เมื่อรัสเซียผนวกดินแดนยูเครน ภาพ WW 2 ก็กลับมาหลอน!

การตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียในการ “ผนวก” 4 ภูมิภาคของยูเครนมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเป็นประเด็นร้อนแรงกว่าที่คาดคิด

มองจากมุมของปูติน นี่คือการ “ปกป้องคนของรัสเซีย” ที่ถูกรัฐบาลยูเครนข่มเหงรังแก

จากมุมของยูเครน นี่คือการ “ฮุบดินแดน” ของตนโดยรัสเซียที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ๋งครึ่ม

นักประวัติศาสตร์บางค่ายเปรียบเทียบเรื่องนี้กับเหตุการณ์ที่เกิดในยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

รัสเซียเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรักษาเสถียรภาพของระเบียบระหว่างประเทศ

แต่มอสโกเข้ายึดดินแดนโดยกองกำลังทหารของเพื่อนบ้าน โดยอ้างว่าเพื่อ “ปกป้องชาติพันธุ์ชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ที่นั่น”

ฟังดูไม่ต่างกับคำกล่าวอ้างของฮิตเลอร์ก่อนจะระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2

ในปี พ.ศ.2481 นาซีเยอรมนีอ้างว่าต้องเข้าไปปกป้องคนที่มีเชื้อสายเยอรมันที่ถูกกดขี่ในเชโกสโลวะเกีย

จึงประกาศส่งทหารเข้าไปเพื่อผนวกดินแดนซูเดเตนแลนด์ที่เป็นเพื่อนบ้าน

แรกเริ่มสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสไม่ต้องการเผชิญหน้ากับเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง จึงพยายามจะใช้วิธีการนิ่มนวลเพื่อน้าวโน้มไม่ให้ฮิตเลอร์ทำอะไรที่ละเมิดกติกาสากล

แต่แล้วเยอรมนีก็บุกโปแลนด์ในปีถัดมา

ในที่สุดโลกก็เข้าสู่สงคราม

วันนี้ปูตินประกาศว่าดินแดนทั้ง 4 ภูมิภาคนี้เป็นแผ่นดินรัสเซีย ดังนั้นใครโจมตีดินแดนเหล่านี้ก็เท่ากับโจมตีรัสเซีย

และรัสเซียจะใช้ทุกวิถีทางในการปกปักรักษาดินแดนเหล่านั้น

และหากจำเป็นก็อาจจะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์!

ความกังวลไม่จบลงแค่นั้น หลังการผนวก 4 ภูมิภาคของยูเครนแล้ว ผู้สังเกตการณ์เริ่มหวั่นเกรงว่าสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันอาจปรากฏขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในขอบเขตอิทธิพลของรัสเซีย อีกจุดหนึ่งคือเซาท์ออสซีเชีย ซึ่งเป็นเขตแบ่งแยกดินแดนของจอร์เจียก็จับตาดูการลงประชามติเพื่อเข้าร่วมรัสเซียอย่างใกล้ชิด

อีกจุดหนึ่งที่เปราะบางเช่นกันคือ ทรานส์นิสเตรียในมอลโดวาตะวันออกที่มีความเคลื่อนไหวแยกตัวในทำนองเดียวกันมาก่อน

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ยืนยันว่า “การผนวกดินแดนของรัฐหนึ่งโดยอีกรัฐหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการคุกคามหรือการใช้กำลัง ถือเป็นการละเมิดหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน”

แต่ปูตินไม่ฟังเสียง ไม่สะทกสะท้านต่อปฏิกิริยาจากประชาคมโลกแต่อย่างไร

ผู้นำรัสเซียบอกว่า ผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคที่ผนวกเข้าด้วยกัน “ได้ลงคะแนนเสียงเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัสเซียและเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันกับเรา”

แต่ประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนประกาศกร้าวว่าเคียฟจะไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อยึดดินแดนคืน

รวมถึงจะต้องทวงคืนแหลมไครเมียที่รัสเซียผนวกไปเมื่อ 8 ปีก่อนอีกด้วย

และยืนยันเสียงแข็งว่าเขาจะไม่ยอมเจรจากับปูตินเป็นอันขาด

“ทุกคนในโลกเข้าใจดีว่าการพยายามของรัสเซียในการผนวกดินแดนของเรานั้นมีหมายความว่าอย่างไร” เซเลนสกีบอกกล่าวกับประชาชนชาวยูเครน

พร้อมกล่าวสำทับว่า “แต่มันจะไม่หมายความอย่างที่เครมลินหวังไว้”

ฝ่ายตะวันตกกระโดดมายืนเคียงข้างยูเครนอย่างเต็มที่อย่างฉับพลันเช่นกัน

“เราจะต้องทำให้แน่ใจว่าปูตินจะต้องแพ้สงครามที่ทำอย่างผิดกติกาสากลเช่นนี้” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ประกาศก้อง

รัฐบาลเยอรมนีเสริมว่า เบอร์ลินจะให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรม เศรษฐกิจ และการทหารแก่ยูเครนต่อไป “จนกว่าบูรณภาพแห่งดินแดนจะกลับคืนมา"

นักวิเคราะห์เคยวิพากษ์สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นว่ามีท่าทีผ่อนปรนกับรัสเซียมากเกินไป หลังจากการผนวกไครเมียในปี 2557 นี่เป็นความล้มเหลวที่พวกเขาไม่สามารถทำซ้ำได้

และนั่นอาจจะทำให้ปูตินได้ใจ คิดว่าถ้าทำอย่างนั้นกับไครเมียเมื่อ 8 ปีก่อนได้ โดยที่โลกตะวันตกไม่ได้ต่อต้านหนักหน่วงนัก ก็สามารถทำซ้ำได้อีก

คำถามจากบางสำนักวิเคราะห์ก็คือว่า รัสเซียประกาศยึดดินแดนทั้ง 4 ได้อย่างไรขณะที่ยังมีการสู้รบกันอยู่

เพราะแม้ปูตินจะลงนามผนวกภูมิภาคโดเนตสก์ ลูฮันสก์ แคร์ซอน และซาปอรีเชีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการแล้วแต่ทหารยูเครนก็ยังอ้างว่าสามารถขับไล่ทหารรัสเซียออกจากบางเมืองในภูมิภาคเหล่านี้ได้

อีกทั้งรัสเซียก็ยอมรับว่ามีการถอยร่นจากเมือง Lyman ในแคว้นโดเนตสก์

มองในแง่ยุทธศาสตร์ในแนวรบ การผนวกภูมิภาคแคร์ซอน และซาปอรีเชีย ทางภาคใต้ของยูเครนอาจช่วยให้รัสเซียสามารถที่ระดมพลใหม่เข้าไปยังแนวรบที่รัสเซียอ้างว่ามีความยาวกว่า 1,000 กม.

อีกด้านหนึ่ง เมื่อผนวกดินแดนเพิ่มแล้ว ปูตินก็อาจจะใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ชาติตะวันตกที่ยังคงส่งอาวุธทันสมัยให้ยูเครนสู้รบกับทหารรัสเซีย

วันนี้ปูตินกำลังบอกตะวันตกว่า หากทหารยูเครนโจมตี 4 ภูมิภาคนี้ก็เท่ากับโจมตีดินแดนของรัสเซียโดยตรง

เข้าข่ายที่รัสเซียจะใช้คำว่า “ยูเครนรุกรานรัสเซีย” ได้

ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนตอบโต้การผนวกดินแดนของรัสเซียด้วยการเร่งกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตแบบ fast track

คือตัดลดขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก

ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่แน่ว่าสมาชิกทั้ง 30 ประเทศจะเห็นพ้องต้องกันว่าจะรับยูเครนเข้ามาได้รวดเร็วอย่างที่เซเลนสกีเรียกร้องต้องการหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า แกนนำของประเทศนาโตได้ออกมาสนับสนุนให้องค์กรเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และยุโรปแห่งนี้ต้องเดินหน้าสกัดรัสเซียในยูเครนให้ได้

หาไม่แล้วก็จะต้องเผชิญกับการที่รัสเซียจะรุกคืบเข้าสู่ดินแดนอื่นๆ ที่เข้าข่ายที่มอสโกสามารถอ้างว่าจะต้อง “ปกป้องคนของเรา” แบบเดียวกับที่ทำกับยูเครนอย่างที่เห็นกันวันนี้

สงครามทำท่าบานปลาย...และโอกาสที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในแนวรบ “แบบจำกัดวง” ก็เพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นอย่างน่าวิตกกังวลกันทีเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex