ถ้าสี จิ้นผิง-ไบเดน มาไทย ปูตินก็ต้องร่วมวงด้วย!

หากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เตรียมจะมากรุงเทพฯ และอินโดนีเซียในปลายปีนี้ตามที่เป็นข่าว ก็น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์และเกมการเมืองยักษ์ใหญ่ไม่น้อย

และอาจจะมีการนัดพบระหว่างผู้นำจีน กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แบบ “ตัวเป็นๆ” อีกด้วย

เพราะเป็นจังหวะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งมากมายหลากหลาย

และตัวละครหลักก็คือผู้นำจีนและสหรัฐฯ นี่แหละที่ต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้โลกไปยืนอยู่ตรงปากเหวของสงครามนิวเคลียร์ดั่งที่เรากำลังเห็นภาพอยู่ขณะนี้

ข่าวของ Wall Street Journal เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน บอกว่าเจ้าหน้าที่จีนกำลังเตรียมงานสำหรับการเดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อเข้าร่วมประชุม 2 เวทีปลายปีนี้

หากเป็นไปตามข่าวนี้จริง การเดินทางครั้งนี้ของ สี จิ้นผิง จะเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งเเรกของผู้นำจีนในรอบเกือบ 3 ปี

และถ้าได้พบกับไบเดน ก็จะเป็นการร่วมหารือกันตัวต่อตัวครั้งเเรกตั้งแต่ที่ไบเดนปฏิญาณตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ

2 คนนี้พูดคุยกันครั้งล่าสุดผ่านวิดีโอออนไลน์ยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง

เป็นช่วงก่อนที่จะเกิดกรณี แนนซี เพโลซี, ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ, ไปเยือนไต้หวันจนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตจนถึงวันนี้

ก่อนจะออกเดินทางมาไทยและอินโดฯ ปลายปีนี้ ภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับ สี จิ้นผิง วัย 69 ปี คือการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ที่มีวาระการประชุมสำคัญที่สุดคือการต่ออายุการเป็นผู้นำของประเทศไปอีก 1 สมัย อันเป็นสมัยที่ 3

หากไม่มีมติพรรคออกมาอย่างจะแจ้งระหว่างตุลาคมและพฤศจิกายนปีนี้ สี จิ้นผิง คงไม่เดินทางไปไหน

ดูเหมือนไม่มีใครสงสัยว่าการยืนยันความเป็นผู้นำต่อเนื่องของ สี จิ้นผิง จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังมีการเปลี่ยนตัวบุคคลในระดับกรมการเมือง หรือ Politburo ของพรรคอีกหลายคน

เพราะบางคน เช่น นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง จะหมดสมัยการทำหน้าที่ของตัวเอง

ใครเป็นใครในตำแหน่งทรงอิทธิพลที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 7 คน จึงเป็นหัวข้อที่ทั้งโลกต้องจับตาเป็นพิเศษ

หากทุกอย่างเป็นตามที่วางแผนเอาไว้ สี จิ้นผิง ก็จะมาจะเกาะบาหลีของอินโดเนียเซียที่เป็นเจ้าภาพการประชุมจี 20 วันที่ 15-16 พฤศจิกายน

หลังจากนั้นเพียง 2 วัน เขาก็จะบินต่อมาที่กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APEC

ข่าวของ Wall Street Journal แจ้งว่า การพบกันระหว่างสีและไบเดนอาจเกิดขึ้นในการหารือนอกรอบที่ G-20  หรือ APEC

สื่ออเมริกันนี้บอกว่า ได้สอบถามไปยังกระทรวงต่างประเทศจีนถึงรายละเอียดของเรื่องนี้ ได้รับคำตอบเพียงว่า

"จีนสนับสนุนอินโดนีเซียและไทย ในฐานะเจ้าภาพการประชุมทั้ง 2 และเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อส่งเสริมให้การประชุมเกิดผลเชิงบวก"

ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ยังไม่มีการยืนยันจากทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวไม่ยอมให้ความเห็นเรื่องนี้

แต่แหล่งข่าวจากรัฐบาลสหรัฐฯ บอกว่าผู้นำทั้ง 2 ได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ที่จะพบกันตัวต่อตัวระหว่างการโทรติดต่อกันก่อนหน้านี้

และเห็นพ้องกันว่าจะให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายประสานงานกันเกี่ยวกับรายละเอียดในลำดับต่อไป

ประเด็นของบทบาทประเทศไทยในเรื่องนี้จึงสำคัญขึ้นมาทันที

เพราะหากมีความเป็นไปได้ว่า สี จิ้นผิง กับ โจ ไบเดน นัดพบกันในวาระที่ว่านี้ รัฐบาลไทยก็น่าจะพยายามประสานกับทั้ง 2 ฝ่ายให้มาพบกันที่กรุงเทพฯ

เพราะจะเป็นการตอกย้ำว่า ประเทศไทยเราเป็น “เวทีแห่งการพูดจาเรื่องสันติภาพโลก” ได้อย่างดียิ่ง

หากไบเดนมาจริง ก็จะมีเหตุโยงไปถึงการที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ปีหน้าต่อจากประเทศไทย

แต่เดือนพฤศจิกายนนี้ก็เป็นจังหวะสำคัญสำหรับการเมืองในบ้านของไบเดน

เพราะเป็นวันเลือกตั้งกลางเทอมที่มีสัญญาณว่าพรรคเดโมแครตของไบเดนอาจจะเสี่ยงถูกแย่งที่นั่งไปหลายๆ รัฐ

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐปีนี้จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน

เป็นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญสำหรับไบเดนมาก

เพราะประชาชนคนอเมริกันจะไปหย่อนบัตรเลือกตั้งสำหรับที่นั่งทั้งหมด 435 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร และ 35 ที่นั่งจาก 100 ที่นั่งในวุฒิสภา

วันนี้พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากเล็กน้อยในสภาล่างและเป็นเบี้ยล่างในสภาบน

ดังนั้นไบเดนจึงต้องอยู่ “เฝ้าบ้าน” ในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง และต้องประจำการอยู่ทำเนียบขาวในวันเลือกตั้งกลางเทอมอย่างใจจดใจต่อทีเดียว

หากผลการเลือกตั้งออกมาไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเดโมแครตเสียหายมากนัก ไบเดนก็อาจจะยังตัดสินใจบินมาบาหลีและกรุงเทพฯ

แต่หากมีเหตุการเมืองที่ทำให้ไบเดนตกที่นั่งลำบาก เพราะผลการเลือกตั้งทำให้เสียที่นั่งใน 2 สภามากเกินไป ไบเดนก็อาจตกที่นั่งลำบากในบ้าน

แต่หากทั้งสีและไบเดนมาบาหลีและกรุงเทพฯ จริง ประเทศไทยเราควรจะต้องเริ่มวางแผนจะจัดให้ “3 ผู้ยิ่งใหญ่” มาคุยกันนอกรอบ

นั่นคือต้องไม่ลืมแจ้งกับประธานาธิบดีปูตินว่าท่านตัดสินใจมากรุงเทพฯ ได้แล้ว

เพราะจะได้ตั้งวงกับสี จิ้นผิง และโจ ไบเดน ถกแถลงเรื่องสงครามยูเครน, เกาะไต้หวัน, วิกฤตเศรษฐกิจและวิถีทางหลีกเลี่ยง “สงครามนิวเคลียร์” อันไม่พึงปรารถนา!

 (รัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย บอกนักข่าววันก่อนว่า ปูตินยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธที่จะมาร่วมประชุม APEC...ได้เวลาที่ไทยกับอินโดฯ จะประสานมือกับจัดการประชุมสุดยอดระดับโลกให้เป็นที่เอิกเกริกได้เลย).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน