อาเซียนมองสถานการณ์โลก2023

พฤษภาคม 2023 ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 42 ประเทศอินโดนีเซีย แถลงการณ์หลังประชุมได้สรุปนโยบายต่างประเทศและมุมมองสถานการณ์โลก มีสาระสำคัญพร้อมข้อมูลประกอบดังนี้

นโยบายต่างประเทศอาเซียน:

ประการแรก ย้ำอาเซียนเป็นเอกภาพและเป็นศูนย์กลาง

หมายถึงเมื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ หารือกับประเทศต่างๆ จะยึดหลักอาเซียนเป็นแกนกลาง เป็นผู้กำหนดวาระ นโยบาย และเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือ

ภาพ: CHAIRMAN’S STATEMENT OF THE 42ND ASEAN SUMMIT
เครดิตภาพ: https://asean.org/wp-content/uploads/2023/05/FINAL-Chairmans-Statement-42nd-ASEAN-Summit-1.pdf

โดยเฉพาะเรื่องของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเด็นทะเลจีนใต้ ความมั่นคงภูมิภาคนี้ โดยมุ่งสร้างความไว้วางใจต่อกันผ่านกลไกอาเซียน เช่น ASEAN-Plus One, ASEAN Plus Three (APT), East Asia Summit (EAS), ASEAN Regional Forum (ARF) เป็นเวทีหารือ แสวงหาความร่วมมือ วางสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางที่เปิดกว้าง ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ตั้งอยู่บนกติกา ยึดมั่นกฎหมายระหว่างประเทศ

ประการที่ 2 เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ

เช่น ผู้นำญี่ปุ่น ผู้นำซาอุฯ คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ เป็นกลไกที่ชาติสมาชิก 10 ประเทศหารือกับคู่เจรจาโดยตรงสม่ำเสมอ

ประการที่ 3 การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition)

หวังสร้างความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวทนต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นหัวข้อสำคัญ และจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามระดับโลก และโลกเตรียมตัวรับมือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับความเสี่ยงอื่นๆ ในอีกปีสองปีข้างหน้าสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงจะเป็นความเสี่ยงอันดับ 2 ทั้งน้ำท่วม คลื่นความร้อนสูง ภัยแล้งจะพบถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น การปรับตัวเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อลดความสูญเสีย รัฐควรเพิ่มงบประมาณเพื่อการปรับตัวดังกล่าว ความล่าช้าจะยิ่งเพิ่มต้นทุน

    ประการที่ 4 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

ยืนยันบทบาทของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) เป็นเวทีหารือยุทธศาสตร์รอบด้าน รวมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ อยู่ดีกินดีด้วยกันทั้งภูมิภาคภายใต้การขับเคลื่อนโดยอาเซียน ให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศสันติภาพ มีเสถียรภาพและพัฒนา ด้วยการหารือและร่วมมือกัน

ประการที่ 5 ความสำคัญของ ARF

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) หารือสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปลี่ยนแปลงไป ชาติมหาอำนาจกำลังแข่งขันช่วงชิงอย่างเข้มข้น และน่าจะเข้มข้นยิ่งขึ้นอีก ประเด็นหลังโรคโควิด-19 ระบาด เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ความมั่นคงร่วม มีระบบติดตามความคืบหน้า

ประเด็นภูมิภาคกับระดับโลกที่สำคัญ:

 ความมั่นคง เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคสำคัญยิ่ง ทั้งสมาชิกอาเซียนและประเทศนอกกลุ่ม ใช้อาเซียนกับกลไกอาเซียนเป็นช่องทางนำทุกฝ่ายเข้าหารืออย่างสร้างสรรค์ ร่วมมือกันแข็งขัน มีส่วนช่วยวางสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างครอบคลุม สอดคล้องกับมุมมองแบบอาเซียน

กรณีทะเลจีนใต้ ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ชาติสมาชิกกังวล การอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ทับซ้อน พื้นที่เกิดเหตุตึงเครียด สิ่งแวดล้อมทางทะเลที่เสียหาย ซึ่งสร้างความหวาดระแวงต่อคู่กรณี ส่งผลทั้งภูมิภาค จึงขอให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจไม่ทำกิจกรรมที่ยั่วยุให้ขัดแย้ง ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้นอีก ขอให้หาทางออกด้วยสันติวิธี ยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ฉบับปี 1982 ยึด “แนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้” (Declaration on the conduct of Parties in the South China Sea: DOC)

สาระสำคัญส่วนหนึ่งของข้อตกลง DOC คือ ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์จะต้องไม่เข้าไปครอบครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ สมาชิกอาเซียนที่อ้างกรรมสิทธิ์มองถึงความเป็นไปได้ในการเจรจากับจีนเรื่องการพัฒนาหมู่เกาะร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์

กรณีการเดินเรือ การบินเหนือน่านฟ้าทะเลจีนใต้ จีนอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ซึ่งนานาชาติไม่ยอมรับ และเป็นห่วงว่าการเดินเรือ การบินเหนือน่านฟ้าทะเลจีนใต้ในอนาคตจะไม่เสรี อาเซียนสนับสนุนแนวทางของนานาชาติหวังว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย DOC มีจุดยืนเรื่องพวกนี้

อาเซียนหวังว่าหากทุกชาติยึด DOC จะป้องกันความขัดแย้ง ชาติมหาอำนาจ “ไม่ใช้กำลัง” และหันมาพัฒนาเศรษฐกิจแทน

ร่วมมือกับจีนต่อไป เพื่อความร่วมมือต่างๆ เช่น แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct on South China Sea: COC) ยินดีกับความคิดเร่งเจรจา COC ข้อเสนอเร่งกระบวนการเจรจาให้ได้ข้อสรุป ย้ำเตือนว่าต้องสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์เอื้อการเจรจา ลดความเข้าใจผิด สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้มากขึ้น

แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้มีผลผูกพันให้เหล่าชาติสมาชิกต้องปฏิบัติตาม จัดทำสอดคล้องกับ UNCLOS กฎหมายระหว่างประทศต่างๆ ผ่านมาหลายปีมีความคืบหน้าบ้างแต่ไม่ได้ข้อสรุป ทุกวันนี้จึงใช้ DOC ที่ยึดปฏิบัติโดยสมัครใจ

กรณีคาบสมุทรเกาหลี อาเซียนคาดหวังให้คาบสมุทรเกาหลีมีสันติ มีเสถียรภาพและปลอดนิวเคลียร์ จึงสนับสนุนการหารือแก้ปัญหา การทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปและขีปนาวุธต่างๆ เมื่อไม่นานนี้มีแต่สร้างแรงกดดัน กระทบการสร้างสันติภาพ ขอให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจถึงที่สุด ไม่ยั่วยุและไม่ตอบโต้ ให้หันกลับมาเจรจาอีกครั้ง สร้างสันติภาพถาวรให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ อาเซียนจะปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างแข็งขัน สร้างบรรยากาศสู่การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ยินดีใช้กลไกอาเซียน เช่น ARF เพื่อการเจรจา

สถานการณ์ตะวันออกกลาง หวังให้ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์มีทางออกที่ยุติธรรม ยั่งยืน ครอบคลุมทุกด้าน ขอให้ทั้งสองฝ่ายเข้ากระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ อาเซียนสนับสนุนสิทธิอันชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์สร้างรัฐอธิปไตย (an independent State of Palestine) ยอมรับหลักทวิรัฐ ทั้งปาเลสไตน์กับอิสราเอลอยู่เคียงกันด้วยสันติ ยึดหลักเขตแดนก่อนปี 1967

กรณียูเครน ยึดมั่นอธิปไตยยูเครน การเมืองอิสระ มีบูรณภาพแห่งดินแดน อาเซียนยึดมั่นกฎบัตรสหประชาชาติกับกฎหมายระหว่างประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายหยุดความเป็นปรปักษ์ทันที สร้างบรรยากาศนำสู่สันติภาพ สถานการณ์ตอนนี้ส่งผลเสียต่อพวกเรา ดังนั้นจึงต้องพยายามลดผลกระทบ ให้เศรษฐกิจอาเซียนโตต่อไป

กรณีเมียนมา ยืนยันจุดยืนฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียน (Five-Point Consensus) เพื่อนำสู่สันติภาพถาวร ขอให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งนี้เมียนมาต้องสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์นำสู่การเจรจาระดับชาติ ที่ผ่านมาอาเซียนให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมจำนวนหนึ่ง ขอประณามกลุ่มผู้โจมตีขบวนส่งของบรรเทาทุกข์และจะให้ความช่วยเหลือต่อไป

ในการประชุมรอบนี้เป็นอีกครั้งที่อาเซียนพยายามให้เมียนมามีสันติภาพแม้ยังไม่คืบหน้า เป็นจุดยืนตั้งแต่ต้น ร้องขอให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรงทันที เปิดทางสู่การเจรจา 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่คืบหน้า อาจตีความว่าฝ่ายรัฐบาลทหารไม่แพ้ยังกุมอำนาจไว้ได้ ฝ่ายต่อต้านไม่ถอย การคว่ำบาตรกดดันของประเทศต่างๆ ไม่มีผลเท่าไรนัก ความขัดแย้งดำเนินต่อไป

โดยรวมแล้ว อาเซียนหวังให้ทุกประเทศ ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันโดยสันติ ก้าวข้ามความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนา หยุดการแก่งแย่ง โดยเฉพาะหากนำสู่ความขัดแย้งไร้เสถียรภาพ ไม่แบ่งขั้ว ทั้งนี้จะพยายามส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ยึดมั่นกฎบัตรสหประชาชาติกับกฎหมายระหว่างประเทศ คาดหวังบรรยากาศสร้างสรรค์ส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงร่วม นำสู่ความเจริญรุ่งเรืองอยู่ดีกินดีทั่วทุกคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า

ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป