะ โดยวันนี้ที่โฮม ได้เป็นส.ส.ระบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงรายได้ ได้ลงพื้นที่อย่างจริงจัง ลงไปพบประชาชนแต่ละหมู่บ้าน ไปพบประชาชนที่บ้านแต่ละหลัง ทำให้ได้รู้ปัญหาของแต่ละพื้นที่คืออะไรบ้าง แล้วนำปัญหาต่างๆ มาวางเป็นระบบ และนำมาอภิปรายปัญหาของประชาชนในด้านต่างๆ ต่อที่ประชุมสภาฯ

สำหรับการทำงานการเมือง ในเชิงรายประเด็น เรื่องที่ชอบและสนใจคือการจะเข้าไปช่วยเหลือ สตรี เด็ก ผู้ด้อยโอกาส เป็นเรื่องที่เราอยากทำ เพราะตอนนี้เราก็เป็นคุณแม่ มีลูกสาวสองคน ทำให้เรารู้สึกว่าอยากขับเคลื่อนงานด้านนี้เป็นพิเศษ เพราะว่าสังคมเรา ผู้ด้อยโอกาส ก็ยังมีอีกมาก ในส่วนของสตรีเอง เราก็อยากมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเวทีแต่ละเวทีของสังคม

เมื่อถามถึงว่า ตอนที่ตัดสินใจจะเข้ามาสู่ถนนการเมือง ลงเลือกตั้ง ทางพ่อและแม่ ที่เป็นนักการเมืองมาก่อน ให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง "โฮม-ปิยะรัฐชย์"บอกว่า คำพูดเดียวที่บอกกับเราก็คือ"ถ้าจะทำ ต้องทำให้เต็มที่ อย่าให้เสียชื่อว่าเป็นลูกพ่อลูกแม่ เพราะพ่อกับแม่ ตั้งใจทำงานกับชาวบ้านจริงๆ ดังนั้น ถ้าจะมา เพื่อจะมาแสวงหาแสง อย่ามา แต่ถ้าเข้ามาแล้ว ได้ช่วยชาวบ้าน ให้ทำเต็มที่เลยและทำให้สุด ถ้าไม่สุด ไม่ต้องทำ"

โฮม-ปิยะรัฐชย์"เล่าด้วยรอยยิ้มว่า คุณพ่อ บอกกับเราแบบนี้ ส่วนการที่พี่น้องของโฮม ก็เข้ามาอยู่ในแวดวงการเมืองด้วยเช่นกัน ก็เพราะเป็นเรื่องของการที่เราถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ที่พวกเราจะเห็นพ่อกับแม่ทำงานการเมืองตั้งแต่เด็ด อย่างพี่ชาย (มิตติ ติยะไพรัช) เขาเอง ก็มีความฝัน นอกจากเรื่องฟุตบอลแล้ว เขาก็มีความฝันอยากเป็นนักการเมืองเพื่อช่วยเหลือประชาชนและขับเคลื่อนงานในระดับประเทศ ส่วนน้องสาว ที่จบด้านกฎหมาย เขาก็มีใจที่อยากช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส   

ถามถึงว่า มีความคิดเห็นอย่างไร กับเรื่องของความเป็นบ้านใหญ่ ตระกูลการเมือง "โฮม-ปิยะรัฐชย์"ตอบอย่างมั่นใจว่า

"ก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม่ใช่บ้านใหญ่ เพราะโฮม เป็นครอบครัวนักการเมือง มันก็ใช่จริงๆ แต่เรามองว่า คำว่า บ้านใหญ่ มีข้อดีก็คือ เราช่วยเหลือประชาชน ประชาชนก็เลยบอกว่าเราคือบ้านใหญ่ของจังหวัด ถ้าเรามองในด้านดี โฮมมองว่า การเป็นบ้านใหญ่ไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ เพียงแต่แค่คนขนามเท่านั้นเอง และโฮม ก็ภูมิใจ ที่เกิดเป็นลูกคุณพ่อคุณแม่ และหากใครจะบอกว่า โฮม เป็นบ้านใหญ่ บ้านใหญ่ เราก็จะบอกว่า ออ ขอบคุณค่ะ โฮม ยินดี ถ้าเป็นบ้านใหญ่แล้วช่วยเหลือประชาชนได้ โฮม แฮปปี้"

สำหรับบทบาททางการเมืองกับการเป็นส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลในเวลานี้ "ปิยะรัฐชย์"เล่าให้ฟังว่า ตอนสภาฯสมัยที่แล้ว เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเล็ก(พรรคเพื่อชาติ) ก็ยอมรับว่ามีข้อจำกัดหลายด้าน แต่ยอมรับว่า ได้ประสบการณ์ ตรงที่เป็นตัวแทนของพรรคเล็กมาประสานงานกับพรรคการเมืองใหญ่อื่นๆ ในสภาฯ เพราะตอนนั้นเป็นวิปฝ่ายค้านด้วย เลยทำให้ได้เรียนรู้การร่วมทำงานกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่และพรรคขนาดเล็ก และได้รู้จักกับนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาฯสมัยที่ผ่านมา ทำให้พอมาถึงสภาฯชุดปัจจุบัน ก็เลยประสานงานกับหลายพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้นเพราะส่วนใหญ่ก็รู้จักกัน

ส่วนความแตกต่างระหว่างการเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ตอนสภาฯสมัยที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับการเป็นส.ส.ระบบเขต ในปัจจุบันนั้น ยอมรับเลยว่ามีความแตกต่างกันมาก เพราะอย่างตอนเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้เราก็กังวลว่า หากเราไปลงพื้นที่เลือกตั้ง ที่เป็นพื้นที่ของส.ส.ระบบเขต เราก็เกรงใจ เพราะเราก็เกรงว่าจะไปล้ำเส้นอะไรเขาหรือไม่ โดยในส่วนของการเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ เรามองว่า เป็นงานในลักษณะการขับเคลื่อนด้านของนโยบายระดับประเทศ แต่กลับกัน ส.ส.เขต เรานำปัญหาที่อาจเป็นปัญหาเล็กๆของชาวบ้าน ที่คนอาจมองไม่เห็น เราสามารถนำมาขยายใหญ่ในเวทีของรัฐสภาได้ เพื่อเอาไปขับเคลื่อน เอาไป matchingกับนโยบายของรัฐบาลแล้วเอามาช่วยเหลือประชาชน สิ่งนี้คือความแตกต่างระหว่างส.ส.บัญชีรายชื่อกับส.ส.เขต

ส่วนการที่ตัดสินใจเดินเข้าพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็เพราะมองว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย มีความครอบคลุม และทำให้เราจะได้มีโอกาสในการทำงานมากขึ้นในเรื่องของการลงพื้นที่ ก็ทำให้เราเห็นว่านโยบายของพรรคเพื่อไทย มีหลายด้านที่สามารถนำมาขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่เขต 2 ของจังหวัดเชียงราย ที่เป็นเขตที่จะลงเลือกตั้งตอนนั้นได้ ซึ่งพอเราได้ลงพื้นที่ เตรียมหาเสียงเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย ก็พบว่า กระแสตอบรับจากประชาชนในจังหวัดเชียงรายต่อพรรคเพื่อไทยดีมาก ทำให้เราได้รู้ว่านโยบายหรือสโลแกนของพรรคเพื่อไทยที่ว่า"พรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน" คือเรื่องจริง เพราะไปทางไหน ชาวบ้านก็จะพูดถึงแต่นโยบายของพรรคเพื่อไทย

-ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย มักจะชนะเลือกตั้งในจังหวัดภาคเหนือตอนบนหลายครั้ง รวมถึงเชียงรายด้วย แต่เลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อไทยก็ไม่สามารถชนะยกจังหวัดได้ โดยแพ้ให้กับก้าวไกลไปสามที่นั่ง มองว่าเพราะเหตุใด?

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระแสของโซเชียลมีเดียว รวมถึงจากสื่อ ด้วยเพราะตอนนี้คนไทยติดตามสื่อมากขึ้น ซึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทยบางนโยบาย อาจเข้าไม่ถึงสื่อมากนัก แต่ส.ส.ของพรรคอย่างพวกเราสามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี อย่างในพื้นที่เลือกตั้งของโฮม เราก็นำนโยบายของพรรคไป matching กับปัญหาของประชาชน โดยในส่วนของเชียงรายที่เพื่อไทยอาจพลาดไป ก็เป็นเขตในพื้นที่แบบซิตี้เซ็นเตอร์ ที่เป็นพื้นที่ไข่แดง และเป็นเขตเศรษฐกิจ อย่างอำเภอแม่สาย รวมถึงโซนของชาติพันธุ์ในเขตสาม

อย่างโฮมเองตอนแรกก็หวั่นใจ เพราะพื้นที่ของเราเป็นไข่ขาวที่ล้อมรอบเมือง แต่ด้วยการหาเสียงที่เราลงไปเคาะประตูถึงแต่ละหมู่บ้าน ก็เลยอาจช่วยชีวิตโฮมขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่เชียงราย ก็ได้มีการพูดคุยกันอยู่ถึงการเลือกตั้งรอบหน้าว่าจะต้องทำอย่างไร ก็คุยกันไว้เช่นอาจต้องใช้การสื่อสารทางโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เราอาจจะพลาดในครั้งที่แล้วไป แล้วพวกเราก็ต้องจับมือกันให้แน่น อย่างตอนนี้ กระแสตอบรับของคนในพื้นที่ต่อพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กระแสตอบรับดี แต่ว่า ตอนนี้สงครามยังไม่จบ เราก็ต้องดูแบบปีต่อปีกันไป เราก็ต้องมีการปรับกลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทยต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งทางผู้บริหารพรรคก็มองถึงจุดนี้เหมือนกัน เราก็จะช่วยๆกันปรับวิธีการหาเสียงต่อไป

-ประชาชนในพื้นที่รอคอยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต การออกกฎหมายกู้เงิน มากน้อยแค่ไหน เวลาลงพื้นที่เขาถามเรื่องนี้กันมากน้อยแค่ไหน?

ก็ถามทุกครั้งเวลาที่เราลงพื้นที่และประชาชนต่างก็มีความหวัง เพราะประชาชนรากหญ้าเขาต้องการเงินตรงนี้มากระตุ้นลมหายใจของเขาจริงๆ ส่วนว่าหากสุดท้ายเกิดไปติดขัดอะไร เราก็ต้องไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เราอยากทำนโยบายดังกล่าว แต่กฎหมายอาจไม่เอื้อ แต่เราจะพยายามผลักดันต่อให้เต็มที่ เพราะว่าครั้งนี้หากมันไม่ประสบความสำเร็จหรือติดปัญหาอะไรต่างๆ ก็อาจต้องมีการแก้ไขแล้วก็อาจต้องยื่นไปใหม่ ก็คงต้องรอดู โดยเราก็ต้องคุยกับประชาชน เราต้องใช้ความจริงไปคุยกับเขาว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่เราก็ผลักดันกันเต็มที่แต่อาจจะติดในเงื่อนไขบางประการ

-เห็นเป็นส.ส.คนหนึ่งที่อภิปรายระหว่างที่สภาฯ กำลังพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ...ตอนพิจารณาวาระแรก ตัวร่างพรบ.ดังกล่าว มีความสำคัญอย่างไร?

จากที่เราได้ลงพื้นที่มา เราได้เห็นถึงข้อจำกัดในการช่วยเหลือ ซึ่งแนวทางการให้มีสภาชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย จะเป็นเวทีกลาง ให้กับชาติพันธุ์ทั้งหมดในประเทศ ได้มีเวทีร่วมในการเป็นเวทีให้มีการนำปัญหามานำเสนอต่อกัน แล้วก็หาจุดเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อที่จะเสนอต่อรัฐบาล ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่มีเวทีเลย แล้วแต่ละชาติพันธุ์ ก็จะมีปัญหาแตกต่างกัน หนึ่ง สอง สาม สี่ หากไม่มีเวทีดังกล่าว แล้วเขาจะนำปัญหาดังกล่าวไปคุยกับใคร อันนี้คือสิ่งที่โฮม เจอมา โฮม ก็เลยมองว่า สภาของชาติพันธุ์ จะเป็นเวทีกลางที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อที่จะนำมาspeak out หรือพูดคุยต่อในระดับประเทศได้

สำหรับปัญหาของชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่เราเจอมาหลักๆ ก็มีเช่น ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะพวกเขาไม่มีสิทธิ์ในการครอบครองเลย มีน้อยมาก เพราะการออกโฉนดหรือการจะให้เอกสารที่ดินทำกิน ชาติพันธุ์จะเป็นกลุ่มที่จะได้รับการอนุมัติเป็นลำดับท้ายๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญมากเพราะเรื่องที่ดินทำกินเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้องของพวกเขา จึงเป็นเรื่องสำคัญ

สองคือเรื่องของ"สัญชาติ"ตอนนี้ มีการทำเอกสารเพื่อจะยื่นขอสัญชาติค่อนข้างเยอะ แต่ได้รับการอนุมัติน่าจะแค่ปีละหนึ่งเปอร์เซ็นต์จากร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราสามารถทำให้มันดีกว่านี้ได้ อาจจะมองในแง่ที่ว่า พอเขาได้สัญชาติแล้ว จะเก็บภาษีแบบไหน ประเทศชาติจะได้ประโยชน์อย่างไร เราต้องมาชั่งน้ำหนักกันแล้ว เอาข้อดีข้อเสียมาคุยกัน เราอาจจะเซ็ตไปเลยว่าแต่ละปี เราจะให้สัญชาติได้กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วการพิสูจน์สัญชาติ บางพื้นที่อย่างเช่นเวียงเชียงรุ้ง หรือที่อำเภอแม่จันทร์ในเขตของโฮม บางคนยื่นมาสิบปีแล้วยังไม่ได้เลย บางคนยื่นจนเสียชีวิตไปแล้ว ก็ยังไม่ได้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มาพิสูจน์สัญชาติ มาสอบถามหรือว่ามาอะไรเลย อันนี้คือสิ่งที่โฮม รู้สึกสะท้อนใจว่า รัฐ น่าจะเอาข้อมูลหรือว่าเงื่อนไข หรือเรื่องที่เขาติดขัด นำไปบอกพวกเขาว่า เขาขาดอะไร แล้วเขาควรต้องทำแบบไหน อันนี้คิดว่าเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานของมนุษยชน

ส่วนการที่หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาข้างต้น ยังไม่ค่อยได้รับการแก้ไข อาจเกิดจากเช่นเรื่องของงบประมาณ หรือเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ของภาครัฐที่อาจมีไม่เพียงพอ ซึ่งเราก็เห็นใจทั้งสองฝ่าย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐน้อย แต่ปริมาณของการขอสัญชาติมีเยอะ รวมถึงการที่ประชาชนอาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือการได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอของชาติพันธุ์ด้วย เขาไม่รู้จะเข้าถึงตรงไหน ไม่รู้ว่าจะไปขอข้อมูลอย่างไร

"ปิยะรัฐชย์"ส.ส.สมัยที่สอง ในวัยสามสิบกลางๆ มองว่า การที่ช่วงหลังการเมืองไทย ได้มีส.ส.-นักการเมือง รุ่นใหม่ๆ ที่เรียกกันว่า"ยังบลัด"เข้ามาอยู่ในแวดวงการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเมืองไทย เพราะจากเดิมเราจะเห็นว่า ส.ส.จะอยู่ในช่วง 40 ปีหรือ 50 ปีขึ้นไป เข้ามาเป็นส.ส.สมัยแรกกัน แต่ปัจจุบันเราจะพบว่า ส.ส.สมัยแรกบางคนก็เพิ่งจะอายุ 25 ปี หรือ ประมาณ 26-27 ปี ที่ทำให้เกิดการผสมผสานในสภาฯ ที่มีทั้งรุ่นใหม่และคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาทำงานอยู่ร่วมกันที่สภาฯ เพราะบางที คนมีประสบการณ์ทางการเมืองก็อาจคิดไม่ถึงว่านักการเมืองรุ่นใหม่ๆ บางเรื่อง จะคิดได้ขนาดนี้ ส่วนคนรุ่นใหม่เอง ก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ของนักการเมืองอาวุโส ที่มองว่าเป็นการผสมผสานที่Mix กันได้ดี น่ารักเหมือนกัน

"สำหรับความตั้งใจของโฮม คืออยากทำงานการเมืองต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าเราไม่ได้จะเข้ามาทำงานการเมือง เพื่อต้องการสถานภาพการเป็นส.ส. อันนี้ไม่ใช่โฮมแน่นอน สิ่งที่โฮมเข้ามา และมีความสุขทุกครั้ง คือการได้เป็นส.ส.แล้วได้ช่วยเหลือประชาชน เวลาเราไปรับฟังปัญหาประชาชน แล้วนำมาอภิปรายปัญหาดังกล่าวในสภาฯ แล้วทางผู้หลักผู้ใหญ่เห็น แล้วลงมาช่วยเหลือประชาชน ตรงนี้คือสิ่งที่โฮมมีความสุขที่สุด"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อืดเป็นเรือเกลือ! เลขาฯวิปรัฐบาล รับยังไม่เห็นเอกสารร่างงบปี 67 ทำช้าก็จะมีปัญหา

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

จบกัน! ‘พรรคยุทธตู้เย็น’  เพื่อชาติไปต่อไม่ไหว ประกาศเลิกหลังล้มเหลวเลือกตั้ง  

หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อชาติ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคเพื่อชาติ

'ยงยุทธ' แขวะ 'บิ๊กตู่' อยู่ต่อ ขึ้นแล้วไม่ยอมลง เป็นปัญหาประเทศ

กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคเพื่อชาติ นำโดยพล.ต.ต.ดร.ชยุต มารยาทตร์ รองหัวหน้าพรรค พล.ต.สุวิทย์ วังยาว รองหัวหน้าพรรค ร.อ.จารุพล เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรค

'ยงยุทธ' ประโคมนโยบาย 'แก้เหลื่อมล้ำ-ลดทุนผูกขาด'

เพื่อชาติ ลุยภาคใต้ “ยงยุทธ” แนะ แก้ความเหลื่อมล้ำ-ทุนผูกขาด ชี้ ประชาชนมีที่ยืน เข้าถึงสวัสดิการรัฐ กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

'สส.ก้าวไกล' ดิ้นพล่าน! ยืนยันไม่ตัดบำนาญ โวยคนปล่อยข่าวบิดเบือนกลบปัญหางบที่แท้จริง

'รังสมันต์-สส.ก้าวไกล'ดิ้นพล่านยืนยันพรรคก้าวไกลไม่ตัดบำนาญโวยคนปล่อยข่าวบิดเบือนกลบปัญหางบประมาณที่แท้จริงฉวยโอกาสใส่ความ ลั่นก้าวไกลมีนโยบายผลักดันให้เกิดสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคน