ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 9: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)  ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม เรื่อง เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองหลวงของสยาม

“สืบเนื่องจากรายงานฉบับที่ 22/A ลงวันที่ 24 มิถุนายนฉบับที่แล้วของข้าพเจ้า (ดูตอนที่ 5/ผู้เขียน) ว่าด้วยการยึดอำนาจโดยทหารในบางกอกเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะรายงานให้ท่านทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางกอกหลังจากวันก่อการปฏิวัติ 1 สัปดาห์ 

เรื่องที่จะรายงาน ได้แก่                   

เรื่องที่ 1 – พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับคำขาดที่ได้รับทูลเกล้าฯถวายและทรงยอมรับรัฐบาล ‘คณะราษฎร’

เรื่องที่ 2 – การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน (แนบฉบับแปลมา ณ ที่นี้ด้วย)

เรื่องที่ 3 – การแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่

1.ท่าทีของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหาร ในส่วนของพระมหากษัตริย์และท่าที่ของพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว  ต่อไปจะได้กล่าวถึงรายงานเกี่ยวกับ “ข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่” ต่อไป

“องค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรพร้อมสมาชิก 70 คน ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 29 มิถุนายนเมื่อวานนี้ ประกอบด้วยพลเรือ 53 คน และทหารอีก 17 นาย ส่วนคณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยพลเรือน 8 คน ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีและทหารอีก 7 นาย  สังเกตได้ว่าในบรรดาทหาร 7 นายนี้ มีพันเอก 3 นายที่เคยลงนามในหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมทั้งนาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ ซึ่งมีเชื้อสายเวียดนาม อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากประเทศฝรั่งเศส

ตามความคิดของที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในสยามมาเป็นเวลานาน และรู้จักสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐบาลชุดใหม่ เราไม่อาจคาดหวังถึงความสงบของประเทศได้มากไปกว่านี้ และตามคำกล่าวของที่ปรึกษากฎหมายคนหนึ่ง อย่างน้อยเราก็ยังพอมีเวลาหายใจ สำหรับประธานคณะกรรมการราษฎร คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา สมาชิกคณะกรรมการยกร่างกฎหมายของที่ปรึกษาด้านการศึกษากฎหมาย และประธานศาลอุทธรณ์ ดูเป็นคนใจเย็น รอบคอบ แต่ไม่ค่อยมีความคิดก้าวหน้านัก

ส่วนพระยาศรีวิศาลวาจา ที่ปรึกษาคนสำคัญ ตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการราษฎรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ เป็นคนอ่อนโยน ใจเย็น ฉลาดเฉลียว และเรียนจบจากฝรั่งเศส (เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญที่บางกอก)…...”                                       

------------

ตรงนี้ ผู้เขียนเห็นว่า นายพันโทอองรี รูซ์ น่าจะเข้าใจผิดที่กล่าวว่า พระยาศรีวิศาลวาจา “เรียนจบจากฝรั่งเศส”  เพราะหลังจากที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ พระยาศรีวิศาลวาจาได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษโดยทุนส่วนตัวที่โรงเรียนอินเตอร์เนชัลแนล คอลเลช (The International College) เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ในปีสุดท้ายของการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ โรงเรียนได้จารึกชื่อ T.L. Hoon ไว้ในหอประชุม ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติในฐานะที่เป็นนักเรียนสอบได้ที่ 1 ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ได้รับทุนของวิทยาลัยลินคอล์น (Lincoln College, Oxford University) เป็นเวลา 4 ปี และสอบได้ปริญญา B.A. ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด โดยได้เกียรตินิยมอันดับ 1 (School of Jurisprudence) เมื่อปี พ.ศ. 2462 ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 ในการสอบเพื่อรับปริญญา B.C.L. ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และในปลายปีนั้นเอง ท่านได้สอบผ่านภาคสุดท้ายของการสอบเนติบัณฑิต โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 (English Barrister at Law, Middle Temple) ทั้งนี้ โดยมีเวลาเตรียมสอบเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2463-2464 ท่านได้ฝึกงานด้านกฎหมายกับ เซอร์ ฮิว เฟรเซอร์ (Sir Hugh Fraser) ในกรุงลอนดอน และปี พ.ศ 2466 ได้กลับไปรับปริญญา B.C.L. และรับปริญญา M.A. จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เนื่องจากตามกฎของมหาวิทยาลัย ผู้ที่สอบได้ปริญญานี้จะได้รับปริญญาก็ต่อเมื่อได้มีชื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วเป็นเวลา 7 ปี (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า)

ดังนั้น ผู้อ่านรายงานของเจ้าหน้าที่การทูตต่างประเทศที่รายงานเรื่องราวในประเทศไทยกลับไปยังรัฐบาลของตนต้องพึงตระหนักว่า ข้อมูลในรายงานดังกล่าวไม่จำเป็นจะต้องถูกต้องเสมอไป และในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า นายพันโทอองรี รูซ์มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในบางเรื่องมาแล้ว

---------------------

กลับมาที่รายงานของนายพันโทอองรี รูซ์ต่อ       

“ส่วนพระยาศรีวิศาลวาจา ที่ปรึกษาคนสำคัญ ตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการราษฎรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ เป็นคนอ่อนโยน ใจเย็น ฉลาดเฉลียว และเรียนจบจากฝรั่งเศส (เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญที่บางกอก) ทั้งยังเป็นมิตรกับชาวฝรั่งเศสด้วย ในบรรดาสมาชิกคนสำคัญของสภาผู้แทนราษฎร เราต้องไม่ลืมกล่าวถึงพลตรี พระยาอินทรวิชิต อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 1 และมณฑลทหารที่ 1 ซึ่งข้าพเจ้าเคยกล่าวถึงเมื่อไม่นานมานี้ ว่าได้รับแต่งตั้งเป็นจเรทหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน ‘ดังนั้น จึงไม่มีบทบาทอะไร’ นายทหารผู้นี้จบการศึกษาด้านการทหารจากประเทศเยอรมนี และเป็นที่รู้กันว่าไม่ชอบเพื่อนทหารที่จบจากประเทศฝรั่งเศส

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาวการณ์ในช่วงที่การปฏิวัติก่อตัวขึ้น

เหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์สำคัญทางทหารในเวลาอีกไม่นาน หลังจากได้รับแจ้งข่าวเมื่อเวลา 8 นาฬิกา 30 นาที ข้าพเจ้าจึงรีบไปยังพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นจุดรวมตัวของกองทหาร (รายงานของข้าพเจ้าฉบับที่ 22/A ลงวันที่ 24 มิถุนายน) เวลา 9 นาฬิกา ข้าพเจ้าเห็นรถหุ้มเกราะติดปืนกลจำนวน 10 คันนำขบวน และรถที่บรรทุกทหารเต็มคันแล่นออกมา มุ่งหน้าไปยังพระบรมมหาราชวังหรือไม่ก็กระทรวงกลาโหม ขณะนั้น ถนนสายใหญ่หน้าพระบรมมหาราชวังร้างผู้คน บริเวณลานพระราชวังเต็มไปด้วยรถบรรทุกทหาร นอกจากเสียงปืนสองสามนัดที่ดังขึ้นภายในวังของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตและกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในช่วง 9-10 นาฬิกา ที่ดูเหมือนการยิงปืนขึ้นฟ้า ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอย่างที่สุด เวลา 11 นาฬิกา ดูเหมือนจะยังไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ตอนบ่าย ข้าพเจ้ากลับมาที่กองบัญชาการ ข้าราชการที่นั่นก็ยังคงทำงานอยู่ ยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์ พันเอกหัวหน้าแผนกที่ 3 บอกข้าพเจ้าว่า เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่แน่นอนว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อถือคำยืนยันนั้น

เมื่อกลับมาที่กองบัญชาการในเช้าวันเสาร์ ข้าพเจ้าต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้พบทหารสองสามนายที่เรียนจบวิชาการทหารจากฝรั่งเศส ข้าพเจ้าจึงไว้วางใจพวกเขาได้ หนึ่งในนั้นคือ พันเอกพระยาศราภัยพิพัฒ ผู้บังคับการแผนกที่ 3 และทหารราชองครักษ์ ซึ่งเคยศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส และเคยรับราชการในกองทหารแห่งหนึ่งของเมืองแรงส์ (Reims)  เขาบอกข้าพเจ้าด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาและเพื่อนๆพร้อมจะต่อสู้เพราะมีปืนกล ปืนใหญ่ และอาวุธยุทธภัณฑ์จำนวนพอประมาณที่กองบัญชาการ  สำหรับใช้ที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร (ตอนนี้ปืนกลถูกติดตั้งไว้ในลานพระราชวังและบนหลังคา)  แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะคาดหวังกับใครได้  เพราะกองทหารที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นในลานพระราชวังก็ไม่สามารถไว้ใจได้

ขณะกลับออกไป ข้าพเจ้าก็สังเกตเห็นรถหุ้มเกราะติดปืนกลจอดคุมสถานการณ์อยู่ที่กรมราชองครักษ์ที่ 1 บริเวณหน้าประตูทางเข้า ห่างจากกองบัญชาการที่ถูกพวกเขากบฏยึดราว 150 เมตร และพันเอกผู้นั้นก็ถูกจับตัวไปในคืนแรกของการปฏิวัติ

นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้ากลับไปที่กองบัญชาการทุกวัน กองทหารกบฏยังคงไม่สนใจทั้งกองบัญชาการและกระทรวงกลาโหมมาตั้งแต่เริ่มการปฏิวัติ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย.   ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 36, 38).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนกร' เชื่อครม.ใหม่เดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนทันที ปัญหาประเทศรอไม่ได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนเชื่อว่า รัฐมนตรีทุกคนมีศักยภาพและประสบการณ์ในการทำงาน

'อุ๊งอิ๊ง' ดูไว้! นักการเมืองต้องรักษาสัจจะเหมือน 'อภิสิทธิ์' เคยหาเสียงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร กล่าวในงานอีเวนต์ ”10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10“ ว่า พรรคเพื่อไทยตัดสินใจถูกตั้งรัฐบาลผสม

'จักรพงษ์' ปัดเลื่อนชั้นขึ้นนั่ง รมต. จากสายตรงเศรษฐา ยันไร้ปัญหากับปานปรีย์

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเข้าถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวถึงกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการพาร์ทชั้นจากเดิมที่อยู่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า ไม่ได้พาร์ทชั้นหรอก

'สุชาติ' ลั่นทำงานเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ไม่ซีเรียสเป็น รมช.พาณิชย์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ ถึงการได้กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลในรอบ 7 เดือน ว่า ได้กลับเข้ามาทำงานให้ประเทศชาติบ้านเมืองเหมือนเดิม

ทำเนียบคึกคัก! รัฐมนตรีใหม่ถ่ายภาพทำบัตร ก่อนเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ฯ

รัฐมนตรีใหม่ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ได้เดินทางเข้าทำเนียบฯเพื่อถ่ายภาพทำประวัติ และทำบัตรประจำตัวรัฐมนตรี ที่ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคั

'ก้าวไกล' ไม่กังวลถูกยุบพรรค 'ชัยธวัช' บอกคุยลูกพรรคหลายรอบแล้ว

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้พรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาในคดีล้มล้างการปกครอง ว่า คดีนี้มีความร้ายแรงมากกว่าคดีก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ