นายกฯ มาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม มาเยือนไทยครั้งนี้นอกจากประเด็นในบริบทของอาเซียนแล้วก็ยังมีเรื่องความร่วมมือในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ
ในคำปราศรัยเรื่อง The Future of ASEAN (อนาคตอาเซียน) อันวาร์ให้ความสำคัญของหัวข้อนี้ไม่น้อยเช่นกัน
เขาบอกตอนหนึ่งว่า "จุดยืนของผมคือ ไม่มีการประนีประนอม และจะไม่อดทน (zero tolerance) ต่อการใช้ความรุนแรง"
โดยเน้นที่ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นของเพื่อนมุสลิมในภาคใต้และของรัฐบาล (ไทย) โดยเฉพาะกองทัพไทยที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีสันติ
อันวาร์ชี้ว่าหัวใจของการแก้ปัญหาเป็นเรื่องภายในที่มีผลกระทบกับประเทศไทยล้วนๆ
เขาบอกว่าบางครั้งปัญหาเกิดจากพื้นที่เอง แต่บางครั้งเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบจากส่วนกลางที่อาจจะ “มีปฏิกิริยาสนองกลับที่เกินเลย”
หรือที่อันวาร์เรียกว่า over-reaction
อีกด้านหนึ่งคือข้อกังวลจากมุมมองของชุมชนมุสลิมบางชุมชน ด้านศาสนา วัฒนธรรม และที่สำคัญคือ การ “ขาดความไว้วางใจ” ของชุมชนท้องถิ่นต่อส่วนกลาง
ด้านส่วนกลางก็มีข้อกังวลว่า มีเหตุการปะทะและการขยายตัวของความรุนแรงเป็นครั้งคราว
อันวาร์ยืนยันว่า “แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้”
แต่ต้องเพิ่มความพยายามโน้มน้าวให้เพื่อนทางใต้ให้มากกว่านี้
อันวาร์บอกว่า บางคนก็มีความคุ้นเคยกันส่วนตัวและมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่
แนวทางที่ควรจะต้องทำให้เกิดขึ้นก็คือ การให้เข้าใจประเด็นของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไทยและประเทศไทย
“โดยที่พวกเขายังสามารถปกปักรักษาสิทธิ วัฒนธรรม ศาสนา และภาษาของตนไว้ได้...”
อันวาร์ย้ำว่า โดยปรัชญาส่วนตัวแล้ว เขาพยายามจะสร้างวาทกรรมใหม่ในมาเลเซียด้วยการโน้มน้าวประชาชนทุกกลุ่มในมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒธรรม ว่าต้องยอมรับสิทธิและความเชื่อของพลเมืองทุุกคน
ในขณะที่พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียด้วยเช่นกัน
ว่าแล้วอันวาร์ก็บอกว่า ในฐานะของมิตรที่เหมือนครอบครัว เมื่อเราถูกขอให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกของกระบวนการ เราก็พร้อมจะทำหน้าที่อย่างมีความหมายมากขึ้น
ในแง่ของการมาเยี่ยมประเทศไทยครั้งนี้ อันวาร์ได้พยายามแสดงความเป็นกันเองและความพร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในหลายเรื่อง
ศูนย์ข่าวภาคใต้ของสำนักข่าวอิสราบอกว่า อันวาร์พยายามโปรยยาหอมด้วยการประกาศปฏิเสธความรุนแรง และพร้อมจะจบปัญหาชายแดนใต้ของไทยให้เร็วที่สุด
ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียเองก็มีบทบาทเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ซึ่งได้พูดคุยหาทางยุติความขัดแย้งกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มใหญ่ที่สุด และมีบทบาทสูงสุดในสถานการณ์ความไม่สงบตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
นักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์ชายแดนใต้ และเชี่ยวชาญประเทศมาเลเซียเห็นว่าท่าทีของอันวาร์น่าจับตาตรงที่ต้องการจะแสดงตัวเป็น “คนกลาง” ที่ไม่ได้ยืนข้างทั้งรัฐบาลไทย
ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขีดเส้นใต้คำพูดของอันวาร์ ที่เน้นย้ำเรื่องปฏิเสธความรุนแรง และพร้อมร่วมพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไปพร้อมๆ กับมาเลเซีย
“อันวาร์เองมองเกมค่อนข้างจะขาด เพราะความร่วมมือตรงนี้ เป็นคำพูดที่ถ้าเราตีความหมายกันจริงๆ ก็กำกวมพอสมควร เพราะความรุนแรงไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นความรุนแรงมาจากฝ่ายใด จากฝ่ายผู้ก่อเหตุเอง หรือความรุนแรงที่มาจากรัฐไทย”
"การพูดแบบนี้ผมมองว่า อันวาร์ ต้องการมีพื้นที่ ไม่ใช่แต่เฉพาะฝั่งรัฐไทยเท่านั้น แต่ต้องการจะให้ความร่วมมือหรือพยายามที่จะขยับขึ้นไปมีบทบาทในมุมของกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐด้วยเช่นกัน เพราะถ้าไม่พูดอย่างนี้ หรือว่าถ้าเราตีความหมายของอันวาร์ ว่าช่วยรัฐอย่างเดียว หรือจะสนับสนุนรัฐไทย นั่นหมายความว่าอันวาร์จะอยู่ตรงข้ามกับผู้ก่อเหตุทันที หรือถ้าบอกว่าอยู่ฝั่งผู้ก่อเหตุ ยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย ก็จะอยู่ตรงข้ามกับรัฐไทย"
ศูนย์ข่าวภาคใต้ของสำนักข่าวอิสราอ้าง
ดร.ชัยวัฒน์เสริมว่า
“คำพูดของอันวาร์เป็นคำพูดที่ทำให้เขามีพื้นที่ที่จะไปเจรจากับ 2 ฝ่าย ไม่ปฏิเสธฝั่งไทย เช่นเดียวกันไม่ปฏิเสธผู้ก่อเหตุที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียด้วยเช่นกัน เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่อันวาร์จะแก้ปัญหาโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากคนกลุ่มนั้น และการพูดเช่นนี้เป็นการรักษาพื้นที่กับผู้ก่อเหตุด้วย เพราะความรุนแรงไม่ได้มีความรุนแรงจากฝั่งนั้นอย่างเดียว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐเราเองที่ใช้ในการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน”
แสดงว่าอันวาร์เข้าใจบริบทปัญหาไฟใต้ไม่น้อย
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอันวาร์มีความเข้าใจบริบทการแก้ปัญหา แต่เราไม่สามารถที่จะหันมาทางอันวาร์ได้โดยตรงทั้งหมด เราต้องไม่ลืมว่าอันวาร์เองยังมีปัญหาภายในประเทศที่ยังต้องแก้ไข”
แต่ท้ายที่สุดก็อยู่ที่ความร่วมมือของทุกฝ่าย เพราะต่อให้อันวาร์ร่วมมือเท่าไหร่ แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว ไม่ได้มีแค่บีอาร์เอ็นอย่างเดียว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก
“การที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับข้อตกลง จึงต้องใช้เวลา”
อ.ชัยวัฒน์ยังเสนอว่า ไม่ควรมองปัญหาที่ถูกขีดกรอบเป็นประเด็นความมั่นคงแต่เพียงด้านเดียว
“เราต้องเอาเรื่องผลประโยชน์มิติอื่นๆ ออกจากความขัดแย้งในเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วไม่มองว่าปัญหาเป็นมิติความมั่นคงอย่างเดียว เพราะว่ามันมีความซับซ้อนของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเสพติด การค้ามนุษย์ ของเถื่อน ปัญหาน้ำมันเถื่อน เต็มไปหมดเลย ถ้าแยกปัญหาพวกนั้นออกจากความมั่นคงไม่ได้ เราก็จะแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยแนวคิดความมั่นคง”
“ปัญหาบางอย่างแก้มิติความมั่นคงไม่ได้ มันต้องแก้ด้วยความเข้าใจในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาวัฒนธรรม ความขัดแย้งประวัติศาสตร์บาดแผล ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ก่อเหตุเองใช้สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันในการสร้างพลังในการต่อสู้กับรัฐไทยด้วย”
สำหรับไทยแล้วการมาเยือนไทยของนายกฯ อันวาร์ครั้งนี้จึงมีความหมายในหลายมิติที่ต้องมีการประสานติดตามเพื่อให้ความร่วมมือออกมาเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง
หลังจากที่เป็นข้อตกลงบนกระดาษมากกว่าในภาคปฏิบัติมาหลายปี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว