ทำไมยุโรปจำต้องมีระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนเอง

มิถุนายน 2023 ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) กล่าวว่า ชาติยุโรปจำต้องติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศของตน เลี่ยงการพึ่งพาสหรัฐ ต้องรู้ว่าถูกคุกคามด้วยอะไร จากนั้นชาวยุโรปจะผลิตสิ่งนั้นและรู้ว่าจะต้องซื้ออะไร ดีกว่าให้ซื้อสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้

แนวคิดยุโรปพึ่งตัวเอง:

พฤศจิกายน 2018 ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่า ยุโรปต้องมีกองทัพที่เป็นของยุโรปจริงๆ เพื่อปกป้องภัยจากรัสเซีย จีน และแม้กระทั่งสหรัฐ ผู้นำฝรั่งเศสเสนอให้จัดตั้งกองทัพยุโรป ลดพึ่งพาความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐเป็น “กองทัพยุโรปจริงๆ”

ภาพ: ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Mamba system
เครดิตภาพ: https://www.aerotime.aero/articles/31066-france-mamba-air-defense-system-romania

ประธานาธิบดีมาครงกล่าวชัดถ้อยชัดคำว่า “ยุโรปจำต้องปกป้องตัวเองได้ดีด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกา” เราต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองและประกันความมั่นคงด้วยตัวเอง ปกป้องอธิปไตยยุโรป ด้วยเหตุนี้จำต้องทบทวนโครงสร้างความมั่นคงและระบบป้องกันประเทศของยุโรปจากอาวุธทุกรูปแบบ

“สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรในประวัติศาสตร์ (historic ally) และยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน ... แต่การเป็นพันธมิตรไม่ได้หมายความว่าเป็นเมืองขึ้น (vassal state)”

พฤศจิกายน 2018 อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เอ่ยถึงการรวมทัพสหภาพยุโรปเช่นกัน ชี้ว่าไม่ใช่เพื่อบั่นทอนแต่เพื่อสนับสนุนนาโต หมดสมัยแล้วที่จะพึ่งพาคนอื่น คนยุโรปต้องดูแลอนาคตด้วยมือของตัวเอง “มีวิสัยทัศน์ว่าวันหนึ่งต้องสร้างกองทัพของยุโรปแท้ๆ”

โพลจาก YouGov เมื่อธันวาคม 2019 คนเยอรมันร้อยละ 55 เห็นว่ายุโรปควรปกป้องตนเองมากกว่าพึ่งกองทัพสหรัฐ ร้อยละ 54 เห็นว่านาโตควรร่วมมือกับรัสเซียมากกว่านี้ ร้อยละ 44 เห็นว่าควรเพิ่มงบกลาโหม

บางแนวคิดชี้ว่า นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยุโรปตะวันตกอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสหรัฐมาโดยตลอด แม้สิ้นสงครามเย็นจวบจนปัจจุบัน ในช่วงสงครามเย็นอธิบายได้ว่ายุโรปกำลังฟื้นตัวหลังเสียหายยับเยินจากสงครามโลก ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองที่รุนแรงกับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นำสู่การเผชิญหน้าด้วยกองทัพมหาศาล อาวุธนิวเคลียร์

หลังสิ้นสหภาพโซเวียต ภัยคุกคามจากค่ายคอมมิวนิสต์หมดไป ยุโรปตะวันตกไม่คิดว่าตัวเองมีภัยคุกคามทางทหารที่ร้ายแรงอีกแล้ว อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของสนธิสัญญานาโตที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ เท่านี้เพียงพอต่อการปกป้องประเทศ

นักวิชาการอย่าง John Laughland ถึงกับใช้คำว่ายุโรปเป็นรัฐภายใต้การอารักขาของอเมริกา (an American protectorate) ยุโรปพึ่งพาสหรัฐไม่เพียงด้านความมั่นคงทางทหารเท่านั้น นโยบายระหว่างประเทศหลายเรื่องยังแอบอิงสหรัฐด้วย

พฤศจิกายน 2019 ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่า “สมองนาโตกำลังตาย” เพราะการตัดสินใจร่วมระหว่างยุโรปกับสหรัฐลดน้อยลง รัฐบาลสหรัฐมักกระทำการตามอำเภอใจ มีผลต่ออนาคตขององค์การนาโต

อันที่จริงแล้วความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นเรื่องปกติ การพึ่งพามหาอำนาจอย่างสหรัฐต้องมีบ้างเป็นของธรรมดา แต่หากถึงกับเป็นรัฐในความอารักขาแล้ว เช่นนี้ควรเรียกว่าสูญเสียอธิปไตยแล้วหรือไม่ หรือสูญเสียบางส่วนไปแล้ว คำถามคือความสูญเสียดังกล่าวให้คุณให้โทษอย่างไร

ภัยคุกคามที่แท้คือไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จริง:

ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของผู้นำฝรั่งเศสหรือเยอรมนีล้วนสะท้อนเรื่องอธิปไตย ความเป็นเอกเทศ ไม่อยากพึ่งพาความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐดังเช่นอดีต เคยมีผู้ตั้งคำถามว่าถ้ายุโรปถูกโจมตี สหรัฐจะเข้าช่วยเหลือจริงไหม ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ ยุโรปต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อนาคตไม่แน่นอน บริบทโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังที่ ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่า ต้องมีกองทัพเพื่อปกป้องอันตรายจากรัสเซีย จีน แม้กระทั่งสหรัฐ

การสร้างกองทัพยุโรปจึงเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว

นักวิเคราะห์เชื่อการที่เยอรมนีกับฝรั่งเศสคิดตั้งกองทัพยุโรปเพราะหวังพ้นอำนาจควบคุมจากสหรัฐ แม้จะบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของนาโตแต่การบังคับบัญชาจะขึ้นตรงต่อยุโรป

พึ่งตัวเองคือพึ่งพี่ใหญ่ยุโรป:

ถ้าเอ่ยถึงการผลิตอาวุธด้วยตัวเองของยุโรป อาวุธชิ้นใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเครื่องบิน รถถัง เรือรบ ขีปนาวุธจะกระจุกตัวอยู่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และสวีเดน ที่ผ่านมามีโครงการร่วมมือบางเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เช่น เครื่องบินรบพานาเวีย ทอร์นาโด (Panavia Tornado) โดยความร่วมมือของเยอรมนี อังกฤษ และอิตาลี เครื่องบินรบยูโรไฟเตอร์ ไต้ฝุ่น (The EURO FIGHTER 2000 (Typhoon)) โดยความร่วมมือของเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และสเปน

หากมีโครงการอื่นน่าจะกระจุกตัวในไม่กี่ประเทศนี้ ดังนั้นหากใช้แนวคิดหลีกเลี่ยงสหรัฐเท่ากับกลับมาอยู่ใต้ยุโรปไม่กี่ประเทศ ต้องยอมรับว่าการผลิตอาวุธหลักชิ้นสำคัญๆ มักอยู่ในประเทศหลักที่มีพลังเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพลังกองทัพระดับสูงเท่านั้น ในกรณียุโรปหลายประเทศผลิตขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศของตนอยู่แล้ว ตามความหมายของผู้นำฝรั่งเศสน่าจะหมายถึงระบบป้องกันไฮเทคขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนมหาศาล ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดเท่าที่พวกยุโรปมี (ไม่พึ่งชาติอื่น)

ประโยคสำคัญที่ผู้นำฝรั่งเศสพูด หากใช้ระบบอาวุธสหรัฐทำให้ยุโรปต้องพึ่งพาประเทศนั้น ทางออกคือยุโรปต้องมีระบบของตนเอง ในทางทหารเป็นที่รู้กันว่าอาวุธหลักชิ้นใหญ่อย่างเครื่องบิน รถถัง ขีปนาวุธเป็นเทคโนโลยีซับซ้อน อะไหล่ต่างๆ มักผลิตเลียนแบบยากหรือทำไม่ได้เลย การซื้อใช้อาวุธประเทศใดเท่ากับต้องซื้ออะไหล่ประเทศผู้ผลิตตลอดไป หาไม่แล้วอาจกลายเป็นเศษเหล็กที่ซื้อมาด้วยราคาสูงลิบแล้วใช้ไม่ได้ รบก็แพ้ บางชิ้นมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการทำงานที่บริษัทแม่เท่านั้นสามารถควบคุมแก้ไข เป็นการ “บังคับ” ไปในตัวว่าจะต้องใช้อย่างไร ขอบเขตอยู่ที่ไหน

ประธานาธิบดีมาครงจึงกล่าวว่า “ความจริงคือยุโรปต้องปกป้องยุโรป”

ถ้าลงรายละเอียดมากขึ้น ฝรั่งเศสในยามนี้มีความสามารถพอสมควร ผลิตระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนชื่อ Mamba system และหวังให้นาโตยุโรปใช้ระบบนี้เป็นมาตรฐาน บางประเทศใช้แล้ว เช่น โรมาเนีย เป็นระบบเดียวของยุโรปที่สามารถต้านขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) สามารถยิงเครื่องบินจากระยะไกล 120 กิโลเมตร และขีปนาวุธทิ้งตัวที่ 30 กิโลเมตร

ในขณะเดียวกัน เยอรมนีมีแผนของตนให้เป็นระบบหลักของยุโรป จึงแข่งขันกันและขับเคี่ยวอย่างรุนแรง เพราะปลายปีนี้ (2023) ยุโรปจะสรุปโครงการ The European Sky Shield ตอนนี้มีผู้เข้าร่วม 17 ประเทศ ฝรั่งเศสยังไม่เข้าร่วม ชี้ว่าโครงการยังไม่ดีพอ ยังต้องใช้ชิ้นส่วนของสหรัฐกับอิสราเอลมาก

แผนเยอรมนีคือยุโรปจะใช้เทคโนโลยีผสมระหว่าง Arrow 3 ของอิสราเอลกับ Patriot ของสหรัฐที่ตอนนี้หลายประเทศใช้อยู่แล้ว รวมทั้งระบบขีปนาวุธของตน (ใช้ร่วม 3 เทคโนโลยีปราศจากของฝรั่งเศส)

น่าคิดว่าแผนเยอรมนียังใช้ระบบของสหรัฐซึ่งใช้กันมากอยู่แล้ว เพียงแค่ผนวกระบบของตนกับอิสราเอลเข้ามา เยอรมนียังได้ประโยชน์โดยยอมเสียส่วนหนึ่งให้สหรัฐกับอิสราเอล ซึ่งน่าจะมีข้อดีที่ชาติยุโรปที่เป็นมิตรพึ่งพาสหรัฐอยู่แล้วจะยอมรับง่ายๆ รับรู้อยู่แล้วว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด สั่งซื้อรวดเร็วไม่ต้องทุ่มทุนวิจัย แต่ยังไม่ใช่ระบบอิสระจากประเทศนอกภูมิภาค

ภายใต้แนวคิดชาติยุโรปจำต้องติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนจึงแฝงด้วยผลประโยชน์หลักของประเทศหลัก ยังถูกครอบงำด้วยอิทธิพลสหรัฐไม่มากก็น้อย น่าติดตามว่าสุดท้ายจะลงเอยเช่นไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า