ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าโอกาสใช้อาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดในช่วง 2-3 ปีนี้มาจากสงครามยูเครน รัฐบาลรัสเซียเคลื่อนไหวกองกำลังนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง ฝ่ายตะวันตกเสนอข่าวโอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์ แม้ฝ่ายนาโตพยายามชี้ว่าไม่คิดทำสงครามล้างโลก

2022 ปีเริ่มสงครามยูเครน CIA เตือนรัฐบาลไบเดนว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapon) 50% หรือมากกว่านี้ ถ้ากองทัพพ่ายแพ้หรือไครเมียโดนยึดคืน ไบเดนกล่าวว่า ผู้นำรัสเซียจริงจังกับเรื่องนี้ อาจใช้นิวเคลียร์ทางยุทธวิธีหรือ WMD อื่นๆ

ภาพ: เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ Tu-160

เครดิตภาพ: https://russiancouncil.ru/en/analytics-and-comments/analytics/don-t-trust-and-don-t-verify-new-normality-for-new-start/

นายพล Mark Milley อดีตคณะเสนาธิการร่วม (Joint Chiefs of Staff) เตือนว่า ยิ่งยูเครนเป็นฝ่ายได้เปรียบ ยิ่งกดดันให้ปูตินใช้นิวเคลียร์

ในทำนองเดียวกัน มกราคม 2024 นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์โลกชี้ว่าโลกเข้าใกล้วันโลกาวินาศ การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ สงครามยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประเมินวันโลกาวินาศในระยะนี้ คิดว่าประธานาธิบดีปูตินกล้ากดปุ่มนิวเคลียร์

อาวุธนิวเคลียร์เป็นอีกข้อที่ชี้ว่าเซเลนสกียูเครนไม่มีวันชนะสงคราม เพราะรัสเซียจะใช้นิวเคลียร์เมื่อคิดว่าตนกำลังจะแพ้ มหาอำนาจนิวเคลียร์ต่างมีแนวคิดเช่นนี้

รัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าเสี่ยงสิ้นชาติ:

มีนาคม 2018 ประธานาธิบดีปูตินประกาศจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นมาตรการตอบโต้เท่านั้น คือเมื่อโดนโจมตีด้วยนิวเคลียร์ แม้ทำให้กลายเป็นสงครามล้างโลก เพราะต้องตอบคำถามว่าทำไมจึงปล่อยให้กลายเป็นโลกที่ปราศจากรัสเซีย

เป็นแนวคิดป้องปรามด้วยนิวเคลียร์โดยแท้

มีนาคม 2024 ท่ามกลางสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อและทำท่ารบต่อปีนี้ ปูตินย้ำอีกครั้งว่ารัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าประเทศตกอยู่ในความเป็นความตาย เสี่ยงสิ้นชาติ แต่ตอนนี้ไม่มีเหตุให้ใช้นิวเคลียร์ ส่วนเหตุที่ต้องสะสมอาวุธจำนวนมากเพื่อต้านภัยจากนาโต

จะเห็นว่าจุดยืนการใช้นิวเคลียร์รัสเซียยังเหมือนเดิม คือใช้เพื่อป้องกันประเทศหากตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง เสี่ยงสิ้นชาติ ตรงกับที่ตะวันตกบอกว่ารัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์หากกำลังจะแพ้

หลักฐานการแสดงออก:

ลำพังคำพูดเพียงอย่างเดียวจะดูไร้น้ำหนักและทำให้คิดว่าไม่จริง มีตัวอย่างการเคลื่อนไหวที่ชี้ว่ารัฐบาลปูตินเตรียมทำสงครามนิวเคลียร์

ตั้งแต่สงครามยูเครนยังไม่เริ่ม ช่วงที่รัฐบาลปูตินเตือนว่ากำลังจะบุกเข้ายูเครน นอกจากการซ้อมรบครั้งแล้วครั้งเล่าใกล้ชายแดนยูเครนแล้ว ยังซ้อมรบทำสงครามนิวเคลียร์เต็มระบบ แสดงให้เห็นว่าอยู่ในสภาพพร้อมยิงนิวเคลียร์

2-3 ปีนี้รัสเซียซ้อมรบกองกำลังนิวเคลียร์สม่ำเสมอ แสดงถึงการเตรียมความพร้อมต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังปรากฏข่าวประจำการเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ เรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ๆ

ล่าสุด กุมภาพันธ์ 2024 รัฐบาลรัสเซียอัปเดตความก้าวหน้ากับความพร้อมต่อสงครามนิวเคลียร์ว่า 95% ของอาวุธนิวเคลียร์ที่ประจำการอยู่ในขณะนี้เป็นอาวุธรุ่นใหม่ เหลืออีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่รอปรับเปลี่ยน การปรับปรุงทั้งหมดกระทำในทุกระบบ ทั้งเรือดำน้ำ เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ Tu-160M ขีปนาวุธรุ่นใหม่ล่าสุดจากฐานยิงบนบก

อีกประเด็นที่ควรเอ่ยถึงคือ กุมภาพันธ์ 2023 ประธานาธิบดีปูตินประกาศระงับ (suspension) ข้อตกลงจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ New START ด้วยเหตุผลว่ารัสเซียขอตรวจสอบให้มั่นใจว่าปลอดภัยไม่ถูกคุกคามเหมือนอย่างเช่นตอนนี้ ระบบอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐไม่เป็นภัยคุกคามต่อตน ผลคือนับจากนี้รัสเซียอาจเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์ไม่จำกัด ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเข้าตรวจสอบ ไม่จำต้องรายงานอาวุธที่ถือครอง อีกทั้งอาจมีผลต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT) สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT)

ศึกยูเครนน่าจะเป็นอีกปัจจัยทำให้รัสเซียระงับ New START

นิวเคลียร์นาโต:

ถ้ารัสเซียใช้นิวเคลียร์ในยูเครน กองทัพยูเครนเพลี่ยงพล้ำ คำถามตามมาคือนาโตยังจะช่วยยูเครนรบรัสเซียต่อหรือไม่ จะโต้กลับด้วยนิวเคลียร์ไหม หลายคนกังวลว่าจะกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก

ถ้ามองแบบนาโต โอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์นับวันจะมากขึ้น เนื่องจากมองว่ากองทัพรัสเซียไม่หยุดที่ยูเครน อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะรุกรานประเทศอื่นๆ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเตือนว่าถ้ายูเครนแพ้ เขา “เชื่ออย่างยิ่ง” ว่านาโตจะได้รบกับรัสเซีย เป้าหมายต่อไปของรัสเซียคือประเทศในแถบบอลติก (Baltic states-เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย) ทำให้ฝ่ายอำนาจนิยมฮึกเหิม เพราะฝ่ายประชาธิปไตยเลิกสนับสนุนยูเครน

คำเตือนของรัฐมนตรีออสตินย้ำ สงครามยูเครนคือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ที่ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้ไม่ได้ สงครามดำเนินต่อไป

ข่าวรัสเซียบุกยุโรปมีต่อเนื่อง อีกตัวอย่างคือแนวคิดเป้าหมายถัดจากยูเครนคือโปแลนด์ ด้วยเหตุผลว่าโปแลนด์เป็นแหล่งรองรับผู้ลี้ภัยยูเครนมากสุด (บางช่วงสูงถึง 8 ล้านคน) เป็นจุดพักอาวุธของประเทศต่างๆ ก่อนส่งเข้ายูเครน เป็นที่ฝึกทหารยูเครนจำนวนมาก มีพรมแดนติดต่อกับรัสเซียถึง 535 กิโลเมตร

โปแลนด์จึงอยู่เฉยไม่ได้ต้องเตรียมทำสงคราม ทางเดียวที่หยุดรัสเซียได้คือยูเครนเป็นฝ่ายชนะ Paweł Jabłoński รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมจึงกล่าวว่าต้องสนับสนุนยูเครน สงครามจะไม่จบที่ยูเครน รัสเซียมีเป้าหมายมากกว่านั้น หวังว่าเยอรมนีจะแสดงบทบาทต่อต้านรัสเซีย แต่ถ้าไม่ โปแลนด์จะทำหน้าที่นี้เอง ต้องทำให้นาโตเข้มแข็งกว่านี้

เรื่องนี้อาจเป็นเหตุให้มีกระแสข่าวสหรัฐคิดติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป รัฐบาลฟินแลนด์กล่าวว่าอาจติดตั้งขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐเพื่อป้องปรามรัสเซีย ด้านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียประกาศอาจโจมตีด้วยนิวเคลียร์ถ้าสหรัฐติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป เป้าหมายโจมตีคือฐานที่ตั้งนิวเคลียร์เหล่านั้น “เป็นเป้าหมายที่สมควร” (legitimate targets) จากข่าวฟินแลนด์ดังกล่าว

ทุกวันนี้หลายประเทศในยุโรปประจำการอาวุธนิวเคลียร์แต่เป็นชนิดลูกระเบิด ยกเว้นฝรั่งเศสที่มีขีปนาวุธนิวเคลียร์มานานแล้ว ฟินแลนด์คิดเป็นประเทศใหม่ที่ประจำการขีปนาวุธหัวรบติดนิวเคลียร์อย่างเปิดเผย

การติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในฟินแลนด์เทียบเคียงได้กับความกังวลที่ยูเครนจะติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์หลังเป็นสมาชิกนาโต และเทียบเคียงได้กับวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) 1962 สหภาพโซเวียตอยู่ระหว่างการติดตั้งและขนส่งขีปนาวุธเข้าไปในคิวบาหลากหลายชนิด ทั้งขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ทั้งแบบพิสัยกลางและพิสัยไกล

ตอนนั้นรัฐบาลสหรัฐยืนกรานให้รัสเซียถอนกลับไป ไม่เช่นนั้นทำสงครามนิวเคลียร์แน่นอน เป็นช่วงตึงเครียดที่สุดของสงครามเย็น รอบนี้เป็นฝ่ายสหรัฐที่คิดติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ใกล้ชายแดนรัสเซีย รัฐบาลปูตินประกาศพร้อมทำสงครามนิวเคลียร์ทันที

ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางข้างต้น ศึกยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้เพราะนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ (จุดยืนนาโตตั้งแต่ต้นคือไม่รบกับรัสเซียโดยตรงเพราะเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์) ไม่กล้าช่วยยูเครนด้วยนิวเคลียร์ทั้งๆ ที่ยูเครนยอมให้ประเทศพังพินาศ ประชาชนล้มตายมากมายเพื่อปกป้องประชาธิปไตยตะวันตก นาโตไม่ยอมหายนะพร้อมกับยูเครน

ในภาพที่กว้างขึ้น หากมองว่าเป็นศึกระหว่างนาโตกับรัสเซีย หลายปีนี้รัฐบาลปูตินแสดงท่าทีซ้ำๆ ว่าพร้อมทำสงครามนิวเคลียร์ ไม่ยอมโดนโจมตีฝ่ายเดียวแต่จะเป็นหายนะร่วมกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า