จับตาก้าวย่างจีนจัดประชุม สุดยอด 5 ชาติเอเชียกลาง

การรุกคืบทางการทูตและการเมืองของจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการสยายอิทธิพลของจีนในภาวะการเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก ที่ควรค่าแก่การศึกษาและวิเคราะห์อย่างมาก

 วันที่ 18-19 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนจัดให้มีการประชุมสุดยอดกับอีก 5 ประเทศในเอเชียกลาง ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์อีกกรณีหนึ่งที่จีนปูพรมแดงให้ผู้นำของ 5 ประเทศในเอเชียกลางที่มีความสำคัญต่อการสยายปีกของจีนในเอเชียกลาง

การประชุมจีน-เอเชียกลางครั้งแรก เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ขยายตัวกว้างขวางขึ้นของจีน ในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองกับประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน

เพื่อต่อต้านสิ่งที่จีนมองว่าเป็นระเบียบโลกที่ครอบงำโดยสหรัฐฯ ซึ่งพยายามควบคุมและสกัดกั้นจีน

แม้สี จิ้นผิง จะมีกิจกรรมสำคัญระหว่างประเทศค่อนข้างจะแน่นในช่วงนี้ แต่ผู้นำปักกิ่งก็ไม่ลืมที่จะเป็นเจ้าภาพการพบปะกับระดับนำของประเทศใกล้บ้านหลายชาติที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์

การกำหนดวันประชุมสุดยอดครั้งนี้ก็เป็นจังหวะที่สอดคล้องกับการประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 ประจำปีที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเริ่มต้นในวันศุกร์

เป็นการรวมตัวกันของผู้นำประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก รวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ

หัวข้อสำคัญสำหรับผู้นำ G7 คือวิธีจัดการกับสิ่งที่สหรัฐฯ อ้างว่าเป็นบทบาทที่คึกคักและกร้าวขึ้นในภูมิภาคนี้

สี จิ้นผิง จึงประกาศอย่างเจาะจงว่า จีนจะช่วยประเทศในเอเชียกลางต่อต้าน “การแทรกแซงจากต่างชาติและการปฏิวัติสี” เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ของสี จิ้นผิง ในการประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลาง ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซีอาน

"เราต้องร่วมกันดำเนินโครงการความมั่นคงระดับโลก ต่อต้านการแทรกแซงโดยกองกำลังภายนอกในกิจการภายในของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอย่างเด็ดเดี่ยว...”

สี เสริมว่า "จีนและประเทศในเอเชียกลางจะรวมตัวกันต่อต้านความพยายามยั่วยุ 'การปฏิวัติสี' และสกัดกั้น 'กองกำลังสามฝ่าย' (ลัทธิสุดโต่ง) และพยายามแก้ไขปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค" สำนักข่าวซินหัวอ้างคำพูดของผู้นำจีน และสำทับว่า

“จีนพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศในเอเชียกลางปรับปรุงขีดความสามารถด้านการบังคับใช้กฎหมาย ความมั่นคง และการป้องกัน”

ไม่ต้องสงสัยว่าสี จิ้นผิง กำลังเดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อเสริมเพิ่มอิทธิพลของจีนในเอเชียกลาง

เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของเขาในฐานะรัฐบุรุษระดับโลก

ผู้นำของ 5 ประเทศจากเอเชียกลางที่มาร่วมประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน

ในสุนทรพจน์เดียวกันนี้ สีเรียกร้องให้จีนและเอเชียกลางกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยอ้างถึงความสัมพันธ์ที่มี “ต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้ง”

การประชุมเป็นเวลา 2 วันยังชี้ให้เห็นถึงความสนใจของจีน ในการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปจากรัสเซีย

มอสโกคือคู่ค้ารายสำคัญและเป็นประเทศที่เสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคนี้ตลอดมา

แต่สงครามของรัสเซียในยูเครนได้บั่นทอนอิทธิพลของมอสโกในเอเชียกลางไม่น้อย

เปิดช่องให้จีนเข้ามาทดแทนในฐานะพี่ใหญ่เพื่อถมช่องว่างนี้

น่าสังเกตว่าจีนพยายามเน้นกลุ่มประเทศและแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อวางตัวเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่ใช่ตะวันตก

เท่ากับเป็นการสร้าง “ระเบียบโลก” อีกรูปแบบหนึ่ง ที่แตกต่างไปจากเดิมที่มีตะวันตกเป็นพระเอกแต่เพียงผู้เดียว

การจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ที่เมืองซีอานก็มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ไม่น้อย

เพราะซีอานเป็นเมืองในภาคกลางของจีน ซึ่งเป็นจุดแวะพักสำคัญของเส้นทางการค้าสมัยโบราณหรือเส้นทางสายไหม ที่เชื่อมโยงจีนกับเอเชียกลางและตะวันออกกลางมานานหลายศตวรรษ

ความสนใจของจีนต่อเอเชียกลาง มีต้นเหตุมาจากความกังวลที่มีมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับความรุนแรง และความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ในภูมิภาคซินเจียงทางตะวันตกไกลของประเทศ

ซินเจียงมีพรมแดนร่วมกับประเทศในเอเชียกลาง

จีนมองว่าหากช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ก็จะเป็นวิธีสร้างเสถียรภาพให้ซินเจียงไปในตัว

จีนลงทุนงบประมาณมโหฬารด้วยวงเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ในการสร้างท่อส่งน้ำมัน ทางหลวง และทางรถไฟ

เพื่อช่วยขนส่งทรัพยากรธรรมชาติสำรองอันอุดมสมบูรณ์ของเอเชียกลางมาสู่จีน

หลายเมืองในจีนต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากเติร์กเมนิสถาน

ขณะที่คาซัคสถานมีแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกนอกตะวันออกกลาง

ในปี 2556 สี จิ้นผิง เลือกคาซัคสถานเป็นสถานที่กล่าวสุนทรพจน์เพื่อประกาศวิสัยทัศน์สำหรับโครงการ Belt and Road Initiative

โครงการ BRI ได้กลายเป็นแผนการที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา

นักวิเคราะห์มองว่า โครงการนี้มีเป้าหมายสุดท้ายก็คือ การดึงดูดประเทศเหล่านี้ให้เข้าใกล้วงโคจรของจีนมากขึ้น       

               ปีที่แล้ว สีไปเยือนอุซเบกิสถานและคาซัคสถาน อันเป็นการออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

แม้จะทุ่มเทไม่น้อย แต่ความสัมพันธ์ก็มิใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไป

เห็นได้จากที่หลายโครงการ Belt and Road ในภูมิภาคนี้เกิดอาการหยุดชะงักหรือพัวพันกับเรื่องอื้อฉาว

ซึ่งรวมถึงการพังลงของโรงไฟฟ้าในปี 2561 ซึ่งทำให้เมืองหลวงส่วนใหญ่ของคีร์กีซสถานไม่มีความร้อนหรือไฟฟ้า

ประชาชนในท้องถิ่นออกมาประท้วง เพราะหวั่นเกรงว่าประเทศของตนกำลังเป็นหนี้บุญคุณจีนมากเกินไป

อีกทั้งยังมีประเด็นละเอียดอ่อนว่าด้วยการกักขังชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียงของจีน

แนวทางการขยายบทบาทของจีนในภูมิภาคนี้ ได้เพิ่มความซับซ้อนให้ความสัมพันธ์ของสี จิ้นผิง กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ วี. ปูติน แห่งรัสเซีย เพราะทั้งสองประเทศมีการแข่งขันสร้างอิทธิพลในย่านนี้อยู่ในที

สงครามยูเครนกับรัสเซีย ทำให้ประเทศเหล่านี้ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมีความวิตกกังวลไม่น้อย เพราะบางประเทศกลัวว่ารัสเซียอาจพยายามยึดสถานที่อื่น ๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต หรือสนับสนุนผู้แบ่งแยกดินแดน

แต่สี จิ้นผิง ก็ไม่ลืมที่จะแสดงจุดยืนของจีนในประเด็นนี้อย่างแจ่มชัด

เขาพูดตอนหนึ่งกับผู้นำ 5 ประเทศเอเชียกลางว่า “อำนาจอธิปไตย ความมั่นคง เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศในเอเชียกลางต้องได้รับการดูแล”

สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ทิ้งย่านนี้เสียเลยทีเดียว

แอนโทนี เจ. บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ  เยือนคาซัคสถานและอุซเบกิสถานในปีนี้เช่นกัน

โดยหวังว่าจะกระตุ้นให้ประเทศในเอเชียกลางต่อต้านการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่รัสเซีย ท่ามกลางการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก

แต่สัจธรรมที่ว่า “รักแท้แพ้ใกล้ชิด” อาจจะถูกนำมาใช้ได้ในกรณีนี้อย่างน่าสนใจยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว