ทำไมไทยต้องมีแพลตฟอร์ม ซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’?

ตั้งท่ากันมานานหลายปี ประเทศไทยเริ่มเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” เป็นครั้งแรกแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา

เป็นก้าวสำคัญสำหรับการที่ไทยเราจะอยู่ในจุดที่ผลักดันให้ร่วมต่อสู้โลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม

แม้ว่าจะมีการพูดถึง Carbon Credit ในระยะหนึ่ง แต่คนไทยทั่วไปก็คงจะยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้มากนัก

หากมีการให้ความรู้และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ เรื่องสำคัญระดับโลกนี้จะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย

เพราะคนไทยไม่ร่วมกันปรับตัวและพฤติกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของการสู้โลกร้อนไม่ได้อีกแล้ว

วันก่อนผมได้ฟังคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พูดถึงเรื่องนี้ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ” แล้วก็พอจะเห็นหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน

คุณวราวุธบอกว่า เราต้องยอมรับว่าสภาพอากาศของโลกมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก

เมื่อเดือนที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ วันเดียวมีน้ำท่วมสูงถึง 380 มิลลิเมตร      

ในทางกลับกันทางประเทศจีนเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่ยาวนานเป็นเดือน

ทำให้ปริมาณฝนที่ตกน้อยเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำอีกหลายสายเกิดภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

จึงถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องตระหนักว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที

 แนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในประเทศไทยมีความชัดเจนในระดับนโยบาย

หนึ่งในหนทางสำคัญที่รัฐบาลเดินหน้าผลักดันคือ การเพิ่มแหล่งกักเก็บ และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่า จำนวน 6 แสนไร่           

รัฐมนตรีวราวุธบอกว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงเจตจำนงเพื่อขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

ทั้งในส่วนพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

เพราะภาคเอกชนเริ่มเห็นแล้วว่าคาร์บอนเครดิตมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศและต่อการทำธุรกิจของตนเองมาก

หลายประเทศที่ไทยทำมาค้าขายด้วย โดยเฉพาะทางตะวันตกได้ออกกฎหมายที่จะเก็บภาษีสูงขึ้นหากสินค้าที่ส่งไปขายไม่มีมาตรฐานด้านการลดภาวะโลกร้อน

ถ้าไทยไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

และจะถูกจัดเป็นประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับการช่วยกันปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม

คุณวราวุธประกาศเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในวันที่ 21 กันยายน 2565

โดยเงื่อนไขการแบ่งปันคือ ผู้ปลูกหรือภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10%

ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานของภาคเอกชน เพื่อดูแลพื้นที่ป่าเหล่านี้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” ในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593)

และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)” ในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608)

โดยรัฐบาลรับปากจะมีการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม

รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ

หากทุกประเทศทำได้ จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 21 เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

มีแนวทางการผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจก 6 ด้านของกระทรวง ได้แก่

1.ด้านนโยบาย โดยการบูรณาการด้านยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติ สู่เป้าหมาย Net Zero

2.ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี

3.ด้านการลงทุน โดยร่วมกับ BOI สนับสนุนการลงทุนสีเขียวมากขึ้น

4.ด้านพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO อธิบายว่า TGO เป็นองค์กรหลักในการควบคุม หรือกำกับดูแลมาตรฐานการประเมินภาคสมัครใจ การส่งเสริมให้เกิด Eco-system (ระบบนิเวศ) ในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

องค์การมหาชนแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550

มีหน้าที่บริหารจัดการโครงการดังกล่าว มีความเป็นเอกภาพและคล่องตัวในการดำเนินงาน

รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศ

มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ.2550 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 31 ก เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 และได้มีการจัดตั้ง “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) : อบก.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization :TGO)” ขึ้นภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรองและทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด

มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ของประเทศ ดังนี้

  • ทำหน้าที่ Designated National Authority of Clean Development Mechanism (DNA-CDM) office ของประเทศไทย ตามพันธกรณีพิธีสารเกียวโต

            ซึ่งจะต้องทำหน้าที่วิเคราะห์ กลั่นกรอง โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด Clean Development Mechanism (CDM) และให้ความเห็นแก่คณะกรรมการบริหารองค์การก๊าซเรือนกระจก ว่าโครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานในประเทศไทยควรจะได้รับความเห็นชอบ และออกหนังสือรับรองโครงการ (Letter of Approval : LoA) ให้กับผู้พัฒนาโครงการหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิควิชาการที่จะต้องกลั่นกรอง วิเคราะห์แต่ละโครงการว่าเป็นโครงการที่เป็นไปในหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria : SD Criteria) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ และสังคมที่ประเทศไทยกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การลงทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม แก่ชุมชน ท้องถิ่นที่โครงการตั้งอยู่

2.มีบทบาทเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ ข้อมูล สถานการณ์ ที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศไทย และเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการการจัดการก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนศักยภาพการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกในภาคใดบ้าง

3.ส่งเสริมและพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อ-ขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) ที่ได้รับการรับรอง

รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก (โครงการ CDM) และการบริหารจัดการเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการให้บริการข้อมูลที่ทันสมัยทั้งเรื่องสถานการณ์ สภาวะการตลาด Carbon Market และการเข้าถึงแหล่งทุน (Access to Fund) ที่จะมาลงทุนร่วมทั้งจากภายนอกประเทศและภายในประเทศ

ทั้งหมดนี้คือก้าวย่างที่สำคัญสำหรับประเทศไทยที่อยู่ใกล้ตัวคนไทยทุกคนทุกอาชีพและทุกวงการจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน