เรื่องลุงตู่ลงการเมือง ในปี พ.ศ. 2562 กับ พ.ศ. 2566 (ตอนที่ ๒)

 

ในตอนที่แล้ว ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าปัจจัยเร่งที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ตัดสินใจรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐในปี พ.ศ. 2562 น่าจะมาจากการที่ทูลกระหม่อมทรงรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี และมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะทำให้พรรคฝ่ายเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยเองและพรรคแบงค์ย่อยอย่างพรรคเพื่อชาติและพรรคไทยรักษาชาติเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลได้

ผู้ที่คิดแผนให้พรรคไทยรักษาชาติสามารถมีทูลกระหม่อมเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีได้ ย่อมเล็งเห็นแล้วว่า ตามระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว คะแนนไม่ทิ้งน้ำและมีสูตรหาร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย เพราะได้ ส.ส. เขตเป็นจำนวนที่มากจนไม่สามารถได้ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก ขณะเดียวกันจำนวน ส.ส. ที่พรรคเพื่อชาติและพรรคไทยรักษาชาติจะได้นั้น เมื่อรวมกันกับพรรคการเมืองอื่นๆฝั่งเดียวกัน ก็ไม่น่าจะได้ ส.ส. ที่เป็นจำนวนเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือ เกิน 250                             

และที่สำคัญคือ การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องใช้เสียงของวุฒิสมาชิกด้วย และต้องรวมเสียงกับ ส.ส. ในสภาฯให้ได้ 376 ในจำนวน ส.ส. และวุฒิสมาชิกรวมแล้ว 750 ซึ่งผู้ที่คิดแผนก็เล็งเห็นแล้วว่า เสียงของ ส.ว. ไม่น่าจะสนับสนุนฝ่ายตน แต่จะสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามมากกว่า

พูดง่ายๆก็คือ การเล่นการเมืองภายใต้เกมเลือกตั้งระบบบัตรใบเดียวพ่วง ส.ว. นี้ ผู้คิดแผนยากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

พูดง่ายๆอีกก็คือ ภายใต้กติกานี้ ผู้คิดแผนคือผู้แพ้

แม้ว่าการแพ้ชนะในการเลือกตั้งจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับผู้คิดแผนผู้นี้ เมื่อเขาลงเล่นการเมือง เขายังไม่เคยแพ้ มีแต่ชนะมาโดยตลอด

นับตั้งแต่เลือกตั้งครั้งแรกที่เตรียมตัวมาอย่างดีในปี พ.ศ. 2544 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เขาก็สร้างปรากฎการณ์ทำลายสถิติการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ พรรคไทยรักไทยของเขาได้คะแนนถล่มทลายเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา แม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นพรรคเดียวที่ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในแบบการเมืองของอังกฤษ แต่ก่อนปี พ.ศ. 2544 ก็ยังไม่เคยมีพรรคการเมืองใดพรรคเดียวที่ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ         

ต่อมาในการต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งที่สองของเขา คราวนี้พรรคของเขาได้ทำลายสถิติการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทยที่ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร และไม่ใช่เกินครึ่งแบบปริ่มๆด้วย แต่ได้คะแนนเสียงถึง 18,993,073 เสียง และได้ส.ส.ถึง 377 คน คิดเป็นร้อยละ 61.17

ต่อมาในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549  ขณะที่มีปัญหาเรื่องซื้อขายหุ้นของครอบครัวโดยไม่เสียภาษี แต่พรรคไทยรักไทยก็ยังได้ 16,420,755 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 56.45  แต่ต่อมาการเลือกตั้งถูกศาลปกครองตัดสินว่าเป็นโมฆะ และเกิดรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 และพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค                       

ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550  ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ. 2550 มีการตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้น ตอนนี้ ผู้คิดแผนได้บัญชาการอยู่นอกประเทศ พรรคพลังประชาชนก็ยังชนะเลือกตั้งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงและ ส.ส. มากที่สุด แม้จะไม่ได้เกินครึ่งสภาฯเหมือนปี พ.ศ. 2548 

ต่อมาพรรคพลังประชาชนถูกยุบ มีการตั้งพรรคเพื่อไทยขึ้น และพรรคเพื่อไทยก็ชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 และได้คะแนนเสียงและ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯเหมือนการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 แต่ได้คะแนนเสียงและ ส.ส. น้อยกว่าในปี พ.ศ. 2548

หลังจากนั้น ได้เกิดรัฐประหารเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และไม่มีการเลือกตั้งจนกระทั่งปี พ.ศ. 2562

จากที่กล่าวมา ในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คิดแผน เขาคือผู้ประสบความสำเร็จชนะการเลือกตั้งมาตลอด 5 ครั้ง ประสบความสำเร็จที่สุดคือ ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ 2 ครั้ง มาเป็นที่หนึ่ง 3 ครั้ง แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญไปหนึ่งครั้งก็ตาม

พูดง่ายๆก็คือ ต่อให้เปลี่ยนกติกา (รัฐธรรมนูญและพ.ร.ป. พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง) ไปแค่ไหน ผู้คิดแผนก็ยังสามารถนำพาให้พรรคการเมืองของเขาชนะได้อยู่ดี  นับว่าเป็นจอมยุทธศาสตร์การเลือกตั้งมือหนึ่ง                       

ถ้าแลนสไลด์หมายถึงได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ เขาก็ทำให้พรรคของเขาแลนสไลด์ได้ 2 ใน 5 ครั้ง และถ้าตัดการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ออกไป เพราะเป็นโมฆะ  เขาก็ได้แลนสไลด์ถึง 2 ใน 4 ครั้ง

แต่ถ้าแลนสไลด์หมายถึงได้ ส.ส. มาเป็นอันดับหนึ่ง เขาก็สามารถทำให้พรรคชนะเลือกตั้งแลนสไลด์ทุกครั้งตลอดระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2554 และจัดตั้งรัฐบาลที่เขาหรือคนของเขาเป็นนายกรัฐมนตรีมาตลอด   

แต่เมื่อต้องมาเจอการกำหนดกติกาการเล่นเกมเลือกตั้งและเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560  คนอย่างเขาก็ได้คิดคำนวณคาดคะเนหาทางที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มาเป็นอันดับหนึ่งได้ แต่เขาก็รู้ว่ายากที่จะได้เกินครึ่งสภาฯ เพราะติดขัดเรื่องกติกาที่ที่ทำให้ไม่สามารถได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

เขาจึงคิดแผนแตกแบงค์ขึ้น พรรคเพื่อชาติกับพรรคไทยรักษาชาติจึงถือกำเนิดขึ้น และถ้าติดตามข่าวสารในช่วงนั้นให้ดี ก็จะพบว่า มีการคำนวณตัวเลขออกมาแล้วว่า ยังไงเมื่อรวม ส.ส. ที่จะได้จากพรรคแตกแบงค์และพรรคพันธมิตรและพรรคเพื่อไทยแล้วก็ไม่เกินครึ่งของสภาฯอยู่ดี  ซึ่งวุฒิสภาได้ประกาศเงื่อนไขว่า จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคใดก็ตามที่รวมเสียง ส.ส. ได้เกินครึ่งสภาฯ (เกิน 250)

ขณะเดียวกัน เขาก็รู้ว่า พรรคการเมืองที่อยากจะเป็นรัฐบาลจะต้องไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งตอนนั้น ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี แต่สังคมก็รู้ๆว่า พรรคนี้สนิทสนมใกล้ชิดกับพลเอกประวิตร) อีกทั้ง สังคมก็รู้ว่า วุฒิสมาชิกแต่งตั้งนั้นก็มาจากคณะกรรมการคัดสรรแต่งตั้งที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ที่พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรมีอิทธิพลสำคัญอยู่                                           

ดังนั้น เกมนี้ จึงเหมือนงูกินหางวนๆ คือ วุฒิสภาที่เต็มไปด้วยพันธมิตรของ คสช. ประกาศว่าจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดก็ตามที่รวบรวมเสียง ส.ส. ได้เกินครึ่งสภาฯ  ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่อยากจะจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐก็ตระหนักถึงอิทธิพลของ คสช. ที่มีต่อการลงคะแนน พรรคการเมืองเหล่านั้นย่อมจะไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ  เพราะจะได้เสียงของวุฒิสภาอย่างแน่นอน

ผู้คิดแผนเห็นว่า เกมภายใต้กติกานี้ แม้นเขาจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มากที่สุดในสภาฯ แต่เขาจะไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้เกินครึ่งสภาฯอย่างแน่นอน

เขาไม่ได้แพ้การเลือกตั้ง แต่เขาจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้                                           

และการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ในอารมณ์ความรู้สึกของเขาคือ การพ่ายแพ้ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2554 เขาไม่เพียงแต่ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. มากที่สุด แต่เขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เขาหรือคนของเขาเป็นนายกรัฐมนตรีได้มาตลอด

เมื่อเขาเล็งเห็นแล้วว่า เกมหรือการต่อสู้ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 เขาพ่ายแพ้แน่นอน แต่ด้วยวิธีคิดของเขา เขาจะไม่มีวันต่อสู้หรือเล่นต่อไปในเกมที่รู้ๆว่าแพ้                                           

เขาเคยเล่าเรื่องสไตล์การแก้ปัญหาธุรกิจของเขาไว้ว่า                                           

“หลายคนคงงงงันว่า ขณะที่หนี้สินกองมโหฬารเดิมยังคาราคาซัง ผมกลับไปสร้างภาระใหม่ซึ่งใหญ่กว่าเก่าทำไม ผมคงต้องอธิบายให้กระจ่างว่า นอกจากผมมีสไตล์การทำธุรกิจแบบไม่ fighting a losing war คือ ไม่ทนต่อสู้ในสงครามที่รู้ว่าจะมีจุดจบอยู่ที่ความพ่ายแพ้ หรือที่เห็นอยู่ทนโท่ว่าอย่างไรก็ต้องสูญเสียดังเคยเล่ามาแล้วนั้น ผมยังนิยมวิธีเอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่าด้วย……แนวคิดนี้ถามว่าเสี่ยงไหม ต้องตอบตามตรงว่าเสี่ยง แต่ยิ่งเสี่ยงสูง ผลตอบแทนย่อมยิ่งสูงตาม high risk high return ความเสี่ยงนี้ใช่ว่าเป็นการสุ่มเสี่ยง มันต้องเป็นความเสี่ยงที่ได้ระมัดระวังตรวจสอบรอบคอบมาแล้ว เป็นความเสี่ยงที่สามารถคำนวณได้ ซึ่งมาสัมพันธ์กับการแสวงหาความรู้และข้อมูลข่าวสารอีกทอดหนึ่ง แล้วไม่ใช่ความเสี่ยงสำเร็จรูป เพียงครั้งเดียวจะแจ๊กพ็อตร่ำรวย แต่เป็นความเสี่ยงที่ต้องผ่านการขัดเกลาอย่างดีจากประสบการณ์”

และเมื่อเขาเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งไม่ได้ เขาก็ใช้วิธีเปลี่ยนตัวเล่น โดยการ “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่า” นั่นคือ การได้ทูลกระหม่อมเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีพรรคไทยรักษาชาติ และผลได้ผลเสียจากการสุ่มเสี่ยงที่ได้ระมัดระวังตรวจสอบรอบคอบมาแล้ว และเป็นความเสี่ยงที่สามารถคำนวณได้ฯ เป็นอย่างไรนั้น ขอต่อในตอนหน้าครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490