แผนรัฐบาลเศรษฐาเรื่อง Reskill-Upskill อยู่ไหน?

วันก่อนเขียนถึงนโยบายรัฐบาลสิงคโปร์ที่ให้เงินอุดหนุนคนวัย 40 ขึ้นกลับไปเรียนทักษะใหม่เพื่อปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในยุค AI

วันต่อมาได้อ่านข่าวว่าแรงงานไทยยังไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่พึงประสงค์ตามแผนที่วางเอาไว้

เป็น “วิกฤต” อีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แม้จะได้ยินรัฐบาลเศรษฐาพูดถึงเรื่อง Reskill, Upskill และ New Skill บ้างแต่ก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปเป็นร่างจริงจัง

ต้นสัปดาห์นี้คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2566 ว่า

สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 และภาพรวม ปี 2566 มีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

มีตัวเลขแสดงว่าชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น

การว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมภาวะการมีงานทำและว่างงานของประเทศไทยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 

ขณะเดียวกันอัตราว่างงานไทยเหลือไม่ถึง 1%

โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7%

ภาคเกษตรขยายตัว 1%  ส่วนการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2%

มีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน รวมทั้งลดลงทุกระดับการศึกษา

สำหรับภาพรวมปี 2566 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.68% เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่การว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.98%

ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.6 และ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ที่ลดลง 23.6% และ 6.8% ตามลำดับ

ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนอยู่ที่ 14,095 เพิ่มขึ้น 0.9% ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาพรวมอยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลง 0.2%

แต่มีปัญหาอุตสาหกรรมใช้แรงงานไร้ฝีมือพุ่งขึ้นอย่างน่ากังวล

ทั้งนี้ในประเด็นของแรงงานไทย สศช.ยังคงให้ความสำคัญกับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต

โครงสร้างการจ้างงานของอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2565 ยังเน้นแรงงานไม่มีฝีมือ มีสัดส่วนถึง 43.6% เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560 

สะท้อนปัญหาเรื่องของโครงสร้างการผลิตของไทยที่ยังไม่สามารถยกระดับการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย

และสถานประกอบการจำนวนมากต้องการเพียงแรงงานทักษะพื้นฐานเท่านั้น

ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

‘สภาพัฒน์’  จึงแนะว่าจะต้องเร่ง ‘อัพสกิล-รีสกิล’  เพราะพบว่าอุตสาหกรรมใช้แรงงานไร้ฝีมือสูง 43.6%

“แรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรมของเราที่มีอยู่มาก เป็นตัวชี้วัดเรื่องของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศไทยที่ยังไม่สำเร็จมากนัก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของเราอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งในส่วนนี้ก็จะกระทบกับการผลิตในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไขทั้งการเพิ่มทักษะแรงงานและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในขั้นตอนการผลิตให้มากขึ้น”นายดนุชา กล่าว

ที่สำคัญคือจะต้องเพิ่มทักษะแรงงานเรียนรู้ AI

ที่ต้องหาทางแก้เป็นพิเศษและเร่งด่วนคือปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส.

ระดับดังกล่าวมีผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ

รวมทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน

จึงจำเป็นต้องมีการอัพสกิล และรีสกิล ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับแรงงานในตลาด

นั่นแปลว่าจะต้องผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้อง

นั่นหมายความว่าในส่วนนี้ต้องมีหลักสูตรที่เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะในระยะสั้นอาจเป็นระยะเวลา 3 – 4 เดือนเพื่อให้แรงงานมีทักษะมากขึ้น

ก้าวต่อไปคือการขึ้นค่าแรงตามทักษะแรงงาน

สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศภายในเดือนเมษายนนี้ เลขาธิการ สศช.เชื่อว่าแนวทางในการขึ้นค่าแรงที่เหมาะสมคือการขึ้นค่าแรงตามทักษะวิชาชีพ

ควบคู่กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางพื้นที่ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มในจังหวัดนั้นๆ

ลักษณะแบบนี้ผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวและสามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้

แต่ก็ต้องมีการเน้นในเรื่องของการเพิ่มทักษะแรงงานของไทยอย่างเป็นระบบ

ทั้งการสร้างแรงงานที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการในอนาคตตั้งแต่ในสถานศึกษา

ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบที่จะพัฒนาทักษะแรงงานที่ทำงานแล้วให้สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

มาถึงวันนี้ เราไม่ได้รับทราบว่านโยบาย “เรือธง” เรื่องหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้คือ One Family One Soft Power (OFOS)

ซึ่งเคยประกาศว่าจะให้ 20 ล้านครัวเรือนสร้าง soft power 20 ล้านชุด

ส่วนเนื้อหาของโครงการเท่าที่เคยได้รับทราบคือการให้มี “ศูนย์ฝึกอาชีพ” ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อยกระดับทักษะ

ไม่ใช่เรื่อง Soft Power อะไรมากมายนัก

แต่แม้หากจะเป็นการ “ฝึกอาชีพ” ในลักษณะของการ Upskill, Reskill ก็ยังอาจจะพอมีความหวังว่าจะยกระดับทักษะของคนไทยอย่างเป็นระบบบ้าง

ถึงวันนี้ ทุกอย่างของโครงการนี้ยังเงียบงันอยู่

อาจจะรองบประมาณปี 2566 ออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่หากเป็นโครงการจริง ๆ จัง ๆ ก็ควรจะต้องมีการรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนได้รับทราบกันบ้างแล้ว

ถึงวันนี้ยังลอยอยู่กลางอากาศ

ขณะที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “วิกฤต” เกือบทุกวัน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น