เจาะคำร้องคดี พรรคก้าวไกล แก้ไข 112-ล้มล้างการปกครอง กับผลต่อเนื่อง ที่จะตามมา

เชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นผู้ทรงภูมิความรู้  จะวางบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดความสงบสุขในการเมืองการปกครองของบ้านเราไปถึงภายภาคหน้า...หากต่อไปนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่ หากคิดจะกระทำการหรือคิดวางนโยบาย หรือพูดจาในสิ่งใดๆ ที่อาจจะกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาทหรือจาบจ้วงหรือกัดเซาะบ่อนทำลาย หรือไปเปิดช่องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันหลักอื่นๆ ก็ขอให้ดูบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวางไว้ในคดีนี้

หลัง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล" ได้เฮ ไปเมื่อ 24 มกราคมที่ผ่านมา เพราะพิธาไม่ต้องหลุดจากตำแหน่ง สส. จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีคำร้องเรื่องหุ้นสื่อไอทีวี ทำให้เขาได้กลับเข้าทำหน้าที่ สส.อย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม วันพุธที่ 31 มกราคมนี้ พิธาและพรรคก้าวไกลยังมีนัดหมายสำคัญทางคดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งคำร้อง นั่นก็คือคดีที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “คดีล้มล้างการปกครอง”

อันเป็นคดีที่ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ" ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญต มาตรา 49 ว่าการกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  49 วรรคหนึ่ง หรือไม่?

ซึ่งหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย และดำเนินการไต่สวนจนเสร็จสิ้นกระบวนความ ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 31 มกราคมนี้  เวลา 14.00 น.

"ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ผู้ยื่นคำร้องคดี" เปิดเผยว่า จะเดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 31 มกราคมนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้รู้สึกกดดันอะไร เพราะอยากไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยด้วยตัวเองเพื่อฟังคำชี้แนะต่างๆ จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในเรื่องการเมืองการปกครองไทยต่อไปอย่างไร ก็เหมือนนักเรียนไปฟังคำครูบาอาจารย์

...ผมพบว่าพรรคก้าวไกลมีการแก้ไขข้อบังคับพรรคฉบับล่าสุด มีการเขียนเรื่องภราดรภาพไว้ในข้อบังคับพรรคก้าวไกลด้วย ซึ่งคำว่า ภราดรภาพ ก็มีหลักสำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นบุคคลอื่นด้วย เมื่อมีคำคำนี้ปรากฏอยู่ในข้อบังคับพรรค ตัวสมาชิกพรรคก้าวไกลหรือผู้นิยมชมชอบในตัวพรรคก้าวไกล ควรต้องให้ความเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่นตามที่ปรากฏในข้อบังคับพรรคด้วย ก็ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรในการจะไปฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเองในวันที่ 31 มกราคมนี้

ธีรยุทธ ผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครอง” กล่าวถึงที่มาที่ไปของการยื่นคำร้องครั้งนี้ว่า ก่อนหน้านี้ได้ใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่ออัยการสูงสุดก่อน เพื่อขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่เมื่อยื่นไปแล้วจนครบกำหนดก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จากอัยการสูงสุด แต่มาตรา 49 ก็เปิดช่องให้สามารถมายื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ผมก็เลยมายื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

...และเมื่อยื่นคำร้องไปแล้ว จนศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย ตามขั้นตอนตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้นทางศาลก็ส่งตัวคำร้องให้ผู้ถูกร้อง (นายพิธาและพรรคก้าวไกล) ได้ทราบด้วยว่ามีการยื่นคำร้องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องได้ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการยื่นคำร้องดังกล่าว รวมถึงแสดงเหตุผลของฝ่ายตัวเองในประเด็นที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับทราบ

...ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีกำลังดำเนินไป ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหนังสือ มีหมายไปตามหน่วยงานราชการต่างๆ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำร้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจน สำนักงานศาลยุติธรรม โดยในส่วนของศาลยุติธรรม ทางศาลรัฐธรรมนูญก็สอบถามไปว่า ในเรื่องมาตรา 112 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ในชั้นศาลอย่างไรบ้าง มีใครเป็นโจทก์-จำเลยในช่วงไต่สวนคดีบ้าง และคดีมาตรา 112 ที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลทั่วประเทศ คดีอยู่ที่ศาลจังหวัดใดบ้าง ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็รวบรวมส่งข้อมูลไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ก็มีการส่งข้อมูลไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่อยู่ในส่วนของตำรวจเป็นอย่างไรบ้าง ขณะที่สำนักงาน กกต.ก็มีการให้ข้อมูลว่าตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทางพรรคก้าวไกลได้อธิบายถึงนโยบายการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 กับ กกต.ไว้อย่างไร และ กกต.มีความเห็นอย่างไรบ้าง ขณะที่ในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีทำหนังสือกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าเรื่องคดี 112 ในส่วนของอัยการ จากการตรวจสอบเป็นอย่างไร

ธีรยุทธ” มองว่า กระบวนการไต่สวนคดีของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญพยายามเปิดรับข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดมิติต่างๆ รอบด้าน เพราะองค์คณะในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน เพื่อวางบรรทัดฐานคำวินิจฉัยให้รอบด้านครบถ้วน จนเมื่อรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนพอที่จะไต่สวนคดีได้แล้ว ต่อมาทางศาลรัฐธรรมนูญก็เปิดห้องพิจารณาคดีของศาลเพื่อไต่สวนคดี โดยเรียกพยานมาให้ถ้อยคำ แต่ก่อนหน้าจะมีการเปิดห้องไต่สวนคดี ทางศาลรัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ตรวจสอบพยานเอกสารของแต่ละฝ่าย และของศาลรัฐธรรมนูญที่เรียกมาด้วย ผมก็เข้าไปตรวจ รวมถึงนายพิธาและตัวแทนพรรคก้าวไกลก็เข้าไปตรวจ จนมีการเซ็นเอกสารรับรองว่าเป็นเอกสารที่ทั้งสองฝ่ายได้ตรวจดูแล้วอย่างเปิดเผย จนมีการเปิดห้องไต่สวนคดีเมื่อ 25 ธ.ค. 2566 ที่นายพิธาและนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้มาให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ

...ในการไต่สวนคดี ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่ตามกระบวนการ มีการสอบถาม ซักถามในประเด็นต่างๆ จนเมื่อทั้งสองคนตอบข้อซักถามของศาลเรียบร้อยแล้ว การไต่สวนก็เสร็จสิ้น และได้กำหนดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคมนี้

...สำหรับคดีนี้ ทางผมที่เป็นผู้ร้องไม่ได้ทำเอกสารคำแถลงปิดคดียื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคดีนี้แนวทางของผมคือตัวผู้ร้อง กำหนดว่าเรามาทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า เมื่อประชาชนชาวไทยไม่ว่าผู้ใดผู้หนึ่ง ได้พบเห็นการกระทำใดในลักษณะที่ต้องห้าม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ให้เสนอเรื่องให้วินิจฉัย

ผมก็ทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะเมื่อได้เห็นพฤติการณ์ต่างๆ ตามที่ระบุในคำร้อง ผมก็บอกต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าสิ่งที่ผมพบเห็น ผมไม่อาจสามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ด้วยตัวเอง เราก็ทำหน้าที่ชี้ช่องไปว่า ตรงไหน มีเอกสารลักษณะเช่นนี้อยู่ หรือมีข้อมูลตรงนี้อยู่ตรงจุดใด  เบื้องต้นศาลก็ใช้อำนาจไปเรียกเอกสารดังกล่าวมาตรวจ  และสามารถเรียกเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบได้อีกด้วย แล้วก็มาชั่งน้ำหนักกัน

ตามกระบวนการพิจารณาคดี ทางศาลรัฐธรรมนูญก็ให้โอกาสทั้งสองฝ่ายยื่นเอกสารคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในส่วนของผมก็ไม่ได้มีการยื่น แต่ผมก็ไม่ได้ตามต่อว่าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องได้มีการยื่นไปหรือไม่   

ธีรยุทธ” เล่าให้ฟังอีกว่า สำหรับสาเหตุที่ได้มีการยื่นคำร้องดังกล่าวไปที่อัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงสภาฯ สมัยที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในคณะกรรมาธิการบางชุดของสภาฯ ก็เลยได้มีโอกาสเห็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ สส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อกันเสนอสภาฯ  สมัยที่แล้ว พออ่านดูก็รู้สึกตกใจ เพราะเห็นว่าไม่ใช่การเสนอร่างแก้ไขตามปกติ แต่เป็นลักษณะการเสนอให้ยกเลิก แต่ทางพรรคก้าวไกลอ้างว่าไม่ได้เป็นการยกเลิก แค่เป็นการย้ายหมวด ซึ่งการย้ายหมวดดังกล่าวจากมาตรา  112 พอย้ายหมวดออกไปก็จะกลายเป็นมาตราอื่น จนกลายเป็นลักษณะความผิดที่สามารถยอมความได้ และร่างของพรรคก้าวไกลก็กำหนดให้ผู้เสียหายที่จะไปแจ้งความดำเนินคดี ก็ให้เพียงแค่ "สำนักพระราชวัง" เพียงหน่วยเดียว อันเป็นการทำให้สถาบันต้องเข้ามามีข้อพิพาทกับราษฎร ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง และต่อมาเมื่อมีการออกมาให้ความเห็นจากหลายฝ่าย เช่น สื่อมวลชนอาวุโส  นักกฎหมาย ที่ออกมาให้ความเห็นถึงการเสนอร่างแก้ไข  112 ของพรรคก้าวไกล ผมก็เห็นว่าลักษณะการแก้ไขดังกล่าว มันไปตรงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคำร้องก่อนหน้านี้ (คำร้องโดยนายณฐพร โตประยูร) ที่เคยไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กลุ่มเคลื่อนไหวการเมือง (ม็อบสามนิ้ว) ไปเปิดเวทีปราศรัยและประกาศ 10 ข้อเรียกร้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ที่มีเรื่องของการให้ยกเลิกมาตรา 112 ด้วย ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือน และส่งผลอันเป็นการกัดเซาะ บ่อนทำลาย ที่แม้ตอนนี้จะยังไม่เกิด แต่การกัดเซาะ บ่อนทำลายดังกล่าว จะทำให้วันหน้าเกิดขึ้นแน่ ซึ่งวิญญูชนหรือประชาชนทั่วไปย่อมเล็งเห็นได้ว่ามันต้องเกิดขึ้นแน่

...ต่อมาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ผมก็ไปดูว่าตอนหาเสียง พรรคการเมืองดังกล่าว (พรรคก้าวไกล) พูดถึงเรื่องนโยบายเกี่ยวกับมาตรา 112 อย่างไร มีการให้สัญญาไว้อย่างไร ก็ไปปรากฏชัดในวันที่ น.ส.ทานตะวัน  ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ไปขึ้นเวทีหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่ชลบุรี ที่ตอนนั้นนายพิธาไปเปิดเวทีปราศรัย เขาก็พูดชัดว่าเขาเห็นด้วยกับการแก้ 112 แต่ว่าต้องเข้าไปแก้ในสภาฯ ก่อน แต่หากเขาไม่ให้แก้แล้วเราค่อยลงถนนด้วยกัน คำพูดดังกล่าวไม่ใช่คำพูดของบุคคลทั่วไป แต่เป็นคำพูดของนักการเมือง แต่เป็นคำพูดของหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ตัวเองก็รู้ว่ากำลังเป็นพรรคที่มีคะแนนนิยมตอนหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต่อไปพรรคการเมืองของเขาจะเข้าไปใช้อำนาจ เป็นผู้มีอำนาจ จะเข้าไปเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน จึงควรต้องตระหนัก ดังนั้นสิ่งที่เขานำเสนอออกมา จะเป็นเพราะขาดความตระหนัก หรือเล็งเห็นอะไรหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยที่เราก็รอฟังอยู่

คำร้องที่ยื่นไม่ได้มีการขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด โดยในคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง หยุดที่จะนำนโยบายยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112  มาใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง และขอให้หยุดการสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นเรื่อง 112 ไม่ว่าจะต่อสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พูดง่ายๆ ภาษา ชาวบ้านคือขอให้หยุดเถอะ อย่าก้าวล่วงสถาบันเลย เพราะแม้จะไม่ได้ถึงกับออกปากก้าวล่วง แต่สิ่งที่ดำเนินการทำอยู่ มันจะเป็นการเปิดช่องเปิดโอกาสให้มีผู้ฉกฉวยเอาไปใช้ประโยชน์ในการก้าวล่วงสถาบัน

...จากพฤติการณ์หลายอย่างที่เราเห็น บวกกับความเห็นของนักวิชาการ สื่อมวลชนอาวุโสหลายคนที่ให้ความเห็นเรื่องนี้ ผมก็นำเสนอความเห็นดังกล่าวส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการวินิจฉัยด้วย เพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยที่ผมก็เชื่อว่าศาลท่านจะพิจารณาดู ซึ่งผมก็เชื่อว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้ทรงภูมิความรู้อยู่แล้ว จะวางบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดความสงบสุขในการเมืองการปกครองของบ้านเราไปถึงภายภาคหน้า ที่ก็จะส่งผลไปถึงสิ่งที่ผมคาดหวังมากกว่านั้น ก็คือว่าหากต่อไปนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดๆ หรือพรรคการเมืองไหนก็แล้วแต่  หากคิดจะกระทำการหรือคิดวางนโยบาย หรือพูดจาในสิ่งใดๆ อันอาจจะกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท หรือจาบจ้วงหรือกัดเซาะบ่อนทำลาย หรือไปเปิดช่องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันหลักของชาติอื่นๆ ก็ขอให้ดูบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวางไว้ในคดีนี้ เพื่อให้เกิดความตระหนักเพิ่มขึ้น จะได้หลีกเลี่ยงหรืองดการกระทำเสีย เพื่อที่ต่อไปภายภาคหน้าจะไม่เกิดเรื่องราวแบบนี้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วกับคำร้องคดีนี้ อันนี้คือสิ่งที่ผมคาดหวังไว้เท่านั้นเอง

หากผลออกมาไม่เป็นคุณกับก้าวไกล จะมีการยื่นยุบพรรคหรือไม่?

ธีรยุทธ” ย้ำว่า คำร้องที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด โดยในคำร้องได้สรุปไว้ในบรรทัดท้ายๆ ว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง (นายพิธา และพรรคก้าวไกล) หยุดที่จะนำนโยบายยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 มาใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง และขอให้หยุดในการสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่อง 112  ไม่ว่าจะต่อสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือ ขอให้หยุดเถอะ อย่าก้าวล่วงสถาบันเลย เพราะแม้จะไม่ได้ถึงกับออกปากก้าวล่วง  แต่สิ่งที่ดำเนินการทำอยู่ มันจะเป็นการเปิดช่องเปิดโอกาส ให้มีผู้ฉกฉวยเอาไปใช้ประโยชน์ในการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ขอให้หยุดเสียเถอะ”

-หากในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 31 มกราคม มีการระบุว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองไม่เหมาะสม เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ตรงนี้บางฝ่ายสามารถที่จะนำไปยื่น กกต.ให้เอาผิดผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลได้หรือไม่?

ตรงนี้สำหรับผมยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ก็เลยอาจจะยังตอบไม่ได้ ยังไม่ได้คิดขั้นนั้น

สิ่งที่อยากบอกก็คือ ตัวผมไม่ได้อยากจะไปพิฆาตฟาดฟันอะไร เพียงแต่เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของพสกนิกรชาวไทยเท่านั้นเอง จึงขอให้เขาหยุดเถอะ ขอให้ฟังเสียงคนอื่นบ้าง อย่างที่เขาเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคก้าวไกลที่มีเรื่องของหลักภราดรภาพ เท่านั้นเอง”

ที่มาที่ไปยื่นคำร้อง อัยการสูสุด-ศาลรัธรรมนูญ

โดยก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะนัดฟังคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวในวันที่ 31 มกราคมนั้น ช่วงระหว่างที่ศาลกำลังดำเนินการไต่สวนคดี “ไทยโพสต์” ได้เคยสัมภาษณ์  “ธีรยุทธ-ผู้ยื่นคำร้อง” มาแล้วรอบหนึ่ง ดังนั้นเพื่อเติมเต็มเรื่องนี้ให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น จึงขอนำมาเสริมกับบทสัมภาษณ์ล่าสุด

ซึ่ง "ธีรยุทธ" บอกตอนนั้นว่า หลักการและเหตุผลที่ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อต้องการให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล "หยุดใช้นโยบายการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112" คือแม้การเคลื่อนไหวดังกล่าว รัฐธรรมนูญจะให้สิทธิในการเคลื่อนไหว แต่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางแนววินิจฉัยคดีไว้ก่อนหน้านี้ ถึงขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งการเขียน การพูด  การเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ มีขอบเขตว่าจะไปล่วงถึงการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่มีไว้เพื่อคุ้มครองสถาบันหลักของชาติไม่ได้ และศาล รธน.ได้ชี้อีกว่าสถาบันหลักของชาติ สถาบันหนึ่งก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์

โดยศาลวินิจฉัยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคำว่าชาติ แยกออกจากกันไม่ได้ การใช้นโยบายการยกเลิก 112 ที่ทางก้าวไกลอ้างว่าไม่ใช่การยกเลิกแต่เป็นการแก้ไข มันจึงกระทบกระเทือนสถาบันหลักของชาติ เพราะจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ผู้คนจะพูดกันว่า ทำไมพรรคก้าวไกลถึงจะยกเลิกหรือแก้ไข 112 ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ส่วนเสียว่าหากไม่มีการแก้ไข อาจจะเกิดขึ้น  ซึ่งมันก็เกิดขึ้นแล้วในสังคม

ผมติดตามความพยายามเสนอแก้ไข 112 มาตลอด เช่นการชุมนุมกันของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต และความเคลื่อนไหวอื่นๆ ต่อจากนั้น ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ที่เคลื่อนไหวเรื่อง 112 อย่างก่อนหน้านี้ ก็เคยไปร้องเรียนให้หน่วยราชการสนใจเรื่องนี้ด้วย เพราะอาจเป็นการกระทำที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท เพราะการเคลื่อนไหว การเรียกร้องของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว เราเล็งเห็นเจตนาของกลุ่มที่ออกมาว่า ต้องการ "ลดสถานะของพระองค์ ด้อยการด้อยค่าสถาบัน” โดยมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวทำกันเป็นเครือข่าย ที่เชื่อมโยงคนที่มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

..ก่อนหน้านี้มีคนไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ คือ ดร.ณฐพร โตประยูร ที่ร้องว่าแกนนำม็อบ และแนวร่วมที่เคลื่อนไหวเรื่อง 112 มีการเคลื่อนไหวหลายครั้ง เช่น จัดเวทีปราศรัยล้มล้างการปกครอง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 โดยส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยระบุถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เช่นการนัดชุมนุมแล้วมีการเคลื่อนขบวนจะไปปิดล้อม ถึงขั้นจะเข้าไปยังเขตพระราชฐาน ซึ่งเป็นภาพที่เราในฐานะพสกนิกรภายใต้ร่มพระบารมี เห็นแล้วรู้สึกสลดหดหู่ ว่าทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ถึงกล้าก้าวล่วง  กล้าที่จะเอาใบปลิวไปโยน เมื่อเราเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มคนเหล่านี้ ก็ทำให้เห็นพฤติกรรมหลายๆ ครั้งของคนเหล่านี้

คำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นคำวินิจฉัยของเครือข่ายกลุ่มบุคคลที่เชื่อมโยงกัน และช่วงใกล้เคียงกันกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าว ก็จะมีภาพนายพิธาและคนของพรรคก้าวไกลแสดงออกด้วยการชูสามนิ้ว ที่เป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนดังกล่าว

ผมก็มานั่งอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีดังกล่าวหลายครั้ง จนเข้าใจถึงการวางคำวินิจฉัยในลักษณะการให้ข้อชี้แนะและสร้างความกระจ่างไว้หลายส่วน อย่างที่พรรคก้าวไกลพยายามจะสื่อสารออกมาในช่วงนี้ว่า ที่จะเสนอแก้ไข 112 ไม่ได้มีเจตนาไปถึงขั้นล้มล้าง อันนี้ปรากฏชัดในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 3/2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (กรณีเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562) ที่ได้อธิบายคำว่า "ล้มล้าง" ไว้ชัดเจน อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีคำปรากฏอยู่สองคำ คือคำว่า "ล้มล้าง" กับ "ปฏิปักษ์" โดยล้มล้างที่พูดถึงคือ ทำให้สิ้นสูญไป ทำให้ไม่มีเหลืออยู่ แต่คำว่าปฏิปักษ์ คำวินิจฉัยมีการแยกย่อยออกมาว่า คือการกระทำใดๆ ก็ได้ที่ก่อให้เกิดการเซาะกร่อน  บ่อนทำลาย ทำให้ด้อยค่า ที่อาจเกิดการสูญสลายไปในวันข้างหน้าในที่สุด และคำว่า "ปฏิปักษ์นี้ หาจำต้องให้เกิดผลร้ายเสียก่อนไม่ เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์นั้น ก็ถือว่าผิดและขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว" และยังอธิบายต่อไปอีกว่า คำว่า "อาจเป็นปฏิปักษ์ ไม่อาจจำต้องให้เกิดความเสียหาย เพียงแต่วิญญูชนมองเห็นแล้วว่า หากปล่อยเนิ่นช้าไป ความเสียหายเกิดขึ้นแน่ในอนาคต"

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยที่คล้ายกันในสองคำร้องดังกล่าวว่า จึงต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เพราะเห็นว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ดังกล่าว เป็นการกระทำของกรรมการบริหารพรรค ที่มีความผูกพันกับพรรคด้วย เมื่อผมดูจากคำวินิจฉัยคดีพรรคไทยรักษาชาติ เราก็เห็นว่าการเคลื่อนไหวของนายพิธาที่กระทำการใดๆ ในนามหัวหน้าพรรค ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค จึงถือว่ามีความผูกพันกับพรรคก้าวไกลไปด้วยในตัว

โดยภาพที่ปรากฏก็อย่างเช่น ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่นที่มีการไปเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงที่เทศบาลแหลมฉบัง ซึ่งวันดังกล่าว "ตะวัน-แบม" สองนักเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกมาตรา 112 ก็ไปปรากฏตัวขึ้นเวทีของพรรคก้าวไกล โดยมีการนำป้ายขึ้นไปสอบถามความเห็นนายพิธากับผู้สมัคร สส.ของก้าวไกล โดยก่อนที่นายพิธาจะหยิบสติกเกอร์ไปติดเพื่อแสดงความคิดเห็นเรื่อง 112 นายพิธาพูดว่า "ผมนายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล" เขาก็ยืนยันว่าเขาจะแก้ แต่สติกเกอร์ที่เขาติด เขาติดในช่อง "ยกเลิก" และหลังติดแล้วนายพิธายังพูดซ้ำอีกว่า "หากรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาลพลเอกประยุทธ์)  เขาไม่ยอมให้ยกเลิก งั้นเดี๋ยวเราไปยกเลิกด้วยกัน  โดยเราจะรอ"

...ต่อมาหลังจากนั้นพบว่า นายพิธาเวลาไปไหนก็พูดเรื่องนี้ แต่จะพูดว่าไม่ได้ยกเลิก แค่พยายามจะแก้ไข ผมก็ได้พยายามหาร่างแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เพื่อต้องการดูว่าก้าวไกลต้องการแก้ไขหรือยกเลิก 112 กันแน่ จนไปได้ร่างแก้ไขมาตรา 112 ดังกล่าวของพรรคก้าวไกล ที่ สส.ก้าวไกลเข้าชื่อกันเสนอสภาฯ สมัยที่แล้ว

"โดยหลักการและเหตุผลพูดชัดเลยว่ายกเลิกมาตรา 112 และในตัวร่างก็เขียนชัดว่ายกเลิกมาตรา 112 ถ้าร่างดังกล่าวถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะต้องมีการอภิปรายในทางที่อาจไม่เหมาะสมได้ เช่น ทำไมต้องเสนอแก้ไข เมื่อเป็นแบบนี้เราก็เห็นเลยว่า  นายพิธาและก้าวไกลหาเสียงด้วยข้อความอันเป็นเท็จ  มันไม่ใช่แค่แก้ไข แต่มันคือการให้ยกเลิก 112"

พอมองประกอบกันหลายๆ เรื่อง ก็จะเห็นความผิดของเขา เราก็เริ่มจับตา พอดีระหว่างนั้นก็ได้เห็นบทความของอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่าได้เห็นร่างแก้ไขมาตรา  112 ของพรรคก้าวไกล ที่เห็นว่ามันไม่ใช่การแก้ไข แต่เป็นการยกเลิก ก็เป็นอย่างที่บอก คือเขาหาเสียงด้วยความเท็จ  เพราะไม่ใช่การแก้ไขแต่เป็นการยกเลิก เราก็ไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เขียนไว้ว่า กฎหมายใดมีไว้เพื่อไว้เพื่อคุ้มครองสถาบันของชาติ กฎหมายนั้นจะยกเลิกหรือแก้ไขมิได้

เมื่อผมตั้งใจจะยื่นคำร้องคดีดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผมจึงยกประโยคนี้ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง เพื่อบอกว่า ศาลได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า กฎหมายที่มีไว้เพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ จะยกเลิกหรือแก้ไขเพื่อให้ส่งผลเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายหรือทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ท่าน ไม่ว่าในทางใดๆ ทำไม่ได้

 ซึ่งพบว่าก่อนหน้านี้ นายพิธาและคนในพรรคก้าวไกลเคยพูดไว้หลายครั้งว่า ตอนสภาฯ สมัยที่แล้วที่ สส.ก้าวไกลยื่นเสนอแก้ไขมาตรา 112 แต่สภาฯ ไม่ยอมบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ทางประธานสภาฯ (ชวน หลีกภัย) ที่มอบหมายงานด้านกฎหมายของสภาฯ ให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งเวลานั้นรับผิดชอบ ใช้อำนาจเบรกไว้ก่อน เพราะตอนที่เสนอตอนนั้น ทางฝ่ายกฎหมายของสภาฯให้ความเห็นว่าร่างดังกล่าวขัดกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้"

และต่อมาสภาฯ มีหนังสือไปถึงพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลโดยนายพิธา หัวหน้าพรรค ก็มีหนังสือตอบกลับไปที่สภาฯ ว่ายืนยันตามร่างที่เสนอไป คือไม่มีการแก้ไข ทำให้ร่างฯ ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้ยังอยู่ไม่ได้ถูกถอนร่างออกไป ซึ่งผมได้ยินคุณพิธาพูดเรื่องนี้สองครั้งบนเวทีดีเบต ว่าพรรคก้าวไกลเสนอร่างฯ ไว้แล้ว และพรรคก้าวไกลพร้อมที่ผลักดันจนกว่าจะได้รับการแก้ไขสำเร็จตามความหวังของเขา รวมถึงตอนที่แถลงข่าวการเซ็นเอ็มโอยู 8 พรรคตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย จากนั้นสื่อได้ถามนายพิธาว่าไม่มีเรื่อง 112 ในเอ็มโอยู แล้วพรรคก้าวไกลจะว่าอย่างไร นายพิธาก็ตอบว่าจะเดินหน้าตามร่างเดิมในปี 2564 จนกว่าจะสำเร็จ

"ธีรยุทธ" กล่าวต่อไปว่า ทั้งหมดแสดงว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่พรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไข 112 ไว้ตอนปี 2564 ก็ยังมีการดำเนินการอีกหลายอย่างเพื่อให้การแก้ไข 112 ต้องสำเร็จให้ได้ ซึ่งแม้ในความหมายของเขาจะบอกว่าแก้ไข แต่ความจริงที่ปรากฏในร่างที่เสนอต่อสภาฯ คือการยกเลิกมาตรา 112 เมื่อเป็นแบบนี้แสดงว่าเขาไม่หยุด ทั้งที่สภาฯ เตือนแล้วว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังยืนยันจะเอาเข้าอีก เห็นได้จากตอนประชุมร่วมรัฐสภาโหวตนายกฯ เมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็มี สส.และ สว.หลายคนอภิปรายซักถามและบอกว่า เรื่อง 112 ไม่แก้ ไม่ยุ่งได้หรือไม่ เขาก็ยังยืนยันว่าจะแก้ และไม่ใช่แค่นายพิธาคนเดียว แต่คนอื่นเช่นนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ลุกขึ้นอภิปรายยืนยันว่าจะแก้ไข เพียงแต่เขาไปใช้วิธีเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาของสังคม ก็ใช้วิธีไปสร้างมาตราขึ้นมาใหม่ โยกแยกความผิดกรณีมีบุคคลใดไปดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งเดิมหากดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะมีความผิดตามมาตรา 112 แต่เขาใช้วิธีการจับแยก คือบุคคลใดไปดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งเดิมหากดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ให้ได้รับโทษไม่เกินหนึ่งปี ส่วนผู้กระทำความผิดต่อพระราชินี  รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน

ทั้งที่หากเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โทษจำคุกยังสามปี แต่อันนี้ไปแก้ไขว่าหากกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ให้จำคุกแค่ไม่เกินหนึ่งปี หรือหากดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระราชินี จำคุกไม่เกินหกเดือน

"อันนี้ชี้ได้เลยว่าเขามีเจตนาที่จะทลายกรอบการคุ้มกันสถาบันพระมหากษัตริย์"

...ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เขียนไว้ชัดว่า คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ มิได้มีแต่เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ แต่ยังมีองค์รัชทายาท พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ประกอบรวมเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จึงหมายรวมถึงทั้งหมด จึงได้วินิจฉัยว่าการที่พรรคไทยรักษาชาติ เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตอนเลือกตั้งปี 2562 จึงเป็นสิ่งไม่ถูกไม่ควร เป็นการนำสถาบันฯ มาใช้เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองด้านเดียว ซึ่งคำว่า ประโยชน์ในทางการเมืองด้านเดียว ก็ยังมาปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ของแกนนำม็อบเคลื่อนไหวแก้ 112

ทำให้ผมเห็นเลยว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายหาเสียงที่ปรากฏในเว็บไซด์พรรคก้าวไกล 300 กว่านโยบาย แต่นายพิธาและลูกพรรค ผู้สมัคร สส.ของก้าวไกลไปหาเสียงที่ไหน ก็จะเอาแต่เรื่อง 112 อันนี้อันเดียว ทุกเวทีก็พูดแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว ดีเบตก็พูด ออกทีวีก็พูด รวมถึงการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเช่นบีบีซี

ผมก็มาพิจารณาดูว่าเขาใช้เรื่องนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ โดยก็พบว่าพรรคก้าวไกลก็มีนโยบายหาเสียงเรื่องจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งนิรโทษกรรมที่ก้าวไกลพูดถึง การจะนิรโทษกรรมผู้ถูกเอาผิดในคดีเคลื่อนไหวการแสดงออกทางการเมือง ที่ก็คือรวมถึงผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย ก็จะทำให้คนที่ไปละเมิดสถาบัน ก็จะไปนิรโทษกรรมเพื่อปล่อยพวกนี้ออกมา ผมก็มองว่าเจตนาเขาไม่ปกติ เขาตั้งใจจะใช้การแก้ไขมาตรา 112 ที่อ้างเพื่อผลประโยชน์ในการหาเสียง

อย่างที่พยายามจะผลักดันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯ ให้ได้ ก็เพราะถ้าเสนอไปแล้วจะได้เวทีได้พูด โดยอ้างว่าประชาชนพูดถึงเรื่องนี้ โดยที่การประชุมรัฐสภา ก็จะมีกรอบการคุ้มกันในการพูดที่ไม่ต้องรับโทษไว้อยู่ จะไปกล่าวหาฟ้องร้องเขาไม่ได้ ทำให้เขาจะใช้สิทธิ์พูดได้หมด ทั้งเรื่องจริงเรื่องไม่จริง ซึ่งมันไม่ควรเพราะมันจะไปกระทบถึงสถาบันฯ

-คำร้องดังกล่าว หากสุดท้ายศาล รธน.วินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ผลจะเป็นอย่างไร?

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านก็คงมีกรอบในการวินิจฉัย คือต้องไม่ผิดไปจากที่กฎหมายให้อำนาจ และต้องไม่วินิจฉัยนอกเหนือไปจากที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องไป ซึ่งคำร้องของผมขอให้พรรคก้าวไกลหยุดเรื่องนี้ หยุดใช้ 112  ในการหาเสียง แต่เมื่อวันนี้การหาเสียงเลือกตั้งจบไปแล้ว  ก็ขอให้พรรคก้าวไกลหยุดที่จะแสดงความเห็น หยุดการเผยแพร่ใดๆ ในเรื่องมาตรา 112 เพราะผมตีความจากคำวินิจฉัยที่ยกมาสองคดีข้างต้นที่่ว่า "ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้ลุกลาม" คือไม่ให้พูดต่อ ให้หยุดเสีย ให้มันหายไปเลย ไม่ต้องพูด ไม่ให้แสดงความเห็นหรือเผยแพร่ข้อความใด รวมถึงไม่สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112  ต่อรัฐสภาด้วย โดยร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอค้างอยู่ตอนสภาฯ สมัยที่แล้ว หากพรรคเขาไม่ถอนร่างออก แต่ทางสภาฯ ก็ต้องถอนออกไปทันที เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

แต่ลำดับแรก ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยก่อนว่า  พฤติการณ์ของเขาเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองหรือไม่  หากเข้าข่ายมันก็จะเป็นสารตั้งต้นเหมือนกับที่ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ เคยกล่าวไว้ คำร้องคดีนี้จะเป็นสารตั้งต้น เพราะก่อนจะมีคำวินิจฉัยออกมา ทางตุลาการศาล รธน.ต้องวินิจฉัยก่อนว่าพฤติการณ์ของนายพิธาและ สส.พรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้าง เข้าข่ายเซาะกร่อนหรือไม่ หากเข้าข่ายก็คงอาจไปดูว่าแล้วจะเป็นการล้มล้างในวันข้างหน้าได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าเข้าข่ายก็อาจจะมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดเรื่อง 112

ตรงจังหวะนี้ คือการวินิจฉัยว่าจะเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย ถ้าเข้าข่าย นี้คือเหตุผลในการจะนำไปสู่การร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่บัญญัติว่า หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคและและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค

ซึ่งการเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลที่เสนอสภาฯ สมัยที่แล้ว คนที่เซ็นอยู่ข้างท้ายในร่างดังกล่าว คนแรกก็คือนายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยมี สส.พรรคก้าวไกล ลงชื่อรับรองการเสนอร่างเข้าสภาฯ ซึ่งหากศาลมองไกลไปถึงคำว่า "พรรค" แล้วจุดเกิดเหตุมันอยู่ที่การเสนอร่าง ไม่ใช่แค่นายพิธาที่จะโดน แต่ สส.ที่ร่วมลงชื่อรับรองร่างดังกล่าวอีกหลายสิบคนให้เสนอสภาฯ ก็อาจจะโดนด้วย

"คำร้องคดีนี้ หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลหยุดเรื่อง 112 ศาลจะวินิจฉัยก่อนว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และจะมีผลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ในวันข้างหน้า ซึ่งหากเห็นว่าเข้าข่าย ก็อาจเห็นควรมีคำสั่งให้หยุดการกระทำต่างๆ ตามที่ผู้ร้องได้ร้องต่อศาล

 หากเป็นเช่นนั้น เหตุผลจากคำวินิจฉัยว่าพฤติกรรมเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และอาจเป็นการล้มล้าง เหตุผลดังกล่าวนั้น จึงจะเป็นหลักฐานอันควรเชื่อว่า เป็นเหตุอันควรยุบพรรค ซึ่งจะเป็นคำร้องดอกสองต่อไป.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองปธ.กมธ.ต่างประเทศสภาฯ ชี้น่ากังวล ‘บัวแก้ว’ สุญญากาศ หนุน ‘นพดล’ เหมาะ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร  ลาออกจาก รมว.ต่างประเทศว่า เป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาเวลานี้ กระทบกับประเทศไทยอย่างมาก

ก้าวไกล เดือดแทน ‘หมอชลน่าน’ ทุ่มเทเหนื่อยสุด โดนคนทิ้งพรรคเสียบเก้าอี้

‘ณัฐชา’ มอง ปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ‘เพื่อไทย’ ยังรักษาคาแรคเตอร์ ‘สมบัติผลัดกันชม’ เก้าอี้ รมต. เหมือนเดิม สงสัย ทำไมเอาคนทิ้งพรรคอย่าง ’สมศักดิ์‘ แทน ’หมอชลน่าน‘ เหตุเหนื่อยสุดแบกรับสถานการณ์ช่วงเลือกตั้ง-จัดตั้งรัฐบาล

'รังสิมันต์'แนะ 3แนวทางแก้ปัญหาเมียนมา!

กมธ.ความมั่นคงเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องถกสถานการณ์เมียนมา 'โรม' ชี้ปัญหาในเมียนมาก็เป็นปัญหาของไทย เหตุคนหนีอพยพข้ามแดน ลั่นไทยอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจที่สุด ควรเป็นตัวกลางในการเจรจา

ศชอ. คัมแบ็ค! ประกาศกลับมาแล้ว พร้อมลุยใช้กฎหมาย ม.112 ปกป้องสถาบัน

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ.โพสต์ข้อความว่า "กลับมาแล้ว" หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2566 ได้ประกาศยุติบทบาทการเคลื่อนไหวใช้กฎหมายในการปกป้อง ช

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน