ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 36: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม  

จากตอนที่แล้ว ที่ได้ยกรายงานสถานทูตต่างประเทศที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร” ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ   ส่วนในแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและในพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า ปิดประชุมสภาฯ  และผู้เขียนได้ทิ้งคำถามท้ายบทความไว้ว่า “ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?”             

------------------

ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้  ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า

“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”

--------------

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯมิไม่ถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและเป็นการทำรัฐประหาร เพราะเป็นไปตามมาตรา 29 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นไปตามระบบรัฐสภาที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรี

ประเด็นที่เหลือที่น่าจะเป็นเหตุผลให้เป็นการทำรัฐประหารเงียบ คือ การกำหนดให้รอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา  ซึ่งข้อความในข้อ 5 ในพระราชกฤษฎีกาฯจะสัมพันธ์กับหัวข้อและข้อความในแถลงการณ์ของรัฐบาล วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยหัวข้อคือ  “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปิดสภาผู้แทนราษฎรและรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

โดยความในข้อ 5 กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป”

ส่วนข้อความในแถลงการณ์ที่มีใจความเดียวกัน ได้แก่ ข้อความในย่อหน้าแรก:  “รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

และ ข้อความในย่อหน้าสุดท้าย:  “รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า  พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

การงดหรือรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ว่านี้ คือ มาตรา 6 และมาตรา 36

มาตรา 6 มีความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”

มาตรา 36 มีความว่า “บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”           

สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องกำหนดให้มีการรอการใช้มาตรา 6 หรืองดใช้มาตรา 6 ชั่วคราว  เพราะความในข้อ 4 ในพระราชกฤษฎีกาฯขัดกับมาตรา 6

เพราะความในข้อ 4 ในพระราชกฤษฎีกาฯ กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี”  ซึ่งขัดกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฯที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”  และมาตรา 36 ที่กำหนดไว้ว่า บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”

การประกาศดึงอำนาจนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหารนี้ มิได้กระทำในขณะที่ยังมีการเปิดประชุมสภาฯอยู่ แต่กระทำหลังจากที่ปิดประชุมสภาฯแล้วหนึ่งวัน และการปิดประชุมสภาฯก็เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรา 29  การตราพระราชกฤษฎีกาดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า  ผู้รับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิบสี่คน อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กราบบังคมทูลฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ มีอำนาจที่จะให้มีการ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา…เป็นการชั่วคราว”  นั่นคือ รอการใช้มาตรา 6 เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ?  ซึ่งชั่วคราวที่ว่านี้ก็คือในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476  และมีอำนาจในการ “ดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร” หรือไม่ ?

ในทางนิติศาสตร์ การดึงอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่ฝ่ายบริหารเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475   ได้กำหนดไว้แล้วในมาตรา 29 และในมาตรา 52 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

กลับมาที่คำถามข้างต้นที่ว่า “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิบสี่คน อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กราบบังคมทูลฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ มีอำนาจที่จะให้มีการ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา…เป็นการชั่วคราว”  นั่นคือ รอการใช้มาตรา 6 เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ?

คำตอบตามหลักนิติศาสตร์ที่ปรากฏในมาตรา 29 ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และมาตรา 52 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ต่อกรณีที่เป็นเหตุฉุกเฉิน นอกจากที่รัฐบาลได้แถลงการณ์แล้ว (ดูตอนที่แล้ว) ในพระราชกฤษฎีกาฯ เองก็มีข้อความว่า “….สภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้คงประกอบด้วยสมาชิกซึ่งตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรตั้งผู้แทนขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึ่งไม่เป็นการสมควรที่สภาจะพึงดำริการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจอันเป็นรากเหง้าแห่งความเป็นความอยู่ของประเทศมาแล้วแต่โบราณกาล ณ บัดนี้ ปรากฏว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากแสดงความปรารถนาแรงกล้าเพียรที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้นโดยวิธีการอันเป็นอุบายในทางอ้อมที่จะบังคับข่มขู่ให้สภาต้องดำเนินการไปตามความปรารถนาของตนเป็นการไม่สมควรเป็นที่เห็นได้ชัดแล้วว่า จะประชุมกันบัญชาการของประเทศไทยโดยความสวัสดิภาพไม่ได้แล้ว สามารถจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงต่อประเทศ ทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นเวลาฉุกเฉินแล้ว สมควรต้องจัดการป้องกันความหายนะอันจะนำมาสู่ประเทศและอาณาประชาราษฎรทั่วไป จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ขึ้น...”

จากย่อหน้าข้างต้น สะท้อนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับความเห็นต่างในเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ร่างและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นนโยบายเศรษฐกิจฉบับแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ปฏิทินเดิม) มีความเห็นต่างต่อร่างนโยบายเศรษฐกิจ รายงานการประชุมบันทึกไว้ว่า หลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวว่า

“…ความเห็นทางเศรษฐกิจของเราต่างกันดั่งนี้ ก็จะได้ต่างคนต่างดำเนินไป ในส่วนทางการปกครองรัฐธรรมนูญนั้น เราร่วมกันเสมอ มีทางอยู่ 2 อย่างสำหรับข้าพเจ้า               

1. ขอให้ข้าพเจ้าออกจากรัฐมนตรี 2. จะรวม (โคลีชั่น) (coalition รัฐบาลผสม/ผู้เขียน) แต่ขอให้ความเห็นทางเศรษฐกิจของข้าพเจ้าปรากฎโดยทางใดทางหนึ่ง

พระยาทรงสุรเดช: ขอร้องว่า ให้รอ พ.อ. พระยาพหลฯ เสียก่อนจึ่งค่อยพูดกันใหม่ วันนี้เอาเพียงเท่านี้ก่อน 

หลวงประดิษฐ์ฯ – ในเรื่องโครงการณ์นี้ ข้าพเจ้าได้พยายามฝืนและลดหย่อนลงจนถึงที่สุดแล้ว ข้าพเจ้าได้ยอมประนีประนอมโดยตลอดมา บัดนี้ ถึงขีดที่สุดแล้ว ที่ว่ายังไม่เหมาะหรือรอไว้ก่อนนั้นเท่าพูด ‘โน’ (No-ไม่/ผู้เขียน) อย่างสุภาพ ข้าพเจ้าจึ่ขอประกาศของข้าพเจ้าบ้าง ซึ่งไม่เห็นจะเสียหายอย่างไรเลย คือว่าของรัฐบาลมีโปลีซี (policy-นโยบาย/ผู้เขียน) ส่วนของคนอื่น (คือข้าพเจ้า) มีอย่างนี้

พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ์:  ถ้าแม้ว่ารัฐบาลไม่เอาอย่างโครงการของคุณหลวง คุณหลวงจะลาออกไหม ?

หลวงประดิษฐ์ฯ – ข้าพเจ้าต้องลาออกทีเดียวและข้าพเจ้าขอถามว่า ถ้าเอาอย่างของข้าพเจ้าจะมีใครลาออกบ้างไหม ?

นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ข้าพเจ้าก็ต้องลาออก

หลวงประดิษฐ์ฯ - ถ้าเช่นนั้น ก็เหมือนกัน

พ.อ. พระยาทรงสุรเดช: ไม่ใช่เหมือนกัน นายกรัฐมนตรีนั้นอย่างหนึ่ง เพราะรับผิดชอบมาก ส่วนสำหรับพวกเรานั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง     

หลวงประดิษฐ์ฯ - ข้าพเจ้าชอบ ไอเดีย ของผู้พิพากษา (หมายถึงพระยามโนฯ/ผู้เขียน) คือว่า เมื่อมีความเห็นแย้งกัน ก็ให้มีความเห็นแย้งปรากฏด้วย ที่จะบังคับให้ลงนามทั้งที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องลาออก

นายกรัฐมนตรี รับรองว่า ถ้าเช่นนั้นก็อยุตติธรรมเกินไปที่ไม่เห็นด้วยแล้วจะบังคับให้ลงชื่อ

หลวงประดิษฐ์ฯ - จะทำอย่างไรก็ตามใจ ขอให้ของข้าพเจ้าได้ประกาศก็แล้วกัน

นายกรัฐมนตรี – ชื่อของหลวงประดิษฐ์ มี เพอซันนาลิตี้ (personality - โดดเด่นเป็นที่รู้จัก/ผู้เขียน) อย่างสำคัญในรัฐบาล จะให้ลาออกไม่ได้

หลวงประดิษฐ์ฯ - ตอบว่า จริงแต่ว่า มี เพอซันนาลิตี้ อย่างชนิดคอมมิวนิสต์หรืออะไรทำนองนั้น ตามที่ข้าพเจ้าเคยอ่านในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ แม้ความเห็นต่างกันก็อยู่ร่วมรัฐบาลเดียวกันได้

นายกรัฐมนตรี - ถ้าให้ทำอย่างนั้น ก็จะขาดความเชื่อถือในรัฐบาลไป

หลวงประดิษฐ์ฯ รับรองว่า ไม่ต้องกลัว ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นอะไร

พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ขอให้รอเจ้าคุณพหลฯ ก่อน จึ่งค่อยพูดกันให้เด็ดขาด วันนี้เอาเพียงเท่านี้ก่อน เพราเจ้าคุณพหลฯ เป็นหัวหน้าในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะไม่ให้รู้ในเรื่องสำคัญ ฯ เช่นนี้ ไม่เหมาะ ข้าพเจ้าขอถามว่า โครงการกระทรวงทบวงการต่างๆ นั้น เวลานี้ดำเนินไปได้เพียงไรแล้ว

หลวงประดิษฐ์ฯ – เวลานี้อยู่ที่ข้าพเจ้า ที่ช้าอยู่ก็เพราะมัวแต่ติดขลุกขลักในเรื่องโครงการเศรษฐกิจ”

หลังจากนั้น อีกไม่นาน ก็ปิดประชุม และมีการประชุมต่อจากครั้งนี้ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีการลงมติในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ เป็นเวลา 3 วันก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

(โปรดติดตามตอนต่อไป)                                                         

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ

นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก