ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 12)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  )

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานว่า  “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ไว้ในบทที่เจ็ด ที่เขาตั้งชื่อบทว่า “อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว” ไว้ดังนี้

“วันที่ 28 มกราคม 2481 กรมตำรวจวุ่นวายเป็นพิเศษ ระดมนายตำรวจเป็นการใหญ่ พร้อมยานพาหนะ และอาวุธทุกชนิด แม้ปืนกลเบา สร้างสถานการณ์ให้วุ่นวายน่าหวาดเกรง ท่ามกลางความเงียบสงบของบ้านเมือง และความตะลึงงงของประชาชน

บัญชีรายนามผู้ที่หมายหัวกาแดงไว้ ถูกดึงออกจากกระเป๋า พ.ต.อ. หลวงอดุลย์เดชจรัส ออกหมายสั่งไล่ออก ออกหมายตรวจค้น มอบให้นายตำรวจที่ไว้วางใจแยกกันออกจับกุมในพระนครและหัวเมือง

รายแรกที่ประเดิมชัยความยิ่งใหญ่ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ คำสั่งไล่ออก พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบีบบังคับในชั้นเชิงให้เนรเทศไปอยู่ประเทศเขมรทันที”

(นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ว่านี้ คือ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ผู้ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 20 มิถุนายน 2476 – 16 ธันวาคม 2481/ผู้เขียน)    “รุ่งขึ้น 29 มกราคม 2481 จับตายนายทหารกองหนุน และนายตำรวจประจำการ 3 นาย      คือ พ.ต. หลวงราญรณกาจ ที่กรุงเทพฯ  พ.ต.ต. หลวงวรณสฤช ที่ชุมพร และ พ.ต. หลวงสงครามวิจารณ์ ที่ปัตตานี  ทั้ง 3 ชีวิต เลือดสาดทาแผ่นดิน เป็นมลทินในประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัยที่อ้างว่าปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย”               

ในวันเดียวกันและวันต่อมา มีการจับกุมและตรวจค้นผู้คนจำนวนเกือบสี่สิบคน โดยหนึ่งในนั้นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และมีการบุกเข้าค้นบ้านของนายมังกร สามเสน นายโชติ แพร่พันธุ์ นายเลียง ไชยกาล นายพรต พฤฒินันท์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ มีการค้นสำนักงานหนังสือพิมพ์สยามนิกร มีการเข้าค้นวังสุโขทัย วัง พล.ต. หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล  วังหม่อมเจ้าถาวรมงคล ไชยันต์  วังกรมขุนชัยนาทนเรนทร วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏบริพัตร โอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิติ “มีการปลดนายทหารชั้นผู้น้อยอีกไม่ต่ำกว่า 10 นาย ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ถ้าเป็นพลเรือนแยกขังไว้ ณ สถานีตำรวจต่างๆ สำหรับทหาร ขังไว้ที่กระทรวงกลาโหม ห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน ห้ามติดต่อเด็ดขาด

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2481 หลังจากฝึกอบรมนายทหารในภูมิประเทศแล้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนรบ (พันเอก พระยาทรงสุรเดช/ผู้เขียน) ก็ได้พานายทหารกลับที่พัก เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ณ แพรับรองของจังหวัดทหารบก ราชบุรี 

นายทหารส่วนใหญ่กลับสู่ที่พักของตน แต่อีกหลายคนได้ร่วมวงรับประทานเนื้อสะเต๊ะหาบ ซึ่งนำมาขายที่แพรับรอง ระหว่างรับประทานอาหาร พ.อ. พระยาทรงสุรเดชได้สนทนากับ พ.ท. หลวงชำนิยุทธสาร  พ.ต. หลวงธุระไวทยวิเศษ  ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ และนายทหารฝึกหัดราชการ ด้วยความร่าเริงปกติตามนิสัย

ถ้าจะสังเกตบนท้องฟ้าเหนือเมืองราชบุรี ขณะนี้จะเห็นเครื่องบินรบของกองทัพอากาศ 3 เครื่อง บินฉวัดเฉวียนรอบๆ ตัวเมือง หลายเที่ยวหลายตลบ พวกเรา-นายทหารฝึกราชการโรงเรียนรบมิได้ใส่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชีวิตแต่ประการใด เพราะบ้านเมืองก็อยู่ในสภาวะปกติ

ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมา ได้มีนายทหารกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน มุ่งตรงมายังแพรับรอง หัวหน้ากลุ่มคือ พ.อ. หลวงวิจักษ์กลยุทธ ตามติดด้วย พ.ต. ขุนนันทโยธิน นายทหารใกล้ชิด พ.อ. หลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ พร้อมกับยื่นซองหนังสือราชการให้ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช   ท่านเปิดออกอ่าน จบแล้ว ด้วยอาการสงบเยือกเย็น ส่งให้ พ.ต. หลวงธุระไวทยวิเศษ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์และข้าพเจ้า

มันเป็นคำสั่งกระทรวงกลาโหม มีข้อความดังนี้

1. พระยาทรงสุรเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนรบ  2. ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ นายทหารประจำกองบังคับกองโรงเรียนรบ 3. ร.อ. สำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิทผู้อำนวยการโรงเรียนรบ 4. พ.ต. หลวงธุระไวทยวิเศษ แพทย์ประจำกองบังคับการโรงเรียนรบ มีบำนาญ ทั้งนี้ ตั้งแต่ 29 มกราคม 2481

ข้าพเจ้ามึนและงงต่อคำสั่งฉบับนี้เป็นอย่างมาก ไม่คิดว่าจะถูกไล่ออกปัจจุบันทันด่วน โดยปราศจากความผิดและไม่ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญเลี้ยงชีพ เป็นการลงโทษกลั่นแกล้งทารุณที่สุด ข้าพเจ้าตั้งหน้ารับราชการด้วยความเอาใจใส่จริงจังและก้มหน้ารับการฝึกฝนอบรม เหมือนนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบทั้งปวง ไม่มีความเกียจคร้าน มิได้มีความสนใจต่อเหตุการณ์บ้านเมืองแม้แต่น้อย มีแต่ความบริสุทธิ์ใจ  ขาวสะอาดต่อทุกคนในกองทัพ และเราอยู่กันอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตน....         

....ถ้าข้าพเจ้าจะมีความผิด ก็คงเป็นเพราะถูกแต่งตั้งให้ทำหน้าที่นายทหารคนสนิทของผู้อำนวยการโรงเรียนรบ—พ.อ. พระยาทรงสุรเดช

ถ้า พ.อ. พระยาทรงสุรเดชจะมีความผิด ก็คงเป็นความผิดที่ไม่ยินยอมก้าวเดินร่วมทางกับกลุ่ม นายทหารก่อการชั้นผู้น้อย ซึ่งมุ่งหวังยศตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงเกินตัว เกินความสามารถ (พันเอก หลวงพิบูลสงคราม/ผู้เขียน) ท่านมีความผิด เพราะว่ามีคุณความสามารถเด่นเกินไป”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ยันไม่เปลี่ยนขั้วการเมือง หลัง 'ช่อ พรรณิการ์' แบะท่าจับมือภูมิใจไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้ส่งข้อความทาง WhatsApp ไปหานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยขอให้หายป่วยเร็วๆ ซึ่งนายกฯ ตอบกลับมาว่า เจอกันวันพุธ ที่19 มิย. ตนก็คาดว่าคงเจอกันในสภา ซึ่งมีการประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568

เปิดวิธีเลือก สว.ระดับประเทศ รอบสุดท้าย 200 คน สำรองอีก 100 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ จัดขึ้นที่อิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 15)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

เลขาฯกกต. กรีดก้าวไกล 'ท่านได้รับผลร้าย จากข้อเท็จจริงที่ท่านทำ'

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ กกต. ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมกรณียุบพรรคก้าว