ความเป็นอิสระของสื่อจากนักการเมือง

 

การที่บ้านเรามีกฎหมายห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อ เพราะต้องการรักษาความเป็นอิสระของสื่อจากอิทธิพลเงินทุนของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน ภายใต้ความเป็นอิสระ หากสื่อหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวต่างๆจะมีจุดยืนที่สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง น่าจะถือว่าเป็นเสรีภาพของสื่อนั้น ตราบเท่าที่สื่อทุกสื่อมีอิสระและความเท่าเทียมกันที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองหรือจุดยืนทางการเมืองที่ตนเห็นด้วย และที่สำคัญคือ ต้องมาจากอุดมการณ์ความเชื่อของสื่อนั้นเอง ไม่ใช่เป็นเพราะมีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้น  หรือให้เงินสนับสนุนหรือซื้อพื้นที่โฆษณาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ตัวอย่างที่นักการเมืองเข้าไปมีอิทธิพลต่อสื่อหนังสือพิมพ์คือ กรณีที่ลินคอล์น ประธานาธิบดีอเมริกันผู้โด่งดังและได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง ได้ทำการซื้อหนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันชื่อ “Freie Presse” ที่ตกอยู่ในสถานะลำบากทางการเงิน และให้นายธีโอดอร์ แคนิสเซียส  (Theodore Canisius) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้นทำหนังสือพิมพ์หัวใหม่ขึ้นมาชื่อ Illinois Staats-Anzeiger  และมีการทำสัญญาว่า หนังสือพิมพ์จะต้องออกเป็นรายสัปดาห์และจะต้องสนับสนุนพรรครีพับลิกกัน  และหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี  ลินคอล์นได้ยุติการเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้น และจากการที่นายธีโอดอร์ แคนิสเซียส  ได้ทำหน้าที่รับใช้อย่างจงรักภักดีในการสนับสนุนการเลือกตั้งของเขา  ลินคอล์นจึงได้แต่งตั้งให้เขาไปดำรงตำแหน่งทางการทูตเป็นกงสุลพิเศษประจำกรุงเวียนนา  (Peter Brusoe, “That time George Washington bought an election with 160 gallons of booze (and other Presidents’ Day stories)” February 12, 2016,  Bloomberg Government, https://about.bgov.com/blog/that-time-george-washington-bought-an-election-with-160-gallons-of-booze-and-other-presidents-day-stories/)

และในประเทศอย่างสวีเดน เดิมที หนังสือพิมพ์กับพรรคการเมืองต่างๆมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกัน ในความหมายที่ว่า หนังสือพิมพ์สนับสนุนจุดยืนหรือแนวทางของพรรคการเมือง และพรรคการเมืองก็สนับสนุนหนังสือพิมพ์ ดังนั้น หนังสือพิมพ์สวีเดนจึงมีจุดยืนล้อไปกับพรรคการเมืองต่างๆในสวีเดน เช่น มีหนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม สังคมประชาธิปไตย และที่ออกมาหลังสุดในต้นศตวรรษที่ยี่สิบคือ หนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนสนับสนุนพรรคเกษตรกรที่เป็นพรรคที่จัดตัวเองอยู่ระหว่างกลางของพรรคฝ่ายซ้ายและขวาในการเมืองสวีเดน   

ต่อมา ในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อระบบการแข่งขันกันเองระหว่างหนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันนั้นต้องเผชิญกับระบบการตลาด ที่หนังสือพิมพ์จะอยู่รอดได้ต้องอาศัยการขายพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ทำให้เกิดปัญหาที่หนังสือพิมพ์ไม่สามารถจะรักษาจุดยืนทางการเมืองได้  เมื่อหนังสือพิมพ์แต่ละหัวไม่สามารถรักษาจุดยืนของตนได้ สภาวะความหลากหลายที่เคยมีอยู่นั้นก็ทำท่าจะเหือดหายไป อีกทั้งนักการเมืองหรือพรรคการเมืองสวีเดนก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะทุ่มเงินของตนลงไปกับสื่อด้วย   

ดังนั้น เพื่อที่จะให้หนังสือพิมพ์มีความเป็นอิสระและรักษาจุดยืนทางการเมืองของตนไว้ได้  สวีเดนจึงได้ริเริ่มให้มีระบบกองทุนช่วยเหลือสื่อสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ (press subsidies system) ขึ้นในปี ค.ศ. 1971 เพื่อช่วยให้หนังสือพิมพ์สามารถคงความหลากหลายและอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะปัญหาการตลาดที่ผันผวน ทำให้สวีเดนสามารถรักษาระบบที่หนังสือพิมพ์แต่ละหัวยังสามารถสนับสนุนพรรคการเมืองของตนได้ต่อไป

ปัจจุบัน กองทุนช่วยเหลือหนังสือพิมพ์หรือสื่อของสวีเดนก็ยังคงมีอยู่ แต่พัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น โดยเพิ่มการสนับสนุนช่วยเหลือหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่ด้วยระบบดิจิตอลด้วย นอกเหนือจากการสนับสนุนหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ทางกระดาษ

ในช่วงปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2563) กองทุนช่วยเหลือสื่อมีการจัดสรรให้เงินช่วยเหลือโดยตรงแก่สื่อหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆเป็นจำนวน 102 ล้านยูโร (3,806,904,679.80 บาท)  โดยแบ่งเป็นเงินช่วยเหลือสื่อหนังสือพิมพ์ประมาณร้อยละ 75 และสื่ออื่นๆประมาณร้อยละ 25

หนังสือพิมพ์ที่เข้าเกณฑ์ขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือสื่อจะต้องมีการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งและมีผู้บอกรับเป็นสมาชิกโดยจ่ายค่าสมัครชิกอย่างน้อย 1,500 ฉบับ ซึ่งเกณฑ์นี้ใช้ทั้งกับสื่อที่เป็นกระดาษและดิจิตอล และจำนวนเงินช่วยเหลือที่กองทุนจะให้นั้น จะคำนวณจากยอดการเป็นสมาชิกและความถี่ในการตีพิมพ์เผยแพร่

นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว กองทุนนี้ยังให้เงินช่วยเหลือสื่ออื่นๆ เช่น เวปไซต์ วิทยุและโทรทัศน์ ด้วย

ขณะเดียวกัน เป้าหมายหลักของกองทุนนี้คือ การสนับสนุนหนังสือพิมพ์ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจในการแข่งขันในระบบตลาด นอกจากเงินช่วยเหลือโดยตรงแล้ว ยังมีการช่วยเหลืออื่นๆอีกด้วย เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้หนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ในรูปของกระดาษ การช่วยเหลือและลดค่าส่งในการกระจายหนังสือพิมพ์             

ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า การเป็นเจ้าของกิจการสื่อหนังสือพิมพ์ในสวีเดนเกือบทั้งหมดแทบจะไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสายสัมพันธ์อันใดกับพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ยกเว้นสื่อออนไลน์อิสระเล็กๆเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพรรคการเมือง ส่วนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่มีจำนวนมากขึ้นก็เป็นของมูลนิธิอิสระที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองอยู่บ้าง

นอกจากระบบกองทุนช่วยเหลือสื่อจะช่วยให้สื่อต่างๆในสวีเดนมีความเป็นอิสระแล้ว ตัวนักสื่อสารมวลชนเองก็มีความสำคัญยิ่ง เพราะหากตัวสื่ออยู่ได้โดยอิสระ แต่ตัวคนในสื่อขาดความเป็นมืออาชีพ ก็ยากที่สื่อจะอิสระได้

กล่าวได้ว่า สื่อสารมวลชนสวีเดนมีความเข้มแข็งมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หลังจากที่เริ่มมีการเรียนการสอนวิชาสื่อสารมวลชนขึ้นในสวีเดน  และจะเห็นได้ว่า นักสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทแข็งขัน ส่วนใหญ่จะร่ำเรียนมาทางการสื่อสารมวลชนโดยตรง  มีความเข้าใจในอุดมการณ์ของความเป็นสื่ออย่างแน่วแน่ชัดเจน นั่นคือ คนเป็นสื่อจะต้องทำตัวเหมือนสุนัขเฝ้าระวัง (a watchdog) มีสถานะเป็นฐานันดรที่สามในสังคม 

กลับมาที่บ้านเรา  การมีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ห้ามไม่ให้เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นสื่อนั้น ก็คงยังต้องมีอยู่ต่อไป เพราะถ้าไม่ห้าม ก็จะมีนักการเมืองเข้าไปซื้อกิจการหรือถือหุ้นสื่อและมีอิทธิพลต่อสื่อได้

แต่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ก็ยังมีช่องโหว่อยู่ดี เพราะทุกวันนี้ เราก็รู้ๆกันอยู่ว่า แม้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นสื่อ แต่ญาติใกล้ชิดอย่าง แม่ พี่ น้อง ฯลฯ ก็เข้าไปถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของกิจการอยู่ดี และอย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่า ระบบเครือญาติของเรายังแน่นแฟ้นเข้มแข็งขนาดไหน สายเลือดตัดไม่ขาด ดังนั้น ควรคิดหาทางอย่างอื่นในการทำให้สื่อทุกประเภทปลอดจากการถูกครอบงำทางการเมือง และที่สำคัญคือ คนในสื่อจะต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพพอที่รายงานนำเสนอข้อเท็จจริงและหลากหลายเพื่อความเป็นธรรม หรือความแฟร์ทางการเมือง     

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ประเสริฐ' เผย 'ชลน่าน' ยังกำลังใจดี ไม่น้อยใจ หลังหลุด ครม.เศรษฐา1/1

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย แ

ถอดรหัส 'ปานปรีย์ 2' จุดจบอันใกล้

- 'ปานปรีย์' เข้ากระทรวง กล่าวอำลา ขรก.- มีหลั่งน้ำตา - 'จุดจบ' ในอนาคตอันใกล้รัฐบาล 'เศรษฐา-เพื่อไทย'! (เปลวสีเงิน) - ฉะ ‘ปานปรีย์’ เก่งแค่วิชาการ ไม่มีคุณสมบัตินักการเมือง - ‘เศรษฐา’ เรียก ‘รัฐมนตรีใหม่เพื่อไทย’ เข้าพบ - คปท. ร้องกกต.ส่งศาลรธน.วินิจฉัย ‘พิชิต’ ขาดคุณสมบัตินั่ง รมต. - เอาแล้ว! อดีตคณบดีมธ.ขนผู้สมัคร สว. ยื่นฟ้องศาลฯ ถอนระเบียบ กกต. - 'ธนาธร' เมินกกต.ขู่ ชี้ปลุกระดมเครือข่ายสมัคร สว.ไม่ผิด - วิจารณ์สนั่น! ขน‘แคดเมียม’ ลอตแรก รั่วทั้งกาก ทั้งระบบ! - ‘บิ๊กต่าย’ แจงตั้ง ‘พล.ต.อ.สราวุฒิ’ สอบวินัย ‘บิ๊กโจ๊ก’ เป็นธรรม-เป็นกลาง

'ศิริกัญญา' มอง 'ขุนคลังคนใหม่' ทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องแบ่งเวลามาเป็นเซลส์แมนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่า ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อันที่จริงกรมในกระทรวงก็มีไม่ได้มากคงแบ่งกันดูแลคนละกรมครึ่ง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490