ทูตจีนบอกว่าไทย ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง

การทูตจีนยุคนี้ปรับเป็น “เชิงรุก” อย่างไร ให้ดูความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นของคุณ “หาน จื้อเฉียง” เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่

ตั้งแต่มารับตำแหน่งในประเทศไทยไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ท่านทูตหานพบปะกับผู้คนในวงการต่างๆ ในประเทศไทยอย่างคึกคัก

และพร้อมที่จะตอบคำถามทุกประเด็นที่จีนต้องการจะสื่อกับคนไทย

อีกทั้งตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องความเห็นทางลบเกี่ยวกับจีนจากภาคส่วนต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่านทูตหานตอบคำถามหลายข้อในงานสัมมนาออนไลน์กับสื่อมวลชนไทย

หลายประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่ควรจะนำมาเล่าขานเพื่อได้รับทราบถึงจุดยืนในเรื่องที่เป็นหัวข้อร้อนๆ อยู่
เช่น ตอนหนึ่งท่านทูตจีนประกาศว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย “ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง”
นั่นย่อมหมายถึงจีนและสหรัฐฯ

เป็นจุดยืนที่น่าสนใจมากในภาวะที่มีการเผชิญหน้าที่หนักหน่วงขึ้นระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันในหลายมิติ

ไทยมักจะถูกทั้ง 2 ฝ่ายกดดันให้โอนเอียงไปข้างของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเมืองเรื่องของผลประโยชน์
ในยุคสงครามเย็น ยักษ์ใหญ่ฝั่งโลกตะวันตกและคอมมิวนิสต์ก็ขีดเส้นแบ่งข้างชัดเจน ประเทศส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก ต้องตัดสินใจประกาศตนว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง

แม้แต่กลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” หรือ Non-Aligned Movement (หรือ NAM) ในขณะนั้นก็ยังหนีไม่พ้นถูกดึงไปข้างใดข้างหนึ่งในประเด็นนโยบายหลัก

ไทยถูกกดดันและน้าวโน้มไปอยู่ข้าง “โลกเสรี” และในขณะนั้นก็ยืนอยู่คนละข้างกับจีนและสหภาพโซเวียตกับเวียดนาม

แต่หลังสงครามเวียดนามสงบ ตามมาด้วยการสิ้นสุดของสงครามเย็น ไทยก็ปรับตัวคบหากับจีนคอมมิวนิสต์แต่ก็ยังคงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เอาไว้อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ไม่ว่าเราจะเรียกว่าได้เกิด “สงครามเย็นรอบใหม่” ระหว่าง 2 ยักษ์หรือไม่ แต่ในความเป็นจริงก็คือว่า การเผชิญหน้าขณะนี้ก็ทำให้ไทยและประเทศอื่นๆ ต้องถูกขอร้อง, กดดัน, และกึ่งบังคับให้ต้องเลือกข้าง

เมื่อทูตจีนบอกว่าปักกิ่งไม่ได้ต้องการให้ประเทศอื่นต้องเลือกข้าง จึงเป็นแนวทางที่น่าคิด
น่าคิดตรงที่ว่าจีนหมายความอย่างนั้นจริงหรือไม่

และสหรัฐฯ จะมีแนวคิดอย่างไรกับจุดยืนของจีนที่แถลงออกมาเช่นนี้

ในการสัมมนากับสื่อไทยวันนั้น ทูตหานบอกด้วยว่า จีนไม่ได้พยายามแข่งขันกับประเทศใดๆ เพื่อครองโลกหรือขยายอิทธิพล

ท่านทูตบอกว่ามีบางประเทศพยายามอย่างที่สุดเพื่อกดดันประเทศจีน สร้างข้อพิพาทและการเผชิญหน้า ซึ่งความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่จีน

โดยที่ท่านเน้นว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง

แต่สามารถเลือกแนวทางที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของโลก

ท่านทูตย้ำว่าประเทศต่างๆ ควรเคารพซึ่งกันและกัน

ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม และร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ท่านบอกด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควรเป็นความสัมพันธ์ของการเคารพซึ่งกันและกัน การปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ทูตหานบอกว่าจีนคัดค้านแนวคิดสงครามเย็นและการเมืองแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และต่อต้านการทำลายความสามัคคีและสร้างเงื่อนไขการเผชิญหน้ากัน

จีนยึดมั่นในการพัฒนาอย่างสันติ สนับสนุนความร่วมมือแบบ win-win และส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ และเชื่อว่าบนเส้นทางที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของโลกและทิศทางความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

“เราจะมีเพื่อนอยู่ทุกหนแห่งในโลก และเรามีอนาคตที่สดใส ผู้มีคุณธรรมจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนกัน ผู้ซึ่งไร้คุณธรรมจะโดดเดี่ยว ความพยายามและการกระทำที่ทวนกระแสโลกและขัดต่อผลประโยชน์พื้นฐานของประเทศต่างๆ ในโลก ไม่ว่าพวกเขาจะมีอำนาจมากขนาดไหนและบ้าคลั่งเพียงใด ก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จและจะเผชิญหน้ากับความล้มเหลวในที่สุด...”

เป็นวาทะที่ตอกย้ำถึงจุดยืนของจีนในหลายๆ ด้านที่เป็นแนวทางการทูตจีนวันนี้อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

วันนั้นท่านทูตหานยังถูกถามถึงข้อกล่าวหาจีนเรื่องแม่น้ำโขงที่น่าวิเคราะห์อีกด้วย

พรุ่งนี้ว่าต่อครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex