การเมืองระอุเศรษฐกิจพัง

โควิด-19 วิกฤตใหญ่ที่คนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยได้เผชิญ สร้างความเสียหายอย่างมากมาย โดยเฉพาะเศรษฐกิจทั่วโลกที่พักพินาศ ต่างก็ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย เงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นจนกลายมาเป็นโจทย์ใหญที่ทุกประเทศต้องเร่งแก้ไข เช่นเดียวกับประเทศไทย นอกจากจะต้องเร่งแก้โจทย์เหล่านี้ให้ได้เร็ววัน แล้วยังต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องการเมืองที่ยังคงเป็นปัจจัยลบกับการเติบโตและฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน ทำให้ภาคเอกชนต่างมีความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย

ซึ่ง เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  หรือ ส.อ.ท. ระบุว่า

การเสนอชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน 10 เดือนนั้น ภาคการเมืองต้องชั่งน้ำหนักว่าเศรษฐกิจไทยจะรับไหวหรือไม่ ไทม์ไลน์ที่ภาคเอกชนเคยประเมินไว้คือเดือนสิงหาคม ต้องจัดตั้งรัฐบาลได้ และเข้ามาทำหน้าที่เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นจุดที่คำนวณความเสี่ยงว่าอยู่ในจุดที่ยังพอรับได้ แต่หากช้าไปมากกว่านั้น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น และยังประเมินไม่ได้ว่าจะสร้างความเสียหายแค่ไหน

เช่นเดียวกับ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า จำเป็นต้องมีรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพื่อจะไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศ และเข้ามาบริหารจัดการเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวขณะนี้ ซึ่งการเสนอให้มีรัฐบาลรักษาการนานถึง 10 เดือน เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ต่างชาติหนีไปลงทุนประเทศอื่น ประเทศจะขาดการลงทุนใหม่จำนวนหลายแสนล้านบาทในช่วง 10 เดือน-1 ปี 

ขณะที่ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KK ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าอาจทำให้เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีปัญหา ยิ่งทำให้ไทยได้รับผลกระทบ และล่าสุดคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ทำให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการอนุญาตให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย แม้ว่าจะมีจำนวนผู้เข้ามาลงทุน แต่จำนวนเม็ดเงินกลับน้อยลงถึง 30%

นอกจากนี้ ฝ่ายยุทธศาสตร์ของประเทศอย่าง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดยเลขาธิการ ดนุชา พิชยนันท์ มองว่า การที่รัฐบาลรักษาการยาวนานออกไปจะกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการจัดทำงบประมาณ และการทำงบประมาณการลงทุนที่ไม่สามารถทำได้ในส่วนที่เป็นงบลงทุนใหม่ หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไปกว่า 10 เดือน ถือว่าเป็นสมมุติฐานที่ยาวนานที่สุด ก็จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณถึง 3 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 67-69 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะปกติการจัดทำงบประมาณจะล่าช้าไปไม่กี่เดือนเท่านั้น

โดยสภาพัฒน์ประเมินวงเงินที่จะลงไปในระบบเศรษฐกิจเฉพาะ 2 ไตรมาสหลังจากที่หมดปีงบประมาณ 66 คาดจะเป็นช่วงที่มีเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ใช้งบประมาณไปพลางก่อนประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินจากภาครัฐ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบประจำ และงบลงทุนที่มีการผูกพันไว้แล้ว ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทเป็นเม็ดเงินที่มาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากการจัดทำงบประมาณล่าช้าออกไป ก็ต้องไปดูว่าจะมีเม็ดเงินจากรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนได้เพิ่มหรือไม่ ส่วนเม็ดเงินการลงทุนจากภาครัฐที่เป็นรายการใหม่นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะต้องมาจากรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

ยังไม่รวมผลกระทบต่อกรอบการเจรจาบนเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ หรือ FTA ต่างๆ เพราะถ้ามีการเจรจาแล้วก็ยังไม่สามารถที่จะลงนามในสัญญาในช่วงของการเป็น ครม.รักษาการได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือกระทบกับการค้า การลงทุนของประเทศแน่นอน

จะเห็นว่าเสียงสะท้อนของหลายฝ่ายที่แสดงถึงความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่แน่นอน จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนจากต่างชาติ รวมไปถึงตลาดหุ้นที่ต่างชาติต่างเทขายกันเป็นว่าเล่น ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แม้จะมีการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน แต่เมื่ออุณหภูมิการเมืองที่ร้อนแรงและไม่มีความชัดเจนเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจเข้าไปอีก

ดังนั้นถ้าถอยกันคนละก้าว มองภาพรวมของประเทศและความเป็นอยู่ของประเทศจะดีกว่าไหม.

 

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติมีแต่เสียกับเสีย

ปมความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ โดยจุดเริ่มต้นต้องเรียกว่าชนวนเหตุนั้น มาจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

นโยบายขายฝัน

ไม่นานเกินรอ ได้ใช้แน่รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสีก็ 20 บาท ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้น รมว.คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศลั่นว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด