หากจีนปรับท่าทีทางการทูตให้ลดดีกรีของ “การทูตแบบนักรบหมาป่า” (Wolf Warrior Diplomacy) อย่างที่นักวิเคราะห์บางสำนักกำลังนำเสนอ ก็น่าสนใจว่าปักกิ่งอาจจะกำลังเล่นบท “คนกลาง” ที่จะสร้างบรรยากาศใหม่สำหรับเวทีระหว่างประเทศ
แนววิเคราะห์นี้ไม่ได้หมายความว่า สี จิ้นผิง มีปัญหากับปูติน เพราะจีนกับรัสเซียยังคงรักษาระดับความสัมพันธ์หลักๆ ที่เป็นแกนของทั้งสองประเทศ
และทั้งสองฝ่ายก็รับทราบถึงความสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งความผูกพันที่เป็นอำนาจต่อรองกับโลกตะวันตก แต่การ “reset” ลีลาท่าทางและน้ำเสียงทางการทูตของจีน ขณะที่ สี จิ้นผิง กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำเทอมที่ 3 นั้น มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์ของจีนเอง ที่กำลังประเมินว่าจุดยืนกับผลประโยชน์ของชาติในภาวะความผันผวนของโลกขณะนี้นั้นอยู่ ณ จุดใด
ปักกิ่งคงเฝ้ามองสงครามยูเครนอย่างใกล้ชิดไม่น้อยไปกว่าประเทศตะวันตก
จีนก็คงจะวาด “ฉากทัศน์” ของสงครามเหมือนกับที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งตะวันตกและตะวันออกเฝ้าติดตามอยู่อย่างใกล้ชิด
ความเห็นส่วนตัว (ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม) ของเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของจีนบางคนสะท้อนว่า คนจำนวนหนึ่งรอบ ๆ สี จิ้นผิง ก็มีความไม่สบายใจกับวิธีการทำสงครามของปูติน
หนึ่งในฉากทัศน์ที่จีนมองก็คือ ความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะล้มเหลวในการมีชัยเหนือยูเครน
ซึ่งอาจจะทำให้รัสเซียกลายเป็น "มหาอำนาจรอง" หรือ Minor Power อันหมายถึงการลดชั้นบทบาทและอิทธิพลของรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ
ไม่ว่าจะรักกันเพียงใด จีนก็ไม่อาจจะให้รัสเซียลากตนลงไปสู่ภาวะที่อำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศของปักกิ่งถูกลดทอนลง เพราะการมีส่วนพัวพันกับสงครามที่ยังมองไม่เห็นว่าจะจบลงอย่างไร
นักข่าว Financial Times ที่ไปนั่งคุย “นอกรอบ” กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนบอก จากเจ้าหน้าที่ 5 คนที่รู้เรื่องนี้ ว่ามอสโกไม่ได้แจ้งให้ปักกิ่งทราบถึงความตั้งใจที่จะบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบก่อนที่ปูตินจะสั่งโจมตี
มุมมองเช่นว่านี้ย่อมย้อนแย้งกับถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยจีนและรัสเซียเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ หลังการประชุมระหว่างสีและปูตินในกรุงปักกิ่ง (เพียง 20 วันก่อนที่รัสเซียจะโจมตียูเครน) ว่า "ไม่มีขีดจำกัดสำหรับความร่วมมือจีน-รัสเซีย และไม่มีโซนต้องห้าม”
บทสนทนาระหว่าง สี จิ้นผิง กับปูตินในโอกาสนั้นเป็นเช่นไรไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงไม่อาจจะตีความให้แม่นยำอย่างที่ควรจะเป็นได้
แน่นอนว่าปูตินได้แจ้งกับจีนและประเทศอื่นๆ ว่ามอสโกจำเป็นต้องเปิด “ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน” ก็เพราะนาโตและตะวันตกมีจุดประสงค์จะใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายความมั่นคงของรัสเซีย แต่จีนก็คงจะเข้าใจได้หากปูตินหมายถึงการ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ตรงชายแดนติดกับยูเครน หากทหารยูเครนข้ามเส้นมาก่อเหตุร้ายในดินแดนของตน
แต่ สี จิ้นผิง คงคิดไม่ถึงว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ที่ปูตินกล่าวถึงนั้น คือการบุกครั้งใหญ่เพื่อยึดดินแดนยูเครน จนกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
Financial Times อ้างว่าหนึ่งในหลักฐานที่ตอกย้ำถึงความล้มเหลวของการสื่อสารระหว่างจีนกับรัสเซียในกรณีสงคราม คือการลดตำแหน่งในเดือนมิถุนายนของ Le Yucheng
เขาคือรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญรัสเซียระดับสูงของกระทรวง
เดิมทีเขาได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงทางการของจีนว่า เป็นตัวเต็งในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนต่อไป
แต่วันนี้เขารั้งตำแหน่งรองหัวหน้าสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ
“Le Yucheng ถูกลดระดับอาวุโสลงสองขั้น” ผู้
คุ้นเคยกับประเด็นนี้กล่าว
มีเสียงกระซิบในสภากาแฟรอบๆ กระทรวงว่าที่ต้องตกอันดับก็เพราะ Le Yucheng ต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวด้านข่าวกรองว่าด้วยการบุกยูเครนของรัสเซีย”
เป็นความผิดฐาน “ตกข่าวใหญ่” ว่างั้นเถอะ
เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าปูตินได้บอกกล่าวกับ สี จิ้นผิง เรื่องเปิดสงครามกับยูเครนอย่างไร
แต่นักการทูตจีนที่ต้องการฟื้นฟูสถานะของจีนในยุโรปยืนยันว่า ปักกิ่งไม่รู้ถึงแผนหรือความตั้งใจของมอสโกที่จะเปิดฉากการรุกรานเต็มรูปแบบอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้วอย่างแน่นอน
จึงไม่ต้องแปลกใจกับทิศทางการ “ปรับ” นโยบายต่างประเทศของจีน ให้มาอยู่ในระดับที่ไม่ตกอยู่ในฐานะ “รู้ไม่ทันความผันผวน” อีกครั้งหนึ่ง
น่าเชื่อได้ว่าเป้าหมายของการปรับแก้นโยบายให้ลดความกร้าว และเจาะหาช่องทางที่จะสร้างมิตรหรืออย่างน้อยก็ลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์
มีเป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อลดความรู้สึกโดดเดี่ยวของจีน และป้องกันไม่ให้ยุโรปเข้าใกล้สหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น
หนึ่งในแผนการหลักของปักกิ่งคือ การพยายามสร้างความมั่นใจให้พันธมิตรในยุโรปว่าจีนยินดีที่จะใช้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับมอสโกเพื่อยับยั้งปูตินไม่ให้หันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์
เพราะจีนย่อมรู้ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วไม่มีประเทศไหนอยากจะเห็นหายนะของสงครามนิวเคลียร์แน่
แต่จีนก็คงกลัวเหมือนที่หลายๆ ฝ่ายกลัว นั่นก็คือหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (นั่นคือตะวันตกหรือรัสเซีย) ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอย่างร้ายแรง (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)
จนถึงขั้นที่เปรียบเปรยว่าเป็นการ “เดินละเมอเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์” อันจะเป็นก้าวแรกของการนำไปสู่ “วันสิ้นโลก”
อีกด้านหนึ่งของกลยุทธ์ของปักกิ่งคือ การวางตำแหน่งตัวเองไม่เพียงแต่ในฐานะผู้มีศักยภาพในการเล่นบทเป็นผู้สร้างสันติภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่เต็มใจจะสวมบทเป็นประเทศร่วมฟื้นฟูยูเครนหลังสงครามอีกด้วย สี จิ้นผิง เองพยายามที่จะยกบทบาทของตนที่เป็นฝ่ายสันติภาพ จากถ้อยประโยคที่สนทนากับปูตินก่อนหน้านี้
“หนทางสู่การเจรจาสันติภาพย่อมจะไม่ราบรื่น แต่ตราบใดที่ความพยายามไม่ล้มเลิก โอกาสแห่งสันติภาพก็จะยังคงอยู่”
และเสริมต่อว่า “จีนจะยังคงรักษาจุดยืนที่เป็นกลางและเที่ยงธรรม ทำงานเพื่อรวบรวมประชาคมระหว่างประเทศ และมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการแก้ไขวิกฤตยูเครนอย่างสันติ”
อีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าจีนกำลังพยายามลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อตะวันตกคือ การย้าย “จ้าว ลี่เจียน” ซึ่งเป็นหนึ่งในนักการทูต "นักรบหมาป่า" ที่โดดเด่นที่สุด เขาถูกโยกจากตำแหน่งโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศ ไปเป็น 1 ใน 3 รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเขตแดนและมหาสมุทร ซึ่งเป็นแผนกที่มีบทบาทค่อนข้างคลุมเครือ
จ้าว ลี่เจียน มีผู้ติดตาม 1.9 ล้านคนบน Twitter เขามักใช้สื่อโซเชียลมีเดียตะวันตก (ที่ถูกห้ามในเมืองจีน) โจมตีฝั่งตะวันตกชนิด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ภาพที่เห็นคือจีนพยายาม “ซ่อมแซม” ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจยุโรป
ปักกิ่งยืนยันว่าพันธมิตรในยุโรปจะพยายามสร้างความสนิทชิดใกล้ด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
ต่างจากปักกิ่งกับวอชิงตันที่ยังแย่งชิงอำนาจต่อรองในเรื่องการค้า, การลงทุน และโลกเทคโนโลยีอย่างดุเดือด จีนย่อมตระหนักดีว่าตนไม่ควรจะเป็นปรปักษ์กับหลายประเทศในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและเศรษฐกิจหลัก
จึงน่าสังเกตว่าจีนพยายามอย่างหนักที่จะติดต่อกับสหภาพยุโรปและประเทศสำคัญๆ ในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ตลอดจนพันธมิตรในเอเชียของอเมริกา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น เวียดนามเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์
โดยไม่ใช้หลักคิดแบบเก่าของผู้นำอเมริกาบางคนว่า : ถ้าคุณคบคนที่ผมไม่ชอบ ก็แปลว่าคุณอยู่คนละข้างกับผม ต้องไม่ลืมว่าสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน และปักกิ่ง มีสถานะเกินดุลการค้าจำนวนมากกับกลุ่มประเทศนี้
ในทำนองเดียวกัน บริษัทชั้นนำของยุโรปหลายแห่งติดอันดับนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของจีนด้วย การต้องพึ่งพากันและกันระหว่างจีนกับยุโรปจึงชัดเจนอยู่ในตัว
การเยือนปักกิ่งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาของโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และชาร์ลส์ มิเชล ประธานสภายุโรป ส่งสัญญาณไปในทิศทางนั้น
แต่ในช่วงต้นปีนี้เราจะเห็นการไปเยือนจีนของประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง และนายกรัฐมนตรีอิตาลี จอร์เจีย เมโลนีด้วย
ดังนั้น หากจะมองว่า สี จิ้นผิง กำลังขยับปรับเปลี่ยนแนวทางนโยบายต่างประเทศให้เข้าสู่หลัก “ปฏิบัตินิยม” (Pragmatism) ที่ยึดเอาความเป็นจริงด้านเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของกันและกันมากกว่า “อุดมการณ์ทางการเมือง” หรือ “ความสนิทชิดเชื้อแต่ปางก่อน” ก็ไม่น่าจะผิดจากความเป็นจริงมากนัก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว