ต้อง Walk the Walk ในการแก้ปัญหาโลกร้อน

สกอตแลนด์ ดินแดนเกิดของ “เจมส์ วัตต์” ผู้พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำสำเร็จในปี ค.ศ.1776

อันนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรที่เริ่มต้นในคริสต์ทศวรรษที่ 1780

เป็นผลทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เริ่มต้นอย่างจริงจังเช่นกัน

และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ก็กำลังจัดขึ้นในสกอตแลนด์ของสหราชอาณาจักรอยู่พอดี

มีกลุ่มผู้ชุมนุมในเมืองกลาสโกว์ สถานที่จัดประชุม ถือป้ายขนาดใหญ่เรียกร้องต่อบรรดาผู้นำโลก “COP26 : WALK THE WALK” อันมีความหมายประมาณว่า “จงกระทำ” เป็นวลีตรงข้ามกับคำว่า Talk the Talk ที่มักใช้เย้ยหยันนักการเมืองหรือพวกที่ดีแต่พูด

อีกวลีที่ได้ยินบ่อยคือ Walk the Talk พูดอะไรไว้ก็ต้องทำตามที่พูด มีความหมายใกล้เคียง Walk the Walk ใช้ได้กับนักการเมืองและคนทั่วไปที่เดินตามเส้นทางที่ได้ให้คำมั่นสัญญาหรืออวดอ้างกับผู้อื่นไว้ วลีนี้มีความหมายคล้ายๆ Practice what you preach หรือสั่งสอนคนอื่นไว้อย่างไรก็ควรทำอย่างนั้นด้วย และ Walk it like you talk it ทำให้เหมือนที่พูดไว้

ทว่ายังไม่ทันจะเริ่มต้นการประชุม COP26 “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้บอกให้ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกเร่งปั๊มน้ำมันขึ้นมา หวังจะแก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง จากนั้นในการประชุมสุดยอด “จี 20” ที่อิตาลี ไบเดนกล่าวว่า “เรามีเวลาไม่มากแล้ว เราต้องลดการเผาไหม้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ซึ่งกำลังคุกคามมนุษยชาติอย่างแท้จริง”

สถานีไฟฟ้าแดรกซ์ในยอร์กเชียร์เหนือ สหราชอาณาจักร ใช้พลังงานถ่านหินและชีวมวล (ภาพจาก eandt.theiet.org)

ในภาษาอังกฤษอาจเรียกพฤติกรรมการพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย พูดอย่างทำอย่าง หรือพวกเสแสร้ง การกระทำย้อนแย้งว่า Hypocrite

นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร “บอริส จอห์นสัน” เคยพูดกระแนะกระแหนทุ่งกังหันลมว่าแทบจะไม่มีพลังพอที่จะพัดให้พุดดิ้งข้าวปลิวกระจายได้ ล่าสุดได้ประกาศเป้าหมายการลดโลกร้อนออกมาอย่างจริงจัง นักวิเคราะห์บอกว่า คงเป็นเพราะ “แคร์รี จอห์นสัน” ภรรยาวัยเอ๊าะคนที่ 3 ของเขาเป็นนักรณรงค์ต่อต้านการใช้พลาสติกนั่นเอง ถือเป็น Hypocrisy ในแง่ดี

สหราชอาณาจักรตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 และเพื่อให้เป็นข่าวดังไปทั่วโลก “บอริส จอห์นสัน” ได้ประกาศอย่างแข็งขันดังนี้

  • หยุดจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลงเบนซินและดีเซลภายในปี ค.ศ.2030
  • เลิกโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติภายในปี ค.ศ.2035
  • เลิกการจำหน่ายระบบทำความร้อนภายในบ้านที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี ค.ศ.2035

แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสภาพภูมิอากาศโลกยังตำหนิจอห์นสันว่าไม่ได้นำเสนอโรดแมปแนวทางปฏิบัติเพื่อการบรรลุเป้าหมาย และว่าที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรล้มเหลวในการสนับสนุนงบประมาณในหลายโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด นอกจากนี้ยังไม่มีทางออกหรือคำแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โครงการพลังงานสะอาดบางโครงการถูกต่อต้านจากคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการสร้างทุ่งกังหันลมบนฝั่ง เพราะข้อเสนอที่รัฐมอบให้ไม่ดึงดูดใจเพียงพอ นอกจากนี้การสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ๆ ก็กำลังประสบปัญหา

อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรคือประเทศแรกในโลกที่มีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการออกพระราชบัญญัติ Climate Change Act เมื่อปี ค.ศ.2008 อีกทั้งรัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการ Climate Change ขึ้นมาโดยเฉพาะ

การริเริ่มของสหราชอาณาจักรทำให้มีหลายประเทศในยุโรปเดินตาม มีการออกกฎหมายและนโยบายในลักษณะใกล้เคียงกัน อาทิ สวีเดน และเยอรมนี

ผลของอุตสาหกรรมพลังงานลมจากทุ่งกังหันนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร ทำให้พวกเขาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้ถึง 44 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระดับของปี ค.ศ.1990 และมีเป้าหมายจะลดลงให้ได้ขั้นต่ำ 68 เปอร์เซ็นต์ภายในปี ค.ศ.2030

จากในอดีตที่ท้องฟ้าอังกฤษเหมือนถูกทาด้วยสีดำ สีเทา เพราะฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม แม่น้ำสกปรกและเต็มไปด้วยสารพิษจากถ่านหิน เวลานี้อังกฤษผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ส่วนมากมาจากพลังงานลม

พระราชบัญญัติ Climate Change Act กำหนดให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งผ่านสภาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 463 ต่อ 5 เสียง แม้จะมีความพยายามขัดขวางจากบรรษัทน้ำมันและยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน เช่น บีพี และเชลล์

เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในสหรัฐอเมริกา เพราะทุกครั้งจะถูกล็อบบี้อย่างหนักจากผู้มีส่วนได้เสีย ล่าสุดแม้แต่วุฒิสมาชิก “โจ แมนชิน” ที่กำลังโด่งดังก็กระโดดเข้าขวาง เขาผู้นี้เป็น ส.ว.จากพรรคเดโมแครตที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง และที่สำคัญแมนชินได้รับการสนับสนุนทางการเงินในการเลือกตั้งจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมถ่านหินและพลังงานฟอสซิล

คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกำลังตรวจสอบบทบาทของอุตสาหกรรมพลังงานกรณีบิดเบือนข้อมูลเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้แหล่งพลังงานสะอาดอย่างเชื่องช้า เมื่อสัปดาห์ก่อนผู้บริหารของยักษ์ใหญ่พลังงานเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการไปในทิศทางเดียวกัน คือน้ำมันและก๊าซยังคงมีความจำเป็นต่อไปอีกพักใหญ่ในอนาคต

“เรายังไม่มีทางเลือกพลังงานที่สามารถเทียบเทียมได้กับที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน” คือคำพูดของซีอีโอเอ็กซอนโมบิล

และในขณะที่คณะกรรมาธิการพยายามเค้นเอาคำมั่นสัญญาจากบรรษัทน้ำมันว่าจะลดการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซได้เมื่อไหร่ ช่วงเวลาเดียวกันนี้ประธานาธิบดีไบเดนกลับขอให้บรรษัทน้ำมันเพิ่มกำลังการผลิต

วิทยานิพนธ์ พ.ศ.2548 โดย “มัชฌิมา กุญชรานุสสรณ์” เรื่อง “สหรัฐอเมริกากับพิธีสารเกียวโต : บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์กับความร่วมมือต่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม” บทคัดย่อระบุว่า

“...พิธีสารเกียวโตเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พิธีสารดังกล่าวกำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมมีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทุกประเทศมีข้อผูกพันตามกฎหมายในอันที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงแห่งพิธีสารนี้

“สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ร่วมลงนามในพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1998 แต่รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีคลินตันไม่ได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรสแต่อย่างใด โดยกล่าวว่าจะนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาก็ต่อเมื่อได้รับการยืนยันจากประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าร่วมโครงการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโตเช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมเสียก่อน

“ในปี ค.ศ.2001 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ขึ้นดำรงตำแหน่ง ได้ให้ฝ่ายบริหารทำการหารือในระดับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายทางด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งฝ่ายบริหารได้ออกแถลงการณ์ว่าพิธีสารเกียวโตเป็นนโยบายที่ไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ และในเดือนมิถุนาย ค.ศ.2001ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็ได้ออกมาแถลงนโยบายประเด็นพิธีสารเกียวโตว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่เข้าร่วมในพิธีสารดังกล่าวทั้งๆ ที่มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมลงนามและให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโตแล้ว 140 กว่าประเทศ

“จากการศึกษาพบว่า กลุ่มผลประโยชน์โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมน้ำมันมีบทบาทอย่างมากในการพยายามชักจูงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการดำเนินนโยบายในประเด็นพิธีสารเกียวโต ทำให้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมน้ำมันมีบทบาทอย่างมากในทางการเมืองสหรัฐอเมริกา และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา”

องค์กร Our World in Data ได้รวบรวมข้อมูลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าชาติใดเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับโลกและควรแสดงความรับผิดชอบในการแก้ปัญหา โดยได้คำนวณตัวเลขย้อนไปถึงปี ค.ศ.1751 และบวกเพิ่มเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.2017 ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมารวมกันทั้งโลกมีประมาณ 1.5 ล้านล้านตัน ทีมงานรวบรวมข้อมูลพบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้

  • ตั้งแต่ ค.ศ.1751 จนถึง 1950 ครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกมาจากทวีปยุโรป ส่วนใหญ่แล้วปล่อยโดยสหราชอาณาจักร ซึ่งจนถึงปี ค.ศ.1882 มากกว่าครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซสะสมของโลกมาจากสหราชอาณาจักร
  • การปล่อยคาร์บอนของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 1 ศตวรรษที่ผ่านมา และเพียง 50 ปีหลังเท่านั้นที่อเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกา เข้ามาเพิ่มสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนของโลกทั้งหมด
  • จนถึงทุกวันนี้สหรัฐปล่อยคาร์บอนสะสม 416 พันล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก มากกว่าจีนที่ปล่อยสะสม 235 พันล้านตันถึง 2 เท่า โดยที่สหรัฐมีประชากรน้อยกว่าจีนประมาณ 4 เท่า
  • สหภาพยุโรปที่มี 28 ประเทศรวมกัน ปล่อยคาร์บอนสะสม 22 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ส่วนประเทศที่ปล่อยมากในปัจจุบัน เช่น อินเดียและบราซิล ไม่ใช่ผู้ครองสัดส่วนสำคัญเมื่อนับสะสมตลอด 266 ปี ขณะที่แอฟริกาปล่อยสะสมน้อยกว่า 0.01 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก
  • แม้อังกฤษจะปล่อยคาร์บอนก่อนใคร ปล่อยสะสม 78 พันล้านตัน มากกว่าประเทศไทยเกิน 10 เท่า แต่ในปัจจุบันปริมาณคาร์บอนที่พวกเขาปล่อยออกมาคิดเป็นสัดส่วน 1 เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้น กฎหมาย นโยบาย และมาตรการใดๆ ที่อังกฤษออกมาจึงไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกมากนัก
  • ถึงจีนจะปล่อยคาร์บอนสะสมน้อยกว่าสหรัฐอยู่ครึ่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันจีนปล่อยออกมาราว 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ก็ควรมีส่วนต้องรับผิดชอบและเร่งแก้ไขอยู่ดี เพราะก๊าซที่ปล่อยวันนี้จะอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกนานหลายร้อยปี และจะมีส่วนทำร้ายผู้คนในอนาคตในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มต้นที่อังกฤษ ก่อนข้ามไปยุโรป และสหรัฐ พวกเขาปล่อยคาร์บอนสู่โลกมากกว่าชาติอื่นรวมกัน แม้แต่ออสเตรเลียยังปล่อยคาร์บอนมากกว่าไทย 2.5 เท่า แต่ประชากรน้อยกว่าเกือบ 3 เท่า

ชาวตะวันตกพัฒนา เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ รับอานิสงส์ก่อนชาติอื่นๆ ในโลกนี้ แถมยังมีแต้มต่อจากการใช้แรงงานทาส การล่าอาณานิคม ปล้นเอาทรัพยากรของคนท้องถิ่น บางการกระทำดำเนินมาจนถึงยุคปัจจุบัน

มาตรการเดินไปสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ.2030 จึงควรเริ่มที่ชาติต้นตอเหล่านี้ทันที แล้วชาติกำลังพัฒนาก็คงปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไขข้อแม้ เพียงแค่อยากดูว่าชาติตะวันตก เป็นพวก Walk the Walk ของจริง

ไม่ใช่ Talk the Talk อย่างที่เป็นมาช้านาน.

 

อ้างอิง

- ourworldindata.org/contributed-most-global-co2

- tnrr.in.th/?page=result_search&record_id=275200

 nytimes.com/2021/11/01/world/europe/britain-climate-change.html

- nytimes.com/2021/11/01/climate/biden-oil-gas-cop26.html

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรี...ที่ไม่ใช่รัฐมนตรง

ในอดีตก่อนกาลนานมาแล้ว รัฐมนตรีของไทยเรา จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ “ตรง” กับบทบาทและหน้าที่ สามารถกำกับนโยบายและบริหารงานกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี

จงรับกรรม-จงรับกรรม-จงรับกรรม!!!

อาจด้วยเหตุเพราะความเดือดพล่านของโลกทั้งโลก...ไม่ว่าในแง่อุณหภูมิอากาศ หรือในหมู่มวลมนุษย์ ที่ใกล้จะล้างผลาญกันในระดับสงครามโลก-สงครามนิวเคลียร์ ยิ่งเข้าไปทุกที

รับแผน 'ทหารพราน' กลับที่ตั้ง

ต้องร้องเพลงรอกันไปอีก 2-3 วัน กว่าจะได้รู้บทสรุปความขัดแย้งภายใน "กรมปทุมวัน" อันเป็นที่มาของคำสั่ง นายกฯ เศรษฐา ให้ บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

จะดีจะชั่ว...อยู่ที่ตัวคนเลือก

คนเรานั้น แม้จะเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นลูกใคร จะได้เป็นลูกเศรษฐีหรือลูกคนจน แต่เมื่อเราเติบโตรู้ความ ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ได้รับการศึกษา

จากสงครามเวียดนามถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ช่วงที่นักศึกษา ปัญญาชน คนหนุ่ม-คนสาวชาวอเมริกัน...เขาลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน คัดค้าน สงครามเวียดนาม ในช่วงระยะนั้น อันตัวข้าพเจ้าเอง ก็กำลังอยู่ในวัยหนุ่ม