ระอุ! รัสเซียขู่จะตอบโต้ถ้า ฟินแลนด์-สวีเดนเข้า NATO

เครียดไปทั่วโลกทันที...เมื่อฟินแลนด์ประกาศว่าจะยื่นใบสมัครเป็นสมาชิก NATO “โดยไม่ชักช้า”

และสวีเดนก็จะเดินตามมาติดๆ

ทำให้รัสเซียออกมาเตือนว่าอาจจะต้องใช้ “มาตรการทางทหาร” เพื่อ “ขจัดภัยคุกคาม” อันเกิดจากที่ 2 ประเทศเพื่อนบ้านนี้เข้าไปร่วมกับพันธมิตรทางทหารตะวันตกที่มอสโก ถือว่าเป็นศัตรูอันร้ายกาจยิ่ง

เป็นจังหวะเดียวกันกับที่รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย Dmitry Medvedev ให้สัมภาษณ์ว่า หากตะวันตก “ยั่วยุ” รัสเซียด้วยการโหมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยไปให้กับยูเครนรบกับรัสเซีย สถานการณ์อาจจะบานปลายกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ”

นั่นแปลว่าสงครามยูเครนอาจจะขยายวงกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับนาโต         

เพราะเลขาธิการนาโตกระโดดออกมา “ต้อนรับอย่างอบอุ่น” ให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนาโต

และจะทำให้กระบวนการของการพิจารณารับสมัครนั้นเป็นไปอย่าง “ราบรื่นและรวดเร็ว”

ขณะที่นายกฯ อังกฤษ บอริส จอห์นสัน ก็ออกตัวแรง...เดินสายไป 2 ประเทศนี้เพื่อลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงทวิภาคี

พร้อมพันธกรณีว่า หากสวีเดนหรือฟินแลนด์ถูกโจมตี อังกฤษจะเข้าช่วยทำสงคราม

เท่ากับว่าอังกฤษเล่นบทเป็น “ทัพหน้า” ของนาโตในจังหวะที่ 2 ประเทศนี้ยังไม่ได้เข้ามาสู่อ้อมกอดของนาโต

และเลขาธิการนาโตเองก็รับปากว่า ในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ก่อนที่ทั้ง 2 ประเทศจะเข้ามาเป็นสมาชิกนาโตอย่างเต็มรูปแบบ ก็จะมีมาตรการที่ให้ความอุ่นใจว่าจะได้รับการปกป้องทางด้านการทหารหากรัสเซียโจมตี

ทุกสัญญาณสะท้อนถึงการยกระดับของการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับนาโตอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

หลังจาก ‘สวีเดน’ และ ‘ฟินแลนด์’ จ่อเข้าสมัครร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ก็ได้เดินทางไปพบนาง แม็กดาเลนา แอนเดอร์สัน นายกรัฐมนตรีหญิงคนล่าสุดของสวีเดน เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

มีการแถลงข่าวร่วมกันอย่างเอิกเกริกเหมือนจงใจจะส่งสารไปถึงประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียว่า                  “เตรียมรับมือไว้ให้ดีก็แล้วกัน”

เพราะเนื้อหาของเอกสารที่ลงนามกันนั้นเป็นข้อตกลงด้านความมั่นคงร่วมกัน

สาระสำคัญระบุชัดเจนว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะช่วยเหลือกัน...แต่ความหมายที่แท้จริงก็คือ อังกฤษพร้อมยกกองทัพมาช่วยสวีเดนทันที หากโดนรัสเซียบุก เหมือนกับที่ทำกับยูเครนขณะนี้

บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นการเสริมกำลังให้กับชาติในยุโรปเหนืออันเกิดจาก “ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่”

อีกทั้งตอกย้ำว่าความสัมพันธ์ของ 2 ชาติจะดำรงอยู่ตลอดไป

ที่น่าสนใจคือผู้นำอังกฤษย้ำว่า ที่ประกาศร่วมกันนั้นไม่ใช่ "ข้อตกลงชั่วคราว" 

หากแต่จะเป็นพันธะที่ผูกพันด้านการทหารที่ถาวรและยั่งยืน

โดยให้รายละเอียดว่า หากพันธมิตรประสบภัยพิบัติ หรือถูกรุกรานโจมตี

 “ขอเพียงแค่แจ้งความประสงค์มา อังกฤษก็พร้อมส่งกองทัพเข้าช่วยเหลือทันที”

นี่ไม่ใช่เพียงแค่ภาษาการทูตหรือการส่งสัญญาณกว้างๆ แบบลอยๆ อีกต่อไป

นี่คือการประกาศจับมือต้านรัสเซียอย่างเปิดเผยอีกแนวรบหนึ่งนอกเหนือจากภาพใหญ่ของนาโต

ไม่จบแค่ที่สวีเดนเท่านั้น บอริส จอห์นสัน ยังเดินสายต่อไปที่ฟินแลนด์ทันที

และลงนามในข้อตกลงที่มีเนื้อหาเดียวกันฟินแลนด์ด้วย

ประธานาธิบดีฟินแลนด์ เซาลี นีนิสเตอ ประกาศอย่างไม่เกรงใจมอสโกว่า

 “รัสเซียพร้อมจะโจมตีประเทศเพื่อนบ้านของตัวเอง ดังนั้นผมจึงบอกได้แค่ว่าคุณเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้น ลองส่องกระจกดูเองเถอะ”

นี่ย่อมไม่ใช่ภาษาที่เพื่อนบ้านพูดคุยกันแบบปกติอีกต่อไป

ไม่ต้องสงสัยว่าความเคลื่อนไหวที่อังกฤษเป็นหัวหอกครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่ 2 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกกำลังมีความร้อนใจอย่างยิ่งต่อการรุกรานของรัสเซียในยูเครน

เพราะถ้ารัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งใหญ่กว่าฟินแลนด์และสวีเดนบวกกันได้ จะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ส่งทหารเข้าฟินแลนด์และสวีเดนไหม

เราจึงได้ยินผู้นำของ 2 ประเทศนี้เกริ่นนำมาหลายสัปดาห์แล้วว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO หรือไม่

โดยเฉพาะฟินแลนด์ ที่มีชายแดนติดกับรัสเซียยาวถึง 1,340 กิโลเมตร และมีประวัติการสู้รบกับอดีตสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน

รัสเซียเคยขู่ไว้แล้วว่า ถ้าฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วม NATO มอสโกจำเป็นต้องยกระดับการป้องกันทางทหารในด้านทะเลบอลติก ทั้งทางเรือและ ทางอากาศ รวมถึงการทดสอบการใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกด้วย

นักข่าวถามว่า ข้อตกลงความมั่นคงใหม่นี้จะซ้ำซ้อนกับกองกำลังรบนอกประเทศ หรือ Joint Expeditionary Force ที่อังกฤษเป็นผู้นำกลุ่มร่วมกับประเทศในยุโรปเหนืออีก 9 ประเทศ ที่ก็มีสวีเดนและฟินแลนด์รวมอยู่แล้วหรือไม่

นายกฯ อังกฤษบอกว่า “ข้อตกลงใหม่นี้จะลงลึกในความร่วมมือด้านความมั่นคงมากกว่า”

ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือ แม้ว่าผู้นำสวีเดนและฟินแลนด์จะตัดสินใจยื่นใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ในไม่กี่วันข้างหน้า แต่ขั้นตอนการดำเนินการอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน

ต่างก็กลัวว่ารัสเซียอาจจะไม่รอให้ 2 ประเทศนี้ปักธงของ NATO ในดินแดนของตนก่อนที่จะลงมือ “สั่งสอน” เหมือนที่ทำกับยูเครนก็ได้

นักวิเคราะห์มองว่าความเคลื่อนไหวของนายบอริส จอห์นสัน เป็นการปรับท่าทีของสหราชอาณาจักรครั้งสำคัญเพื่อแสดงความเป็นผู้นำของอังกฤษในย่านนอร์ดิก

มีเนื้อหาที่ให้ความมั่นใจเสริมกรอบของ NATO อีกชั้นหนึ่ง ที่เดิมรัสเซียคิดว่าการบุกยูเครนจะยับยั้งการขยายวงของนาโตมาประชิดติดชายแดนของตนนั้นกลับกลายเป็นว่านาโตได้สมาชิกเพิ่มมาอีก 2 ประเทศ ภายในไม่ถึง 3 เดือน

ผลพวงที่จะตามมาเหนือที่จะคาดเดา...แต่บรรยากาศเช่นนี้เอื้อต่อการขยายวงสงครามมากกว่าการนำไปสู่การเจรจาสงบศึกแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา