ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อมกราคม 2017 มีสาระสำคัญว่า แต่ไหนแต่ไรมนุษย์ต้องการสันติภาพกับการพัฒนา หลัก Five Principles of Peaceful Coexistence เป็นหลักพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติที่มีอายุกว่า 70 ปี และเป็นหลักการที่ได้จากที่ประชุม Bandung Conference เมื่อกว่า 60 ปีก่อน หลักการนี้เป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ สอดคล้องกับหลักยึดจีนดังนี้
ข้อแรก ต้องการสันติภาพโลก อยู่ร่วมกันฉันมิตร
จีนมีประสบการณ์ขมขื่นเมื่อต่างชาติรุกราน ดังเช่นสงครามฝิ่นเมื่อปี 1840 (1840 Opium War) ด้วยเหตุนี้จีนจะไม่ทำเช่นนี้กับชาติอื่น และเชื่อเสมอว่าสันติภาพกับเสถียรภาพคือหนทางสู่การพัฒนาและการกินดีอยู่ดี
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า การที่จีนพัฒนาจากประเทศยากจนอ่อนแอเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ไม่ใช่ด้วยการรุกรานทางทหารหรือล่าอาณานิคม แต่ด้วยการที่ประชาชนทำงานอย่างหนักและแสวงหาสันติภาพ
ข้อ 2 พัฒนาประเทศร่วมกับนานาชาติ
จีนตระหนักว่าเศรษฐกิจของตนผูกโยงกับเศรษฐกิจโลก จึงสนับสนุนให้เศรษฐกิจนานาชาติเติบโต เพราะจีนจะได้เติบโตด้วย ประชาชนจีนต้องการเช่นนั้น ต้องการทำงานหนักและพัฒนาเติบโตร่วมกับนานาชาติ BRI (Belt and Road initiative) คืออีกตัวอย่างรูปธรรม กว่า 100 ประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว
ข้อ 3 กระชับมิตรภาพความร่วมมือ
ภายใต้หลัก Five Principles of Peaceful Coexistence จีนจะสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่กับสหรัฐ เป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของมหาอำนาจ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (A comprehensive strategic partnership of coordination) กับรัสเซีย ร่วมสร้างสันติ ร่วมพัฒนาประเทศกับอียู
ข้อ 4 ยึดมั่นพหุภาคีนิยม (multilateralism)
เป็นหลักที่รักษาสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนา สอดคล้องกับหลักสหประชาชาติ
ต้นเดือนมิถุนายน 2023 ในงานประชุม IISS Shangri-La Dialogue หรือ International Institute for Strategic Studies นายพลหลี่ ซางฟู (Li Shangfu) สมาชิกสภาแห่งรัฐ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีน ชี้ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจโลกหงอยเหงาเซื่องซึม มีความคิดแบบสงครามเย็น มีความขัดแย้งในภูมิภาค เกิดภัยคุกคามใหม่เรื่องแล้วเรื่องเล่า โลกห่างไกลความสงบ ผู้คนทั่วโลกโหยหาสันติภาพ การพัฒนาและความร่วมมือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอ Global Security Initiative (GSI) ส่งเสริมความร่วมมือสมบูรณ์ครบถ้วน ความมั่นคงยั่งยืน หาแนวทางความร่วมมือใหม่
Global Security Initiative (GSI):
ถ้ายึดหลัก GSI กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เสถียรภาพและการอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนขึ้นอยู่กับการมีความมั่นคงและบริบทเอื้อการพัฒนา ซึ่งไม่ได้มาง่ายๆ ประเทศในภูมิภาคต้องทำหลายอย่าง กำลังเผชิญความท้าทาย ต้องเริ่มจากเลือกอยู่ฝ่ายส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมของประเทศต่างๆ ในย่านนี้ โดย
ประการแรก เคารพซึ่งกันและกันแทนการข่มขู่หรือวางตัวเป็นเจ้า
เป็นความจริงที่ว่า ที่ไหนมีลัทธิความเป็นเจ้า (hegemonism) กับการเมืองเชิงอำนาจ (power politics) ที่นั่นผู้คนจะถูกเข่นฆ่าจากความไร้เสถียรภาพหรือเลวร้ายกว่านั้น จีนเชื่อว่าการเคารพซึ่งกันและกันกับการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมคือกุญแจในการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ จีนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ประเทศต่างๆ ต้องทำตามความต้องการที่บางประเทศกำหนด หรือสร้างความมั่งคั่งบนความสูญเสียของประเทศอื่นๆ บางประเทศตั้งใจแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ชอบคว่ำบาตรผู้อื่นเพียงฝ่ายเดียว (unilateral sanctions) โจมตีด้วยกำลังทหาร ยั่วยุให้คนในประเทศแบ่งขั้วแตกแยกเกิดการปฏิวัติ ก่อสงครามตัวแทนไปทั่ว สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแล้วเดินจากไปเสียดื้อๆ ทิ้งเศษซากไว้ข้างหลัง ต้องไม่ปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกครั้งกับเอเชีย-แปซิฟิก
การเคารพซึ่งกันและกันคือยอมรับการปกครองตนเองของประเทศอื่น และยอมรับสิทธิที่จะเลือกวิถีการพัฒนา ส่วนลัทธิความเป็นเจ้าจะตัดทอนอำนาจการปกครองของประเทศอื่นและสิทธิที่จะเลือกวิถีการพัฒนา
จีนยึดมั่นความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN centrality) และที่พวกเขาปกครองตนเอง จะร่วมมือกับอาเซียนด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน
ประการที่ 2 เป็นธรรมและยุติธรรม (fairness and justice)
ต้องก้าวข้ามกฎแห่งป่า (law of the jungle) ด้วยความเป็นธรรมและยุติธรรม ทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จนหรือรวย ต้องเท่าเทียมกันในประชาคมโลก ประเด็นต่างๆ ต้องใช้การปรึกษาหารือแทนการชี้นิ้วบงการโดยไม่กี่ประเทศ จีนยืนยันที่จะให้โลกยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น ให้สหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง ให้ระเบียบระหว่างประเทศอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ
ยึดแนวทางพหุภาคีนิยม หาความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ตรงข้ามกับบางประเทศที่หยิบใช้กฎหมายระหว่างประเทศบางข้อ พยายามบังคับให้ผู้อื่นใช้กฎที่ตนตั้งเอง พวกนี้พยายามบอกว่าสร้างระเบียบโลกที่ตั้งบนกฎกติกาแต่ไม่เคยบอกว่ากฎกติกาที่ว่าเป็นอย่างไรและใครเป็นคนตั้ง บางประเทศยึดหลัก exceptionalism และถือปฏิบัติสองมาตรฐาน (double standards) ทั้ง exceptionalism กับถือปฏิบัติสองมาตรฐานล้วนใช้สร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้ที่ยอมเดินตามเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น
ประการที่ 3 กำจัดข้อขัดแย้งและการเผชิญหน้าด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน และปรึกษาหารือ
ความเห็นต่างตกลงกันไม่ได้เป็นเรื่องปกติ มี 2 ทางเลือก คือ สร้างความตึงเครียด โหมไฟให้แรงกว่าเดิม กับอีกทางคือ มุ่งหาฉันทามติ ส่งเสริมการเจรจาประนีประนอม ในการจัดการวิกฤตระหว่างประเทศ จีนมุ่งหาสันติภาพ ไม่ว่าทั้งที่ตะวันออกกลาง คาบสมุทรเกาหลีและยูเครน ลดความร้อนแรงของสถานการณ์ทั้งหลาย ต่างจากบางประเทศที่ขยายฐานทัพ ส่งทหารไปตามที่ต่างๆ เร่งขยายการแข่งขันทางอาวุธ ส่งมอบเทคโนโลยีนิวเคลียร์แก่ประเทศที่ยังไม่มีนิวเคลียร์ มักคิดเรื่องสร้างศัตรูหรือการเผชิญหน้า เติมเชื้อไฟให้รุนแรงยิ่งขึ้น
อันที่จริงแล้วเหล่าประเทศในภูมิภาคมีสติปัญญา มีขีดความสามารถที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งความแตกต่าง ข้อพิพาทที่มีอยู่ ท้ายที่สุดแล้วต้องจบลงที่การพูดคุยสื่อสาร ปรองดองและร่วมมือกัน ภูมิภาคจึงจะได้สันติภาพ
ประการที่ 4 เปิดกว้างและรวมทุกประเทศเข้าด้วยกัน (openness and inclusiveness)
ตอนนี้แนวคิดแบบสงครามเย็นกำลังมาแรง สุ่มเสี่ยงเผชิญหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยุทธศาสตร์จีนไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางทหารเพื่อต้านภัยคุกคามที่จินตนาการเอาเองอย่างที่มหาอำนาจบางประเทศทำ
ผลของความพยายามสร้างพันธมิตรทำนองนาโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคือ ประเทศในภูมิภาคตกเป็นตัวประกัน (ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของการเป็นพันธมิตร) เข้าร่วมเกมสร้างความขัดแย้ง การเผชิญหน้า ซึ่งจะยิ่งสร้างความแตกแยก ขยายข้อพิพาท ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าขั้วทางการเมืองไม่สร้างความมั่นคงแท้ มีแต่ยกระดับความขัดแย้ง ทำลายเสถียรภาพภูมิภาค
วันนี้เรื่องที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจำต้องมีคือ การเปิดกว้าง และทุกประเทศร่วมมือกัน ไม่ปล่อยให้ความเป็นไปของภูมิภาคมีเพื่อบางประเทศเท่านั้น ต้องไม่ลืมหายนะจากสงครามโลก 2 ครั้ง และอดีตสงครามเย็น ต้องไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก