เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

แต่ยังมีผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ทุกฝ่ายในความขัดแย้งทับซ้อนกันอยู่

กลายเป็น “สงครามสีเทา” ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกองทัพ SAC, ฝ่ายต่อต้านกะเหรี่ยง KNU, KNLA, PDF หรือฝ่าย BGF ที่แปลงร่างมาเป็น KNA วันนี้

รวมไปถึงความเป็นสีเทาของฝ่ายไทยบางกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเมียวดีด้วย

กิจกรรมการผิดกฎหมายในเมียวดีสร้างรายได้มหาศาล

• KK Park ในเมียวดี มองจากฝั่งแม่สอด กิจกรรมกาสิโนและแหล่งบันเทิงยังคึกคักท่ามกลางสงคราม

ประเมินกันว่าเฉพาะส่วนแบ่งประมาณ 30% ของ พ.อ. หม่องชิตตูที่เรียกขานกันว่าเป็น “เจ้าพ่อ” ที่คุมกำลังทหาร BGF (เคยทำงานให้กับกองทัพพม่า) และวันนี้แปรสภาพเป็น KNA นั้นอยู่ที่ประมาณปีละไม่ต่ำว่า 3,500 ล้านบาท

มีทั้งกาสิโน, ยาเสพติด, คอลเซ็นเตอร์ต้มตุ๋น, และธุรกิจใต้ดินทั้งหลายทั้งปวง

ที่โดดเด่นที่สุดใน “ศูนย์บันเทิงครบวงจร” ของเมียวดีคือชเวก๊กโก่และเคเคปาร์ก

ซึ่งเชื่อกันว่ามีการโยงใยมาถึงธุรกิจในแม่สอดและจุดอื่น ๆ ของไทย

ยังไม่นับเจ้าหน้าที่ไทยบางส่วนที่เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผลกฎหมายเหล่านี้อย่างกว้างขวาง

KK Park ตั้งอยู่ในเมียวดีติดกับแม่น้ำเมยบริเวณชายแดนไทย-พม่า เป็นศูนย์กลางอาชญากรรมสำหรับการฉ้อโกงทางไซเบอร์และการค้ามนุษย์ภายในภูมิภาคสามเหลี่ยมทองคำที่ขยายวงกว้างขึ้นตลอดเวลา

แผนที่แสดงจุดที่ตั้งของแหล่งบันเทิงแฝงอาชญกรรม Shwe Kokko กับ KK Park ฝั่งเมียวดี ตรงข้ามแม่สอด

ความซับซ้อนนี้ของเครือข่ายทุนจีนสีเทาที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มุ่งหลอกลวงให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงออนไลน์ รวมถึงโครงการสกุลเงินดิจิทัล

และต้องทนต่อสภาวะที่เลวร้าย เช่น การทรมาน และการกักขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Shwe Kokko ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงก็ตั้งตัวเป็นศูนย์กลางทางอาญาที่คล้ายกัน

มีความเชี่ยวชาญด้านการพนันออนไลน์ การหลอกลวง และการค้ามนุษย์

ศูนย์กลางเหล่านี้สร้างรายได้รวมกันต่อปีเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์หรือไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท

โดยที่กฎหมายบ้านเมืองยื่นมือเข้าไปไม่ได้

เพราะเป็นดินแดนที่รัฐบาลกลางเข้าไม่ถึง มิหนำซ้ำ กองทัพพม่าเองก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสวงหารายได้จากกิจกรรมผิดกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงในเมียวดีด้วย

เพราะเมียวดีเป็น “หม้อข้าวใหญ่” ของทุกฝ่าย

เมืองเล่าก่ายในรัฐฉานที่ติดกับชายแดนจีนก็มีลักษณะเป็นศูนย์อาชญากรรมข้ามชาติเช่นเดียวกับเมียวดี...แม้จะมีขนาดที่เล็กกว่า

รัฐบาลจีนเดินหน้าปราบปรามจุดนั้นอย่างหนัก ถึงกับส่งตำรวจและทหารเข้าปราบและจับผู้กระทำผิด พร้อมกับส่งเหยื่อคนจีนกลับบ้านด้วยตนเอง

เพราะไม่อาจจะทนดูความเน่าเฟะของเมืองติดชายแดนกับตนได้

จีนใช้วิธีระดมพลกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนจีนอย่างลับๆ ซึ่งรวมถึงโกกั้ง (MNDAA) และตะอาง (TNLA)          โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มติดอาวุธว้า (UWSA) ลุยปฏิบัติการต่อต้านศูนย์กลางอาชญากรรมที่เล่าก่าย

ปฏิบัติการนี้ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนจีนไม่เพียงแต่ตีคืนดินแดนเก่าของตนเท่านั้น แต่ยังได้ดินแดนใหม่ทางตอนเหนือ รัฐฉานอีกด้วย

และมิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารลพม่าได้แต่ทำตาปริบ ๆ เพราะจีนมีบารมีเหนือทั้งรัฐบาลทหารและกลุ่มต่อต้าน

จีนอ้างความชอบธรรมที่ส่งกำลังเข้าจัดการกับเล่าก่ายเพราะผลกระทบต่อความมั่นคงของตนตรงชายแดน

และรัฐบาลทหารไม่อาจจะจัดการกับภัยคุกคามนั้นได้

รายงานของ UNODC แห่งสหประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้วว่าด้วยการปลูกฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำเน้นว่าพม่าได้แซงหน้าอัฟกานิสถานในฐานะผู้ผลิตชั้นนำของโลกไปแล้ว

เหตุเพราะความวุ่นวายทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2564 ได้ผลักดันให้ชาวพม่าหันไปปลูกฝิ่น

โดยเฉพาะในเขตสะกาย ใกล้ชายแดนอินเดีย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ การผลิตยาบ้าก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของพม่า, ลาว และไทยเป็นแหล่งกิจกรรมผิดกฎหมาย            มากมายหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นฝิ่นและการผลิตเฮโรอีน

การผลิตและขนย้ายยาบ้าก็มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

แม่น้ำโขงกลายเป็นเส้นทางสำคัญในการลักลอบขนยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายอื่นๆ

อันนำไปสู่การก่ออาชญากรรมในภูมิภาคและกระทบความมั่นคอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้การสู้รบระหว่างฝ่ายต่อต้านกับรัฐบาลในเมียวดีในหลายวันที่ผ่านมาอาจจะสงบลง แต่ก็เป็นเพียง            “ความสงบก่อนพายุใหญ่”

ทุกอย่างอยู่ที่การต่อรองผลประโยชน์ของธุรกิจสีเทาที่โยงใยไปถึงทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ความพยายามของไทยที่เสนอตัวเป็น “คนกลาง” ในการช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าสู่  

กระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพจึงไม่อาจจะพิจารณาเพียงเรื่องการสู้รบในสมรภูมิเท่านั้น

หากแต่ยังต้องเข้าถึงปัญหาของ “ธุรกิจสีเทา” ที่เป็นตัวแปรหลักของการต่อรองของฝ่ายต่าง ๆ ในความขัดแย้ง

โดยที่ฝ่ายไทยจะต้องเริ่มด้วยการจัดการกับเครือข่ายฝั่งไทยที่เกี่ยวข้องกับอาชญกรรมข้ามชาติอย่างจริงจังอันเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนไปสู่ทางออกที่ถาวรและเป็นที่ยอมรับของ “ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด” อย่างจริงจัง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อกัมพูชากับเวียดนามขัดแย้งเรื่อง ‘คลองฟูนันเตโช’ ไทยยืนตรงไหน?

ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามว่าด้วยโครงการสร้างคลอง “ฟูนันเตโช” ในกัมพูชาที่สนับสนุนโดยทุนจีนกำลังทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงไทยต้องจับตาดูเพื่อไม่ให้ลามเป็นความขัดแย้งของภูมิภาค

บทพิสูจน์นายกฯคนใหม่ สิงคโปร์: ฝีมือสำคัญกว่าบารมี

การผลัดใบของผู้นำสิงคโปร์เริ่มแล้วสัปดาห์นี้...เป็นที่จับตาของคนทั้งโลกว่าเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ที่สร้างเศรษฐกิจจาก “โลกที่ 3 สู่โลกที่ 1” นี้จะตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้อย่างไร

หากการเมืองแทรกแซง ธนาคารกลางได้…

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เริ่มเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้เพื่อแสดงจุดยืนว่า “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลางเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ

อนาคตประเทศไทย ที่ยังเต็มไปด้วยอุปสรรค!

พอมองว่ารัฐบาลเศรษฐา 1/1 จะต้องวางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจอย่างไรก็ต้องฟังความเห็นของผู้ที่ช่วยกันคิดว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างจึงจะกระชากประเทศชาติจาก “กับดัก” รายได้ปานกลางที่เราติดอยู่ยาวนาน