การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ: “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

 

แม้ว่า คำกล่าวที่ว่า “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” จะเป็นคำกล่าวของคุณสมศักดิ์ เทพสุทินที่กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ในครั้งที่ยังเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ  [1] แต่คำกล่าวนี้สามารถใช้ย้อนหลังไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ได้ด้วย และจะว่าไปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเป็นต้นแบบของ “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

ผู้เขียนได้อธิบายให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และรัฐธรรมนูญ 2489 ถูกออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจแก่กลุ่มการเมืองที่มีอำนาจอย่างไร [2]  รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ส่งผลให้เกิดการสืบทอดอำนาจทางการเมืองเป็นเวลาถึง 13 ปี หลังจากจอมพล ป พิบูลสงคราม ได้สูญสิ้นอำนาจทั้งทางด้านการเมืองและการทหารในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง [3]  ส่วนการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 นั้นต้องสะดุดลงจากการเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490  หากไม่เกิดรัฐประหาร 2490 การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2489 จะอยู่ในอำนาจไปอย่างน้อย 6 ปี นั่นคือตั้งแต่ พ.ศ. 2489-2495 เพราะกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญ 2489 คือ พฤฒสภา ที่มีสิทธิ์ให้เสียงสนับสนุนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ในทำนองเดียงกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองมีสิทธิ์ให้เสียงสนับสนุนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่งในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475

ที่ว่าการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2489 จะอยู่ในอำนาจไปอย่างน้อย 6 ปี ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2489 กำหนดให้พฤฒสภาชุดแรกมีวาระหกปี โดยพฤฒสภาชุดแรกจะยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามที่กำหนดไว้มาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2489 ได้กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา 90 ให้พฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ดำรงตำแหน่งก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489  และสภาผู้แทนราษฎรชุดดังกล่าวเป็นชุดที่สนับสนุนให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วก่อนหน้าที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489

เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนนายปรีดีมาก่อน และยังเป็นผู้เลือกสมาชิกพฤฒสภา ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็คือ ‘พฤฒสภาก็คือสภาของนายปรีดี พนมยงค์’  [4]  อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2489 ยังกำหนดให้พฤฒสภามีความสำคัญเป็นหลัก นั่นคือ มาตรา 63 กำหนดไว้ว่า “ให้ประธานพฤฒสภาเป็นประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน”                                         

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการหยั่งเสียงเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีคนต่อไปหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 และมีการเลือกพฤฒสภาได้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายปรีดี พนมยงค์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 7 มิถุนายน 2489

แต่หลังจากการสืบทอดอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์และกลุ่มการเมืองของเขาได้เพียง 2 วัน รัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ก็ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ร้ายแรง นั่นคือ การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และนายปรีดี พนมยงค์ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลผู้ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เสด็จสวรรคต  และเมื่อมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ คณะผู้สำเร็จราชการฯก็ได้อนุญาตให้เขาลาออก [5]

เมื่อนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน  ที่ประชุมพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรจึงประชุมเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีคนต่อไป และที่ประชุมทั้งสองสภาได้ประกาศให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป [6]

กระนั้น นายปรีดี พนมยงค์และคณะรัฐมนตรี คณะที่ 16 ดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียงสองเดือน (11 มิถุนายน 2489 – 23 สิงหาคม 2489) คณะรัฐมนตรีคณะที่ 16 ก็ต้องสิ้นสุดลง เพราะเหตุที่นายปรีดี พนมยงค์นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องด้วยตรากตรำทำงานฉลองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาพอสมควร รู้สึกว่าสุขภาพเสื่อมโทรมลง ไม่สามารถจะปฏิบัติภารกิจของรัฐได้เต็มที่ จึงได้ลาออกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2489 [7]  โดยนายปรีดี พนมยงค์ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯว่า  “ข้าพเจ้ามีเรื่องที่จะแจ้งให้ทราบ คือว่าเมื่อเช้านี้ ข้าพเจ้าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้ามีเหตุผลก็คือว่า ข้าพเจ้าได้ตรากตรำทำงานสนองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาอันสมควรแล้ว...” [8] 

ในช่วงก่อนที่นายปรีดีจะขอลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489  ได้เกิดกระแสข่าวว่า การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเกิดมีสาเหตุจากการปลงพระชนม์ และเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนายปรีดีจึงต้องแก้ไขสถานการณ์โดยการประกาศภาวะฉุกเฉินและตรวจข่าวในวันที่ 12 กรกฎาคม และได้มีการจับกุม ส.ส. ฝ่ายประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่ นายโชติ คุ้มพันธุ์ นายประยูร อภัยวงศ์ และนายเลียง ไชยกาล  ในข้อหาให้รายกรณีสวรรคต เพราะสาเหตุปรากฎหลักฐานขึ้นว่า นายเลียง ไชยกาล ใช้คนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า ปรีดีฆ่า [9]

แม้ว่า นายเลียง ไชยกาล จะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองสังกัดประชาธิปัตย์ แต่น่าสังเกตว่า ต่อมา นายเลียงได้แยกออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วไปร่วมมือกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามอย่างแน่นแฟ้น หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490  และได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญติดต่อกันหลายสมัยในรัฐบาลจอมพล ป. จนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามหนีออกนอกประเทศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 ด้วยสาเหตุที่มีประชาชนจำนวนนับแสนออกมาประท้วงการเลือกตั้งสกปรกของพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.                     

หลังจากที่นายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  พฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรได้สนับสนุนให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้นำทางการเมืองฝ่ายนายปรีดีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนต่อมาได้ถูกรัฐประหารที่นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490  โดยคณะรัฐประหารมีข้ออ้างในการทำรัฐประหาร คือ 1. ความเดือดร้อนของประชาชนจากการขาดแคลนข้าวบริโภค 2. ปัญหาเศรษฐกิจเสื่อมโทรมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 3. การบริหารงานของรัฐบาลหย่อนสมรรถภาพ 4. กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 5. การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์ และ 6. ความไม่พอใจของกลุ่มทหารบกจากการไม่ได้รับการดูแลจากการเลิกทัพจากเชียงตุง และกรณีถูกลดบทบาทด้อยกว่าเสรีไทย [10]

และในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย   และได้เชิญ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับต่างประเทศ  ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2491 ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาล พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างรับรอง แต่หลังจากนายควง อภัยวงศ์ บริหารประเทศมาเพียง 1 เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออก และเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานไปอีก 10 ปี  [11]

กล่าวได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แผนการการสืบทอดอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์และพรรคพวกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ต้องล้มเหลวคือ การรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490  และสารตั้งต้นของการทำรัฐประหารคือ กรณีสวรรคตและข่าวลือโจมตีนายปรีดีเกี่ยวกับกรณีสวรรคต                           

และการทำลายแผนการสืบทอดอำนาจของนายปรีดีและพวกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ส่งผลให้จอมพล ป. ได้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งและเป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2491-2500

ถ้ากรณีสวรรคตเป็นอุบัติเหตุหรือเป็นการอัตวินิบาตกรรม ก็นับเป็นโชคร้ายสำหรับชาวไทยทั้งมวล และโดยเฉพาะสำหรับชีวิตทางการเมืองของนายปรีดี

แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่ง กรณีสวรรคตอาจจะไม่ใช่อุบัติเหตุหรือการอัตวินิบาตกรรม แต่เกิดจากแผนการทำลายการสืบทอดอำนาจยาวนานของนายปรีดี เพื่อการกลับมาครองและสืบทอดอำนาจของผู้เสียประโยชน์จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489

บุคคลที่เคยสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญมาก่อนย่อมตระหนักดีถึงการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง


[1] กล่าวในวันเปิดตัวเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันอาทิตย์ที่18 พ.ย.2561 https://www.komchadluek.net/scoop/352831

[2] ผู้สนใจโปรดดู https://www.thaipost.net/columnist-people/507101/https://www.thaipost.net/columnist-people/ยังไม่ตายก็อยู่กันไป/510969/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/513843/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/517674/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/521445/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/525272/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/ยังไม่ตายก็อยู่กันไป/533002/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/529417/; https://www.thaipost.net/columnist-people/ยังไม่ตายก็อยู่กันไป/533002/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/537274/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/541450/

[3] ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530, หน้า 41-60.

[4] ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530, หน้า 178.

[5] https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/64662

[6] https://www.soc.go.th/?page_id=5825

[7] https://www.soc.go.th/?page_id=5825  และ ดู รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/วันที่ 21 สิงหาคม 2489 https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73186

[8] https://www.soc.go.th/?page_id=5825  และ ดู รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/วันที่ 21 สิงหาคม 2489 https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73186

[9] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์: 2534), หน้า 56.

[10] https://www.silpa-mag.com/history/article_41402

[11] https://www.silpa-mag.com/history/article_41402

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนาคตไกล' ฉะ 'ทักษิณ' แก้ปัญหาตนเอง-เฉลิม ให้ได้ก่อนคุยโวแก้ปัญหาบ้านเมือง

“อนาคตไกล” ฉะ “ทักษิณ ชินวัตร” จะแก้ปัญหาบ้านเมือง แก้ปัญหาตนเองและกรณีของ“เฉลิม อยู่บำรุง” ให้ได้ก่อน แค่ราคาคุยโว โชว์เหนือ ลมปาก เพียงวาทกรรมทางการเมือง

ดร.เสรี ซัด 3 นักการเมือง บ้าอำนาจ หลงตัวเอง ดูถูกคนอื่น

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า นักการเมืองประเภท หนึ่งที่น่ากล้ว คือนักการเมืองประเภท Machiavellian ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า นักการเมืองประเภท หนึ่งที่น่ากล้ว คือนักการเมืองประเภท Machiavellian ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

'ทักษิณ' ปัดปฏิญญาเขาใหญ่ บอกได้พบปะกินข้าวกันก็จะสามัคคีมากขึ้น ไม่มีเรื่องเข้าใจผิด

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อกรณีหลังจากวันที่ 22 ส.ค.หากพ้นมลทินแล้ว จะวางบทบาทตัวเองอย่างไรว่า ไม่มีอะไร ตนห่วงบ้านเมือง คนเคยเป็นอดีตนายกฯ มา

'ทักษิณ' เมิน 'เฉลิม' ท้าดีเบต บอกสงสารเขาอายุเยอะแล้ว อย่าไปพูดถึงเลย

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงข่าวโดยท้าดีเบตด้วย ได้ติดตามหรือไม่ ว่า "อย่าไปพูดถึงเขาเลย

สส.เพื่อไทย ให้กำลังใจ 'เศรษฐา' รอดคดีแต่งตั้งพิชิต เป็นรมต.

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีในวันที่ 14 ส.ค. จากก