ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 24: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

รายงานจากสถานอัครราชทูตอังกฤษ (นายดอร์เมอร์)

“…..ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลในระบอบเดิมนั้น รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษกล่าวถึงการปฏิบัติของคณะราษฎรต่อเจ้านายชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์ ทำให้เราได้รับรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เจ้านายเหล่านี้ทรงได้รับ เจ้านายที่ตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของคณะราษฎร คือ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า ทรงมีอำนาจมากในขณะนั้น พระองค์มิได้ทรงถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 24 มิถุนายน แต่ ‘ดูเหมือนจะไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ทรงถูกกระทำในสิ่งที่เป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติ (indignity)’  ในวันต่อมา คณะราษฎรได้ดำเนินการให้ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้องเสด็จออกจากสยามด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ซึ่งวิ่งตลอดโดยไม่หยุดพักจนถึงปีนังเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม (ต่อมาทรงย้ายไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุงในชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น)

ส่วนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ นั้น รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษระบุว่า ‘….แม้กระทั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ก็ทรงถูกปฏิบัติต่ออย่างรุนแรงและหยาบกระด้าง (harshly) ด้วยการถูกจำกัดให้ทรงอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องเดียวกัน  ซึ่งมีเตียงนอนเตียงเดียว  เจ้านายอีกพระองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มิได้ทรงอยู่ที่วังที่ประทับเมื่อทหารไปถึงเพื่อจะจับกุมพระองค์ และเมื่อทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ได้เสด็จโดยรถไฟไปหัวหินเพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเจ้านายอีกหลายพระองค์ประทับอยู่ที่นั่นแล้ว  (ในปีต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น)       

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งประการหนึ่งในรายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษในช่วงนี้ คือ สถานะของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาศรีวิศาลวาจา นายดอร์เมอร์ (Cecil Dormer) อัครราชทูตอังกฤษรายงานจากปากคำของพระยาศรีวิศาลวาจาว่า ‘….เขา [พระยาศรีวิศาลวาจา] และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นเพียง 2 คนในคณะกรรมการชุดนี้ที่เป็นคนนอกขบวนการ และตัวเขาเองก็ถูกเชิญให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ‘ด้วยปลายดาบปลายปืน’ (at the point of the bayonet)  นอกจากนั้น สิ่งที่พระยาศรีวิศาลวาจาเปิดเผยแก่อัครราชทูตอังกฤษ ก็ช่วยยืนยันความเข้าใขของเราในเวลาต่อมาว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรงมีพระราชดำริในเรื่องนี้อยู่ก่อน ดังที่ได้กล่าวแล้ว) มีส่วนสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ อัครราชทูตอังกฤษรายงานปากคำของพระยาศรีวิศาลวาจา ดังนี้

………การที่การปฏิวัติเกิดขึ้นโดยสันติเป็นผลมาจากท่าที (attitude) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมี [ต่อการปฏิวัติครั้งนี้] พระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่ได้ช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นมาได้ หากพระองค์ไม่ทรงยอมมอบอำนาจ หรือทรงหนีไป อันเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสามารถจะกระทำได้ หรือหากมีปฏิกิริยาที่ต่างไปจากที่ทรงมี ก็จะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นแล้ว ข้าพเจ้า [นายดอร์เมอร์] ได้รับการบอกกล่าวมาว่า เหตุผลหลักที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับข้อเรียกร้องของคณะปฏิวัติ และเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร ก็เพราะทรงพระวิตกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่เจ้านายในราชวงศ์ที่ถูกควบคุมไว้เป็นตัวประกัน”

------------

“รายงานของนายโมกราส์ (Roger Maugras) อัครราชทูตฝรั่งเศสยืนยันตรงกันว่า ‘อีกเหตุผลหนึ่งที่คงจะผลักดันให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมตามคำเรียกร้องของคณะผู้ก่อการปฏิวัติ คือ พระราชประสงค์ที่จะคลี่คลายสถานการณ์ให้กับบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกจับกุมอยู่”  การยึดอำนาจครั้งนี้จึงเกิดขึ้นโดยไม่มีการต่อต้าน   และไม่มีการเสียเลือดเนื้อใดๆ ทั้งสิ้น   มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมเพียง 2-3 คนเท่านั้นดังได้กล่าวแล้ว   นักวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งมองว่า ‘การปฏิวัติทางการเมืองครั้งแรกนี้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยและโรแมนติกมาก มีเพียงชาวสยามเท่านั้นที่จะสามารถทำเช่นนี้ได้’

การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นอย่างสงบสันติและความเรียบร้อยของสถานการณ์หลังจากนั้น มีผลทำให้คณะราษฎรสามารถผ่อนคลายท่าทีของตนลง รายงานอัครราชทูตของอังกฤษได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ‘เมื่อสถานะของพวกเขา [คณะราษฎร] มั่นคงแล้ว บรรดาผู้นำก็แสดงสำนึกที่ดีของตนด้วยการเชิญบุคคลผู้มีความสามารถ คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้เข้ามาร่วมคณะกรรมการราษฎร และยินยอมตามข้อเรียกร้องของพระยามโนปกรณ์ฯ ที่ให้นำบุคคลอื่นเข้ามาร่วมงานด้วยการเป็นผู้เลือกเอง ในลักษณะนี้เองที่ทำให้พระยาศรีวิศาลวาจาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนั้น ความหวั่นเกรงการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ก็น่าจะมีผลต่อท่าทีของคณะราษฎรอยู่ไม่น้อย”

--------------

“ในกรณีนี้ รายงานของอัครราชทูตอังกฤษช่วยให้เราเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นด้วยว่า นอกจากคณะราษฎรต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เข้ามาร่วมขบวนการแล้ว ‘ดูจะเป็นไปได้ว่าคามกลัว การแทรกแซงจากต่างชาติ มีส่วนในการทำให้มีการลดความแข็งกร้าวลง เพราะคำๆ นี้ [การแทรกแซงจากต่างชาติ] ได้มีการนำมาใช้โดยผู้นำระบอบปกครองมากกว่า 1 ครั้งในช่วงสัปดาห์แรกๆ [ภายหลังการยึดอำนาจ]… การแสดงให้เห็นว่า ระบอบปกครองใหม่ไม่มีแนวทางแบบสุดขั้ว (extremist)  จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ชาติตะวันตกยอมรับ และวิธีการแสดงออกอย่างหนึ่งถึงการมีท่าทีไม่รุนแรง (moderation) ก็คือ การนำเอาบุคคลในระบอบเดิม เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาศรีวิศาลวาจา [และยังมีอีกผู้หนึ่ง คือ พลเรือโท พระยาราชวังสัน ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลาต่อมา] เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการราษฎร

ในประเด็นเรื่องการแทรกแซงจากต่างชาตินั้น อัครราชทูตอังกฤษได้อ้างนายสตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศชาวอเมริกัน ว่า ‘..เขา [นายสตีเวนส์] มั่นใจว่า ทั้งอินโดจีนของฝรั่งเศสและมลายาของอังกฤษคงจะไม่ยอมปล่อยให้มีความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง [ในสยาม]’ ดังนั้น แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่ชาติมหาอำนาจทั้งสองจะเข้าแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม  แต่หากมีความไม่สงบเช่นนั้นเกิดขึ้น ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อดินแดนในปกครองของตน โอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงก็เป็นไปได้สูง

ผู้นำของคณะราษฎรย่อมจะตระหนักในเรื่องนี้ดี ดังนั้น เมื่อประกอบกับการที่ได้เห็นว่า สถานะของตนมั่นคงแล้ว จึงยินยอมผ่อนปรนและไม่ต้องการให้ชาวสยามและต่างชาติเห็นว่า ‘ระบอบปกครองใหม่’ มีท่าที ‘ซ้ายจัด’ หรือ ‘หัวรุนแรง’ [รายงานของสถานอัครราชทูตอังกฤษเรียกผู้ที่มีความคิดแนวนี้ว่า พวกที่ ‘มีความคิดสุดขั้ว’ (extremists)  ซึ่งเข้าใจว่า มีอยู่ไม่น้อยในคณะราษฎร) การมีทีท่าผ่อนปรนมีส่วนอย่างมากในการก่อให้เกิด ‘การประนีประนอม’ ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

ประเด็นสุดท้ายที่จะพิจารณาในส่วนนี้ คือ ประเด็นเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบปกครองใหม่…..”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขาฯกกต. กรีดก้าวไกล 'ท่านได้รับผลร้าย จากข้อเท็จจริงที่ท่านทำ'

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ กกต. ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมกรณียุบพรรคก้าว

'วิโรจน์' น้อมรับความเห็น 'ทักษิณ' เดินสายลงพื้นที่ ทวงคืน สส.นนทบุรี

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมงานวันเกิดนายกเทศบาลนครนนทบุรี และกล่าวภายในงานว่าเลือกตั้งครั้งหน้า

เลอะเทอะกันไปใหญ่แล้ว! 18 มิ.ย. วันโลกาวินาศ ใครจะวินาศกันแน่

พูดยังกับว่าบ้านเมืองจะถล่มทลายวันที่ 18 มิ.ย. นี้ เป็นวันโลกาวินาศ รัฐบาลจะพัง ก้าวไกลจะโดนยุบ เลือก สว. ก็จะเป็นโมฆะ ทักษิณไม่หนีก็ติดคุก เลอะเทอะกันไปใหญ่ อะไรกันนักหนา... ผมเห็นว่าไม่มีอะไรเลย

โวย 'แพงทั้งแผ่นดิน' ไล่บี้ 'ภูมิธรรม' รีบโชว์ฝีมือ อย่ามัวแต่โฟกัสการเมือง

'ไทยสร้างไทย' จี้ 'รมว.พาณิชย์' หยุดโฟกัสปมการเมือง หันหน้าแก้ปัญหา 'แพงทั้งแผ่นดิน' เร่งคุมราคาสินค้าพุ่งอย่างจริงจัง