สงคราม-โควิดดันไทยสู่ ภาวะ ‘เปราะบาง-สุ่มเสี่ยง’

น่ากังวลครับสำหรับตัวเลขเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจของประเทศไตรมาสแรกที่เปิดเผยโดย คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ยิ่งดูสถานการณ์สงครามในยูเครนที่ทำท่าจะยืดเยื้อไปอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือข้ามไปปีหน้าด้วยแล้วก็ยิ่งเห็นว่าไทยเราต้องปรับยุทธศาสตร์กันอย่างหนักหน่วงกันเลย

สภาพัฒน์บอกว่า จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 2.2%

และลดคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%

จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-สงครามที่ยืดเยื้อ-เงินเฟ้อพุ่ง-ราคาพลังงานแพง

คุณดนุชาบอกว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะเผชิญกับข้อจำกัด จากภาวะความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564

แต่ก็ยอมรับว่า ในระยะถัดไปการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศจะมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน การแซงก์ชัน ความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ

โดยเฉพาะสหรัฐในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้าไทยขยายตัว 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกบริการขยายตัว 30.7%

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 34.1%

แม้ว่าการลงทุนรวมจะขยายตัวได้ 0.8% แต่จะพบว่าการลงทุนภาครัฐหดตัว -4.7% ในขณะที่การลงทุนเอกชนขยายตัว 2.9%

ส่วนสาขาก่อสร้างหดตัว -5.5%

ที่น่ากังวลคือ ในสาขาการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว

ตัวเลขคาดการณ์นี้อยู่บนสมมติฐานว่าน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 95-105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 72-82 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

แต่ในความเป็นจริงนั้น ราคาน้ำดิบโลกจะสูงกว่าระดับนี้พอสมควร

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2565 มี 4 ปัจจัยหลัก คือ

1.ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

2.แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากการดำเนินนโยบาย Zero COVID ของจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับโลก โดยเฉพาะชิปเซต

3.ภาระหนี้สินของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และแม้ว่าสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) จะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่ปัญหาภาระหนี้ดังกล่าวยังคงเป็นปัจจัยเปราะบางสำหรับเศรษฐกิจไทย

4.ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งแม้ว่าเรื่องโควิด-19 จะมีน้ำหนักน้อยลง แต่ก็ต้องติดตามและเฝ้าระวังเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่อีกครั้งได้

เครื่องยนต์หลักๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะมาจาก 3 เรื่องหลัก คือ

การส่งออก ซึ่งต้องมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เรื่องการท่องเที่ยวที่ต้องปรับมาตรการเพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น

การบริโภคในประเทศ ที่ต้องมีการดูแลเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ

ขณะที่ในช่วงถัดไป เราต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เพราะจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้วัตถุดิบบางตัวและราคาพลังงานสูงขึ้น

ใครที่ห่วงเรื่องรัฐบาลจะสร้างหนี้เพิ่มอีกเท่าไหร่ คุณดนุชาอธิบายเรื่องเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้เหลือวงเงินกู้อยู่ 7.4 หมื่นล้านบาท

แต่เนื่องจากมีการกันวงเงินกู้สำหรับผูกพันไว้ใน 2 เรื่อง คือ เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 1 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโควิดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีก 1.6 หมื่นล้านบาท

จึงเหลือวงเงินกู้ที่ใช้ได้อีก 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าวต้องอนุมัติภายในวันที่ 30 ก.ย. และใช้จ่ายให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี

รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจหรือไม่นั้น คุณดนุชาบอกว่า ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่าทรัพยากรของเรามีจำกัด

ถ้าวิเคราะห์ถึงเนื้อหาสาระของตัวเลขทั้งชุดจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “เปราะบางและสุ่มเสี่ยง” ไม่น้อย

ทั้งปัจจัยภายในที่เราควบคุมได้ แต่ยังควบคุมได้ไม่ดีพอ

และปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ไม่สามารถสร้างดุลถ่วงชดเชยจากปัจจัยอื่นๆ

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องแสวงหาแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า

เพราะต้องเตรียมเผื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยกันจริงๆ หากการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจยังเดินหน้าสร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขของสภาพัฒน์สะท้อนว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจบางตัวกำลังแผ่วลงจากปีก่อน

เช่น ตัวเลขการส่งออกขยายตัวลดลงจาก 14.9% ในปี 64 เหลือ 10.2% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 65

การผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรม ลดลงจาก 4.9% เหลือ 1.9%

การลงทุนรวมรัฐเอกชนลดลงจาก 3.4% เหลือ 0.8%

ภาคก่อสร้างลดลงจาก 2.7% เหลือ -5.5%

สะท้อนว่า “เครื่องยนต์ส่งออก” ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของไทยที่เราพึ่งพามา 2 ปีนั้นกำลังอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด

ขณะเดียวกันการลงทุนรัฐเอกชน และภาคการก่อสร้างก็กำลังชะลอตัวลงเช่นกัน

ภาคเศรษฐกิจที่ยังพอจะขยับไปได้บ้างก็มี เช่น

การบริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 0.3% เป็น 3.9%

ภาคการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 4.1%

การท่องเที่ยวจาก -23.1% เป็น +30.7%

ที่พักแรมและร้านอาหาร จาก -14.4% เป็น +34.1%

การขนส่งและเก็บสินค้า จาก -2.9% เป็น +4.6%

นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า เราจะต้องหาแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ที่จะมาเสริมเศรษฐกิจสำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าที่น่าจะมาจากจุดที่ยังพอจะมีเรี่ยวแรงที่จะผลักดันได้ เช่น

การท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ควรจะขยายตัวได้เมื่อเราผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด

เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวปีนี้ประมาณ 5-6 ล้านคน จนถึงปลายปีน่าจะทำได้ไม่ยากนัก

และหากเพิ่มแรงกระตุ้นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็อาจจะทำเป้าได้ดีกว่านี้

อีกด้านหนึ่งคือ การลงทุนของรัฐเอกชน ซึ่งต้องเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น

โดยเฉพาะโครงการใน EEC เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา และรถไฟ 3 สนามบิน 

และต้องเร่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังกลับมาอีกรอบเมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นและธุรกิจต่างประเทศต้องการจะเร่งฝีเท้าเพื่อเร่งการผลิตที่หดหายไปช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่ทั้งหมดนี้เป็น “เครื่องยนต์” เศรษฐกิจเดิมๆ ที่อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการตั้งรับวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกในปีนี้และปีหน้า

จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและเอกชนต้องระดมสมองสร้าง “เครื่องยนต์” ใหม่ๆ ที่โยงกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กำลังเป็นแนวโน้มของโลกใหม่ในยามที่ความไม่แน่นอนในระดับโลกกำลังคุกคามทุกๆ ประเทศในยามนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย